คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีมติให้ผู้ประกอบการแพร่ภาพและเสียงในรูปแบบออนไลน์ TV on Demand หรือบริการ Over The Top (OTT) จะต้องมาทำการจดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT เพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการ

พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top จัดให้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือน/รายปี ในวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้ประกอบการ OTT ก็ได้แจ้งให้ทาง กสทช. ดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ให้บริการที่ถูกกฎหมาย

  • ช่วยควบคุม ดูแลการให้บริการเนื้อหาที่ไม่ถูกกฎหมายและละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแพร่หลาย รวมไปถึงผู้ที่ลงโฆษณาในเนื้อหาที่เผยแพร่ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
  • สนับสนุนให้มีการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมและเป็นสากลโดยเฉพาะระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงเนื้อหาของผู้ใช้งานที่ที่สร้างขึ้นเอง เช่นการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย หรือการถ่ายทอดสดภาพโป๊ เปลือย อนาจาร เป็นต้น เพราะเนื้อหาประเภทนี้ไม่ได้มีการคัดกรองก่อนนำเสนอและมีโอกาสเผยแพร่ไปในวงกว้างสูง ซึ่งจะเป็นภัยต่อเด็กและเยาวชนได้
  • เสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ เพราะหากล่าช้า เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพื่อให้อุตสาหกรรม OTT ปราศจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และเป็นทางเลือกของประชาชน

โดยผู้ให้บริการในประเทศไทยที่ได้เดินทางไปร่วมประชุมกว่า 11 ราย ได้แก่ ได้แก่ True Visions Anywhere, AIS Play, Primetime, Doonee, Monomaxxx, Viu, Line TV และ Kapook.com ก็ได้ให้ความร่วมมือกับทาง กสทช. เป็นอย่างดีในการจดทะเบียนบริการ OTT แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการต่างประเทศเช่น Facebook, YouTube ก็ยังไม่ได้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการแต่อย่างใด แต่ทาง Netflix ก็ได้ติดต่อขอพูดคุยในเดือน กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช. ก็ได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ให้บริการ OTT สามารถส่งหนังสือมาแจ้งเป็นผู้บริการได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 โดยผู้ที่ไม่ได้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT ตามเวลาที่กำหนดจะถือว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายที่ทาง กสทช. ดูแล ซึ่งจดทะเบียนครั้งนี้ ทาง กสทช. ได้ยกเว้นการไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายได้ ไม่บังคับใช้หลักเกณฑ์ Must Carry Must Have รวมทั้งไม่ต้องจัดผังรายการแต่อย่างใด

Must Carry Must Have
คือการรับประกันว่าไม่ว่าประชาชนจะใช้เทคโนโลยีใดๆ ในการรับชม จะสามารถรับชมบริการได้ อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง

ในส่วนผู้ที่ไม่ได้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ จะถือว่าไม่มีตัวตนในระบบกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเริ่มมีรายละเอียดด้านกฎหมายออกมากำกับอีกครั้งสำหรับกลุ่มที่ไม่ได้แจ้งเป็นผู้ให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามทาง กสทช. ก็ไม่ได้มีแนวคิดให้ผู้ที่ไม่ได้มาแจ้งให้หยุดบริการแต่อย่างใด แต่การประกอบธุรกิจในไทยจะลำบากขึ้นเพราะการให้บริการและการทำธุรกิจใช้กฎหมายดูแลต่างกัน

สรุปคือการลงทะเบียนในครั้งนี้ทาง กสทช. ต้องการควบคุมให้ผู้ให้บริการ TV on Demand ทั้งไทยและต่างประเทศให้อยู่ในกฎหมายของไทยอย่างเป็นรูปธรรม และควบคุมการเผยแพร่สิ่งผิดกฎหมายให้ดีที่สุด แต่เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นอีก 1 เรื่องที่ยากมากสำหรับการควบคุมสิ่งเหล่านี้ ทาง กสทช. จึงต้องทำการบ้านเป็นอย่างดีเลยทีเดียวสำหรับเคสนี้

อ้างอิง: nbtc 1 | 2 | 3 , ประชาชาติ, bangkokbiznews