นักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะ รก (Placenta) ในห้องทดลองได้ โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับของจริงอย่างมาก รกนี้ถูกเพาะขึ้นมาจากเซลล์หลายเซลล์ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับรกของจริงมากที่สุด มันสามารถทำได้แม้กระทั่งปล่อยฮอร์โมนที่ให้ผลบวกในเครื่องตรวจการตั้งครรภ์

การเพาะและการศึกษานี้ถูกเรียกว่า “Organoid” (เซลล์ที่ถูกเพาะด้วยวิธีการจัดเรียงตัวแบบสามมิติจาก Stem cell ในจานทดลอง เพื่อพัฒนากลุ่มของเซลล์ที่มีลักษณะ และการทำงานบางอย่างที่คล้ายอวัยวะจริง) โดยการศึกษานี้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงและการสร้างของรกได้ นอกจากนี้มันจะยิ่งทำให้เราเข้าใจถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแท้ง หรือแม้แต่ผลกระทบของยาต่อรกอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาเซลล์ของรก แต่ไม่เคยเพาะมันได้สำเร็จ Margherita Yayoi Turco นักวิจัยชั้นนำของศูนย์วิจัย Trophoblast แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษกล่าว สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องยากในการศึกษารกของมนุษย์คือ มันไม่เหมือนกับรกของสัตว์อื่น ๆ ถึงแม้จะเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกันก็ตาม หรือแม้แต่หนู สัตว์ที่ถูกใช้ในการทดลองมากที่สุด ก็ไม่ใกล้เคียง

รก เป็นอวัยวะที่ไม่เหมือนอวัยวะอื่น มันจะถูกพัฒนาขึ้นหลังจากที่มีการปฏิสนธิและตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก ตัวอ่อนและรกจะเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กัน อ้างอิงจาก National Institutes of Health (NIH) รก ถูกพัฒนามาจากเซลล์เฉพาะหลายเซลล์ แต่ 1 เซลล์ที่เป็นเซลล์สำคัญสำหรับการทำหน้าที่ของรกคือ Trophoblasts มันทำให้รกเกิดการฝังตัว การปกป้องทารก การขนส่ง Oxygen และสารอาหารให้ทารกในครรภ์ และหลั่งฮอร์โมนในร่างกายของแม่ ด้วยเหตุนี้การเพาะเซลล์ Trophoblasts จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างพิถีพิถัน

ในงานวิจัยนี้ได้ใช้เซลล์ต้นแบบมาจากรกของหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก (6-9 สัปดาห์) และได้ทำการเพาะใน scaffoldings ประมาณ 10-14 วัน เซลล์ก็มีการเจริญเติบโต และภายใน 1 ปี มันก็สมบูรณ์แข็งแรงและมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดจริง พวกเขาทำการพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ รวมถึงการปล่อยฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) hormone ที่สามารถใช้ตรวจเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

ด้วยแบบจำลองนี้นักวิทยาศาสตร์หวังว่า มันจะทำให้เราเข้าใจถึงการติดเชื้อในรก อย่างเช่น Zika (โรคไข้ซิกา ที่มีพาหะจากยุง) ว่าทำไมเชื้อนี้ถึงสามารถผ่านรก เข้าไปส่งผลกับสมองของทารกได้ ในขณะที่ Dengue (ไข้เลือดออก ไวรัสที่อยู่ใน Family เดียวกับ Zika) กลับผ่านรกไปไม่ได้

อ้างอิง