อัปเดตศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสภาล่าสุด 12 คำศัพท์ที่ถูกใช้งาน ซึ่งเกิดจากคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 โดยแต่ละคำน่าจะเป็นคำที่คุ้นตาเราเป็นอย่างดี เรามาดูกันว่าแต่ละคำถูกแปลเป็นภาษาไทยอย่างไร และมีความหมายอะไรบ้างที่นี่เลย

1. cyber bully

การระรานทางไซเบอร์

การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

2. cybersecurity

ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ภาวะที่เครือข่าย ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรม และข้อมูล พ้นจากภัยคุกคาม มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ คงความลับ คงความถูกต้องครบถ้วน และคงความพร้อมใช้งาน ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยบุคลากร กระบวนการทำงาน และเครื่องมือ ที่เหมาะสม

3. cybercrime; cyber crime; cyber-crime; computer crime

อาชญากรรมไซเบอร์, อาชญากรรมคอมพิวเตอร์

๑. การกระทำผิดกฎหมายโดยใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ เช่น ทำลาย เปลี่ยนแปลง หรือขโมยข้อมูล

๒. การทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่าย ถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทํางานตามปรกติได้

4. artificial intelligence (AI)

ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

สาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นเรื่องที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น แบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง ระบบผู้เชี่ยวชาญ วิทยาการหุ่นยนต์ การรู้จำแบบ การรับรู้เยี่ยงมนุษย์ (human perception) ฯลฯ

5. augmented reality (AR)

ความเป็นจริงเสริม (เออาร์)

สภาวะจริงที่แต่งเติมขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ผู้ใช้กำลังดูรถยนต์อยู่และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ก็อาจจะใช้แว่นตาชนิดพิเศษซึ่งสามารถแสดงข้อมูลรถยนต์ซ้อนลงบนภาพรถยนต์ที่กำลังมองอยู่ได้

6. avatar

อวทาร์

รูปแทนตัวผู้ใช้ในโลกเสมือนหรือเกม ซึ่งอาจเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้

7. big data

ข้อมูลขนาดใหญ่

ข้อมูลหลากหลายปริมาณมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลดัชนีการค้นคืนของเว็บ ข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลในเครือข่ายสังคม ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ

8. bitcoin

บิตคอยน์

ชื่อสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

9. blockchain

บล็อกเชน

วิธีการเก็บข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลงตามหลักการทางบัญชี โดยการเข้ารหัสและจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ต่อกันตามลำดับเวลาที่ข้อมูลเข้ามา กลุ่มข้อมูลดังกล่าวจะเผยแพร่ไปให้ผู้ใช้ในเครือข่ายที่กำหนดได้ทราบทั่วกัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชนทุกรายการตลอดเวลา

10. cryptocurrency

เงินตราเข้ารหัสลับ, คริปโทเคอร์เรนซี

สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม ซึ่งใช้วิทยาการเข้ารหัสลับสำหรับรับประกันความถูกต้องของธุรกรรมนั้น เพื่อควบคุมการสร้างหน่วยเงินดิจิทัลเพิ่ม และเพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนสินทรัพย์ เป็นเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ควบคุมโดยกระจายศูนย์กลางผ่านบล็อกเชน

11. data analytics

วิทยาการวิเคราะห์ข้อมูล

ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การจำแนกกลุ่ม การดำเนินการทางสถิติ การวิเคราะห์แนวโน้ม การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประจำของข้อมูล ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏชัดเจนนัก

12. data science

วิทยาการข้อมูล

สหวิทยาการซึ่งประกอบด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ สถิติ และสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

วิเคราะห์คำศัพท์ทั้ง 12 คำ

เรียกได้ว่าทั้ง 13 คำนี้เป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทางราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดความหมายอย่างเป็นทางการออกมาในครั้งนี้ ซึ่งบางคำอาจจะดูแปลกตาไปบ้าง ก็เรียกได้ว่าเป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อใช้งานให้ถูกวัตถุประสงค์เช่นคำว่า อวทาร์ กับอวตาร ที่นำมาใช้แยกบริบทกันอย่างชัดเจน เป็นต้น ส่วนคำอื่น ๆ ก็ทำให้เราสามารถใช้คำภาษาไทยทดแทนไปได้โดยไม่ต้องเขียนทับศัพท์อีกต่อไป

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส