หลังจากงาน WWDC 2018 ผ่านพ้นมาโดยที่ Apple เลือกที่จะไม่เปิดตัวฮาร์ดแวร์ใด ๆ เลย ซึ่งค่อนข้างจะเป็นที่เซอร์ไพรส์ไม่น้อย โดยเฉพาะหลายคนที่เฝ้ารอและคาดหวังว่าจะได้เห็น iPhone SE 2, MacBook หรือว่า Apple Watch รุ่นใหม่ แม้ว่างานดังกล่าวจะโฟกัสไปที่บรรดานักพัฒนา แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา Apple มักจะใช้อีเวนต์นี้เปิดตัวฮาร์ดแวร์พ่วงด้วยเสมอ (ปีที่แล้วพวกเขาก็เปิดตัว HomePod, iMac Pro ที่งานนี้ และที่สำคัญคือย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 สตีฟ จ็อบส์ ก็เคยเปิดตัว iPhone 4 ในงาน WWDC) แต่เมื่อ Apple เลือกที่จะไม่เปิดตัวสินค้าในครั้งนี้ ก็ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขากำลังพยายามที่จะเดินไปในแนวทางใหม่คือ การสร้างวงจรของสินค้าให้ยาวนานขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

Apple อยู่ได้ด้วยฮาร์ดแวร์แต่กำลังหันมาโฟกัสกับซอฟต์แวร์มากขึ้น

สำหรับ iOS 12 ที่เปิดตัวออกมานั้น เห็นได้ชัดว่าทาง Apple ให้ความสำคัญและเคลมว่าสามารถใช้งานได้แม้กับไอโฟนรุ่นเก่าอย่าง iPhone 5S ก็ยังไปต่อได้ ซึ่ง Apple เน้นว่า iOS ใหม่จะยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานอีก 70% ถ้าเปรียบกับการเลือกตั้งแล้ว Apple ก็ได้ฐานคะแนนเสียงจากผู้ใช้ไอโฟนรุ่นเก่าที่มีแนวโน้มจะใช้งานยาว ๆ 18-24 เดือนเป็นอย่างน้อย

มีการวิเคราะห์ว่าการเดินมาในแนวทางนี้ของ Apple นั้นก็มีจุดเริ่มมาจากเหตุการณ์ที่ถูกพบว่า Apple ลดประสิทธิภาพการทำงานของไอโฟนตามสภาพแบตเตอรีจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าอย่างมาก ซึ่งทาง Apple ก็ออกมายอมรับและรีบเพิ่มตัวเลือกที่ผู้ใช้สามารถเลือกปิดการลดประสิทธิภาพไอโฟนได้ใน iOS 11.4 ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่ากล่องดวงใจของ Apple นั้นคือ การรักษาความเชื่อมั่นและศรัทธาจากฐานแฟนบอยที่จงรักภักดีกับแบรนด์มานาน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับลูกค้ากลุ่มนี้ พวกเขาจะรีบเข้ามาจัดการอย่างเร็วที่สุด แถมยังพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเคลมว่าผู้ใช้ iOS สามารถเลือกอัปเกรดได้ในแบบเอาที่สบายใจ ไม่เหมือนทางฝั่ง Android ที่ไม่นานก็ลอยแพ

Apple ต้องการที่จะสร้างวงจรสินค้าขึ้นมาให้แตกต่างจากตลาด

แนวโน้มในอนาคต เป็นไปได้สูงที่ Apple จะเริ่มเดินสวนกระแสตลาด โดยเฉพาะการยืดอายุการใช้งานของฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าให้นานออกไปจากเดิม และมีการทิ้งช่วงการเปิดตัวสินค้าใหม่ที่นานขึ้น หันไปเน้นกับโมเดลสร้างรายได้จากซอฟต์แวร์ หรือสร้างแพล็ตฟอร์มโฆษณาให้มากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างเดิมของ Apple เป็นบริษัทที่อยู่ได้ด้วยรายได้จากฮาร์ดแวร์ ซึ่งสำหรับตลาดสมาร์ทโฟน ณ ปัจจุบันนั้น มีความผันผวนและสุ่มเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนมากขึ้น บวกกับภาวะอิ่มตัวของฟีเจอร์และราคาสมาร์ทโฟนที่หาความแตกต่างระหว่างสมาร์ทโฟนระดับกลางสเปกดีราคาถูกกับสมาร์ทโฟนระดับเรือธงที่พิเศษกว่าเพียงฟีเจอร์บางอย่างที่ผู้บริโภคมองว่า ‘ไม่จำเป็น’ และไม่จูงใจพวกเขามากพอในการจะจ่ายเพิ่ม

เช่นเดียวกับ iPhone SE 2 ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวลือมากมายว่าจะมีการหันมาใช้หน้าจอแสดงผลเต็มจอ พร้อมทั้งตัดปุ่มโฮมออกไป ทำให้ iPhone SE 2 มีความน่าสนใจขึ้นมาทันที ซึ่งนอกจากจะมีจุดได้เปรียบเรื่องขนาดเครื่องถือสะดวกมือเดียวแล้ว ยังได้สัดส่วนหน้าจอที่สูสีไม่แพ้ไอโฟนรุ่นใหม่ ๆ เลย และนั่นอาจหมายถึงการเข้ามาทับไลน์สินค้า และแย่งลูกค้ากันเองของ iPhone SE 2 และ iPhone 8/8+ นั่นเอง

อ้างอิง