6 จาก 28 องค์กรธุรกิจ คือตัวเลขล่าสุดขององค์กรธุรกิจ ที่ประกาศถอนตัวจากกลุ่มหรือสมาพันธ์ Libra Association ตามหลัง PayPal บริษัทฯ ด้านการใช้จ่ายโอนเงินออนไลน์ระดับโลก ที่ประกาศถอนตัวไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า (กดอ่านข่าว PayPal ถอนตัวเป็นบริษัทฯ แรกได้ ที่นี่)

โดย Visa, Mastercard, eBay, Stripe, Mercado Pago คือ 5 องค์กรธุรกิจกลุ่มล่าสุด ที่ประกาศถอนตัวจากโพรเจกต์ LIBRA ด้วยเหตุผลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Visa และ Mastercard ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรแถวหน้า ที่เป็นผู้นำด้าน บัตรเดบิต/เครดิต และการชำระเงินรายใหญ่ของโลก ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่า

“Visa ตัดสินใจถอนตัว และจะยังไม่เข้าร่วมกับ Libra Association ในตอนนี้ โดยยินดีจะกลับมา หากในอนาคตหลายสิ่งหลายอย่างชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะประเด็นด้านกฏเกณฑ์ข้อบังคับ ที่หน่วยงานกำกับดูแลแสดงความกังวลเป็นอย่างมากในเรื่องนี้”

ด้าน David Marcus หัวหน้าโครงการจากทางฝั่งของ Facebook ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของ PayPal ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ผ่านทาง twitter ส่วนตัวของเขาว่า

“เตรียมพร้อมสำหรับ Update ในส่วนของ Libra แม้จะยังไม่ใช่ข่าวดีที่ยอดเยี่ยมอะไรมากนัก โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แบบนี้”

ตามมาด้วย Dante Disparte หัวหน้าฝ่ายนโยบายและการสื่อสารของโครงการ กล่าวเสริมในแถลงการณ์ว่า

“เรามุ่งเน้นไปที่การมองและก้าวไปข้างหน้า รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในระยะยาวกับองค์กรชั้นนำระดับโลก รวมถึงองค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมขนาดใหญ่ และผู้คนอีกจำนวนมากที่จะมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ร่วมกันในโครงการนี้ แม้ปัจจัยภายนอกของสมาคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่หลักการ หรือการควบคุมดูแลในส่วนของเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใน จะยังเหมือนเดิม และทำให้มั่นใจได้ว่าเครือข่ายการชำระเงินของ Libra จะยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย”

แม้ Libra จะเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากภาครัฐฯ และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งใน และต่างประเทศ ที่ต่างพร้อมใจกันสั่งแบนหรือปฏิเสธการใช้งาน Libra ในประเทศของตน เช่น ฝรังเศส และ เยอรมนี ที่ได้ออกมาประกาศด้วยท่าทีที่ชัดเจนและแข็งกร้าว ในเดือนที่ผ่านมาว่าจะไม่ยอมรับ หรืออนุญาตให้ Libra เข้ามาใช้งานในโซนยุโรปหรือประเทศของตนอย่างเด็ดขาด!

โดย Jerome Powell (จาก US Federal Reserve) ได้แสดงความเห็นเพิ่มในประเด็นนี้ว่า

“Libra จะยังไม่สามารถได้รับการยอมรับ หรือสำเร็จลุล่วงตามที่พวกเขาต้องการได้ ตราบใดที่ยังไม่มีหลักประกัน หรือความชัดเจนในเรื่องของความปลอดภัย การเก็บข้อมูลด้านการใช้จ่าย ที่อาจคาบเกี่ยวเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินของผู้คนนับพันล้าน การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงอีกหลายข้อ ที่หน่วยงานกำกับดูแลมีความเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เช่นนโยบายป้องกันเรื่องการฟอกเงิน ที่ดูเหมือนทาง Libra จะยังไม่มีความชัดเจนที่มากพอในเรื่องนี้”

