สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดตัว “โครงการกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Visual Interactive Storytelling Workshops and Internship” ภายใต้แนวคิด “VR Inventors” เพื่อสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีภาพเสมือน (Virtual Reality) หรือ วีอาร์ ยกระดับขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพของวงการดิจิทัลไทย สอดรับกับกระแสโลกที่เทคโนโลยีวีอาร์ได้รับความนิยมและมีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในด้านความบันเทิงเท่านั้นจากการที่ปัจจุบันเทคโนโลยีวีอาร์ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนมีความสำคัญในด้านการแพทย์  การศึกษา ความมั่นคง วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอีกด้วย

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ภายใต้ภารกิจหลักในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของสำนักงานฯ คือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรม  ดีป้า เล็งเห็นว่าเมืองไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีวีอาร์อยู่ไม่มากนัก ในขณะที่เทคโนโลยีนี้เริ่มเข้ามามีบทบาททั้งในภาครัฐและเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการนี้จึงรวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ทั้งในเชิงคอนเทนต์และเชิงระบบ พร้อมทั้งมีการส่งไปฝึกงานที่ต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีวีอาร์และส่งเสริมความเป็นมืออาชีพในระดับสากล โดยท้ายที่สุดผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องสร้างสรรค์ผลงานขึ้นจริงตามโจทย์ที่ได้รับ เพื่อเป็นการฝึกฝนขัดเกลาทักษะความรู้”

“โครงการกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Visual Interactive Storytelling Workshops and Internship” เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาจบใหม่ และบุคคลที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปวช. และ ปวส. ขึ้นไป ที่มีความสนใจในการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์และแอพลิเคชั่นด้วย เทคโนโลยีวีอาร์ และมีความรู้พื้นฐานด้านโปรแกรมมิ่งหรือดิจิทัลอาร์ต หรือมีประสบการณ์การทำงานการผลิตและพัฒนาผลงานด้านดิจิทัลคอนเทนต์เข้าสู่โครงการโดยสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2560 ถึง 10 ตุลาคม 2560 ผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการที่ www.VRInventors.depa.or.th

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 80 คน จะเข้ารับการอบรมในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2560 โดยสุดยอดผู้เชี่ยวชาญด้านวีอาร์ของเมืองไทย ในหัวข้อ “Introduction to Virtual Reality and VR content development” หัวข้อ “Content Creation Techniques” หัวข้อ “Animation and Audio” หัวข้อ “Designing content for VR” และหัวข้อ “Creating smooth VR experience” ตลอดจนการให้แนวทางสำหรับการพัฒนาผลงานรอบแรก จะแบ่งเป็น 16 ทีม เพื่อคัดเลือกเหลือ 10 ทีม ที่จะมีโอกาสดูงานและฝึกงานกับบริษัทวีอาร์ชั้นนำในต่างประเทศ ด้วยโปรแกรมการศึกษาดูงานเป็นระยะเวลา 5 วัน และฝึกงานเป็นระยะเวลา 30 วัน จากนั้นจะต้องพัฒนาผลงานขึ้นจากโจทย์ที่ได้รับ เพื่อคัดเลือกเหลือ 5 ทีมสุดท้าย ที่จะมีโอกาสได้จัดแสดงผลงานในเดือนเมษายน 2561

โครงการนี้นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ที่ต้องการก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านวีอาร์คอนเทนต์ ที่จะทวีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นต่ออุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ในอนาคต อีกทั้งยังได้สร้างเครือข่ายในการพัฒนา ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งในประเทศและระดับสากล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนวงการดิจิทัลไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง