งานนี้ผู้ใช้มือถือทั่วประเทศก็คงส่ายหน้ากันเป็นแถบเมื่อมีรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังสรุปการจัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม โดยล่าสุดกรมกรมสรรพสามิตได้เข้าหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อทบทวนพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมใหม่

ก่อนหน้านี้ บ้านเราก็เคยมีการเก็บภาษีโทรศัพท์มือถือมาแล้วในช่วงกุมภาพันธ์ 2546-สิงหาคม 2549 ด้วยอัตราเก็บภาษีมือถือที่ 10% และโทรศัพท์พื้นฐาน 2% ก่อนที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เข้ามารักษาการชั่วคราวเวลานั้นมีมติให้ยกเว้นการเก็บภาษี (แต่ไม่ได้ยกเลิก) เนื่องจากประเมินว่าเมื่อสัมปทานโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์พื้นฐานสิ้นสุดลงในปี 2556 นั้นอาจทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกลับมาจัดเก็บภาษีอีกครั้งในอนาคต

สำหรับสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องทำการเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมนั้นเนื่องจาก การที่สัมปทานโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์พื้นฐานได้ทยอยสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2556 และทยอยเข้าสู่ระบบออกใบอนุญาตนับตั้งแต่การประมูล 3 จี คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อปลายปี 2555 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการได้สัมปทานราว 20,000 ล้านบาทต่อปีไปให้ผู้ให้บริการเครือข่ายนั่นเอง ขณะที่มติของ กสทช. ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 0.25-1.5% ของรายได้ หรือค่าธรรมเนียมหมายเลขโทรศัพท์เดือนละ 2 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยรายได้เข้ารัฐต่อปีรวมแล้วถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ผู้ให้บริการเครือข่ายในไทยมีรายได้รวมกันราว 200,000-300,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตยังไม่ได้หารือกับไอซีทีในเรื่องดังกล่าว แต่หากเป็นนโยบายของรัฐบาล กรมสรรพสามิตก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็มีความพยายามที่จะทบทวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก แต่เนื่องจากกระแสคัดค้านจากนักวิชาการและลูกค้าทั่วไป เนื่องจากเกรงว่าจะถูกผลักภาระค่าบริการเพิ่ม ทำให้กรมสรรพสามิต ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารืออย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้รัฐบาลประสบปัญหาภาวะการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา จึงจำเป็นต้องนำเรื่องภาษีโทรคมนาคมมาหารืออีกครั้งนั่นเอง

 

ที่มา : Thairath