และสมาชิกวุฒิสภาฯ ท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตและเตือนไปยัง Visa, Mastercard และ Stripe ว่าอยากให้ทบทวนตรวจสอบ และระวังเรื่อง

“การเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการที่อาจเข้าไปมีพัวพันเกี่ยวข้องกับการเติบโตของกิจกรรมของอาชญากรทั่วโลก” “หากคุณเข้าร่วมกับโครงการที่ยังตอบไม่ได้ชัดเจนในเรื่องนี้ คงไม่แปลกอะไรหากองค์กรของคุณจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด จากหน่วยงานที่เฝ้าระวังและกำกับดูแลในเรื่องนี้” “บริษัทฯ ที่ฉลาดพอจะหลีกเลี่ยงการทำให้ Facebook มีส่วนในการเป็นเงินสกุลหลักของโลกและถูกต้องตามกฏหมาย”

ส่วนหนึ่งในคำแถลงการณ์ที่เผ็ดร้อน ของวุฒิสมาชิก Sherrod Brown เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

mark zuckerberg

และถึงแม้คณะผู้แทนสหรัฐฯ จะเรียกร้องไปทาง Facebook และทางสมาคม Libra Association ให้ยุติ หรือระงับโครงการ Libra ออกไป จนกว่าจะมีการพิจารณาแล้วเสร็จ

แต่ดูเหมือนว่า Mark Zuckerberg จะยังทำตามสไตล์ที่ตนเองถนัด คือการดื้อแพ่งเดินหน้าโครงการนี้ และต้องการเปิดตัวให้ทันตามที่เคยประกาศไว้ คือต้นปี 2020 โดย Zuckerberg มีกำหนดการณ์ ต้องเดินทางเข้าพบเพื่อหารือ และให้ข้อมูลเพิ่ม กับหน่วยงานภาครัฐฯอีกครั้ง ในวันที่ 23 ตุลาคม 2019 

ต้องติดตามดูกันต่อไป ว่าหลังจากนี้ Facebook จะเดินเกมอย่างไรต่อ? จะมีพันธมิตร หรือองค์กรธุรกิจใดใน 22 องค์กรที่เหลืออยู่ ประกาศถอนตัวเพิ่มอีกไหม? หรือจะมีองค์กรธุรกิจใดสร้างความประหลาดใจ ช็อคโลกด้วยการกระโดดเข้ามา ร่วมทัพเป็นพันธมิตรเพิ่ม กับ Libra Association

ทีมงานแบไต๋ฯ จะติดตามข้อมูล และนำมาสรุปให้คุณผู้อ่านได้ทราบจากข่าวในครั้งถัดไป

รู้แล้วช่วยแชร์กับแบไต๋ฯ: LIBRA ถูกออกแบบมาให้อยู่ในหมวดของสกุลเงินดิจิทัลแบบ Stable Coin โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่อใช้แทนเงินสดในโลกออนไลน์ เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนโอนจ่ายเข้าถึงง่ายแลกเปลี่ยนสะดวกรวดเร็ว (Great medium of Exchange) จุดเด่นคือความผันผวนต่ำ เพราะมีการค้ำด้วยเงิน Fiat สกุลต่าง ๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, เยนญี่ปุ่น ฯลฯ ในอัตรา 1:1 และผลิตได้ไม่จำกัดตามปริมาณเงินที่นำเข้าไปค้ำเพิ่ม ซึ่งแตกต่างกับ Bitcoin ที่เน้นเป็นตัวเก็บคุณค่า (Store of value) และมีราคาผันผวนตามความต้องการของตลาด โดยมีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านหน่วย แต่สามารถแตกเป็นหน่วยย่อยได้ถึง 8 หลักทศนิยม โดยหน่วยย่อยในหลักทศนิยมเรียกว่า ‘ซาโตชิ’ เช่น 0.00000100 อ่านว่า 100 ซาโตชิ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.50 บาท หากเทียบราคาปัจจุบันที่ 1 Bitcoin มีมูลค่าประมาณ 250,000 บาท

ที่มา: REUTERS

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส