นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาและจีนร่วมกันพัฒนาต้นแบบแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์สุดเจ๋ง ที่ไม่เพียงสามารถเปลี่ยนพลังงานที่มันได้รับจากการสัมผัสแป้นพิมพ์ของผู้ใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงตัวมันเองได้แล้ว ยังมีระบบแยกแยะบุคคลโดยจำแนกจากลักษณะเฉพาะของการพิมพ์ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกันด้วย

งานวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยจาก 4 สถาบัน อันได้แก่ Georgia Institute of Technology, Chinese Academy of Sciences, Chongqing University และ  University of California ร่วมกันสร้างต้นแบบแป้นพิมพ์แบบ non-mechanic (คือไม่ใช่แบบปุ่มจริงที่ยุบตัวได้และสปริงเด้งกลับ) ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือแผ่นพลาสติกใส PET ที่เคลือบด้วยฟิล์มตัวนำ ITO ทั้งด้านบนและด้านล่าง

โดยแผ่นฟิล์ม ITO ที่เคลือบไว้นี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำหน้าที่ตรวจจับการสัมผัสจากปลายนิ้วของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้กดแป้นพิมพ์ตรงจุดใด จะเกิดการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าระหว่างแผ่นฟิล์มทั้ง 2 ชั้นที่เคลือบไว้บริเวณปุ่มนั้น และด้วยวิธีนี้เองที่ทำให้แป้นพิมพ์สุดล้ำสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ใช้กำลังกดพิมพ์ตัวอักษรใด

การสัมผัสจากปลายนิ้วของผู้ใช้ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าระหว่างแผ่นฟิล์ม ITO ที่เคลือบไว้ด้านบนและล่างของแผ่นพลาสติก FEP

การสัมผัสจากปลายนิ้วของผู้ใช้ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าระหว่างแผ่นฟิล์ม ITO ที่เคลือบไว้ด้านบนและล่างของแผ่น PET

ในขณะเดียวกันการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าระหว่างแผ่นฟิล์มนี้เท่ากับว่าเกิดกระแสไฟฟ้าไหลไปมาในตัวอุปกรณ์ และจากกระแสไฟฟ้านี้เอง ทำให้แป้นพิมพ์ของทีมวิจัยสามารถเปลี่ยนทุกสัมผัสของผู้ใช้ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ไม่เพียงจะสามารถจ่ายไฟเลี้ยงการทำงานของตัวมันเองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเสียบสายต่อพ่วงไปชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์ภายนอกได้ด้วย (อาจจะไม่สามารถชาร์จไฟได้มากมายเหมือน power bank แต่รุ่นต้นแบบได้ขนาดนี้ก็โคตรเจ๋งแล้ว)

ความสามารถอีกประการที่สำคัญของแป้นพิมพ์นี้คือการแยกแยะผู้ใช้จากรูปแบบการพิมพ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แป้นพิมพ์อัจฉริยะนี้จะอาศัยข้อมูลทั้งเรื่องแรงกดที่ตรวจจับได้ และความเร็วในการพิมพ์ ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยอย่างเช่นช่วงระยะเวลาที่ผู้ใช้กดแป้นพิมพ์แต่ละปุ่ม หรือแม้กระทั่งการเว้นจังหวะระหว่างการพิมพ์แต่ละตัวอักษร

Smart Keyboard - Self Energized and Identify User (2)

สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดแบบเต็มๆ จากเอกสารงานวิจัยสร้างแป้นพิมพ์สุดล้ำนี้ได้จาก ACSNano

ที่มา – TechCrunch