เรายอมรับหรือไม่ว่ายัง “ล้าหลัง” กับการเรียนการสอนในยุคที่เทคโนโลยีนั้นก้าวล้ำเกินว่าที่นักเรียนนักศึกษาจะมานั่นอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น

นักเรียนนักศึกษาของเราล้วนเข้าใจเกี่ยวกับการมาถึงของเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตร่วมกับมันเป็นอย่างดี หากจะขาดก็คือการพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆร่วมกับเทคโนโลยีนั้นๆ

ในกรณีนี้ของยกตัวอย่างถึง อีริก เมเซอร์ (Eric Mazur) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เข้ากับความต้องการนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 จริงๆ

อีริก เมเซอร์ (Eric Mazur) ศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์และฟิสิกส์ประยุกต์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ให้กำเนิดการเรียนแบบ “Flipped Classroom” และเป็นผู้นำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่มาตั้งแต่ยุค 1990 ได้กล่าวถึงการเรียนการสอนในปัจจุบันว่า ในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและใช้ Google ค้นหาข้อมูลได้อย่างหลากหลายนั้น ทำให้เราไม่ต้องจำอะไรอีกต่อไป

Flipped Classroom เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนศึกษาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตนอกห้องเรียน นอกเวลาเรียน ส่วนในห้องเรียนจะเป็นการจัดกิจกรรม และนำการบ้านมาทำในห้องเรียนแทน

อีริก เมเซอร์ ได้กระตุ้นให้เหล่านักวิชาการศึกษาและครูอาจารย์ สนับสนุนการให้นักศึกษานำแล็ปท็อปและสมาร์ทโฟนเข้าห้องสอบได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความคิดสร้างสรรค์และทักษะในการคิดวิเคราะห์ของนักศึกษามากกว่าการใช้ความจำ

เขาได้กล่าวว่า “การสอบแบบที่คิดใหม่ทำใหม่นั้น คือจุดมุ่งหมายต่อไปของการศึกษา”

ศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดผู้นี้ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการทดสอบนี้ คือ คำตอบในข้อสอบนั้น จะต้องไม่ใช่สิ่งที่สามารถค้นหาได้ง่ายๆจาก Google โดยจะต้องเป็นข้อสอบที่มีความลึกซึ้งมากขึ้น และเป็นสิ่งสะท้อนการทดสอบทักษะของศตวรรษที่ 21 ที่เราต้องการให้นักศึกษาได้พัฒนา

อีริก เมเซอร์ กล่าวถึงความ “ล้าหลัง” ในการสอนของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง ที่ยังคงใช้การสอนรูปแบบเดิมกับเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อน ที่ครูผู้สอนต้องพูดข้อมูลต่างๆ มากมายออกมา จากนั้นนักเรียนก็จะต้องจำ และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการสอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยควรที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมและเชื่อมโยงความรู้กับนักศึกษาที่อยู่ในชั้นเรียนอื่นๆด้วย

ยกต้วอย่างเช่น Perusall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ฮาร์วาร์ดพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ได้ตั้งคำถามและต่อยอดความรู้กัน ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 100,000 คนแล้วในขณะนี้

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้การศึกษาของเรานั้นไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักศึกษา หากเนื่องมาจากการยึดติดกับประเพณีวัฒนธรรมเดิมๆที่ไม่ถูกพัฒนาไปข้างหน้า และนั่นคือสิ่งที่สถาบันการศึกษาควรพิจารณาเพื่อ “ก้าวตามให้ทัน” ต่อความต้องการอันแท้จริงของสังคม

ข้อมูลอ้างอิง : timeshighereducation