ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเมื่อมีผลสำรวจจากประเทศอังกฤษชี้ให้เราเห็นถึงผลกระทบของสุขภาพที่แสดงออกมาในรูปแบบของการเห็นภาพหลอน หูแว่ว หรือแม้แต่การหวาดระแวงอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงมากกว่าวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท

นักวิทยาศาสตร์จาก King’s College London ได้ติดตามวัยรุ่น (อายุ 12- 18 ปี) 2,000 คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง กึ่งเมือง และ ชนบท พวกเขาพบว่า 1 ใน 3 ของผลการสำรวจ เคยมีประสบการณ์คล้ายๆ จะเป็นโรคทางจิตเภทอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาบางคนรู้สึกว่ากำลังโดนจับตาดูอยู่ตลอดเวลา หรือได้ยินเสียงที่ไม่รู้ที่มา เป็นต้น

และเมื่อนำข้อมูลมาจัดแยก นักวิจัยพบว่าวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง (เช่นพื้นที่ในเมือง ติดกับถนนที่วุ่นวาย) หากสุ่มวัยรุ่นมา 20 คน จะมี 12 คน ในนั้นที่มีอาการจิตเภท ในขณะที่สำรวจวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในชนบท ทุกๆ 20 คน จะมีเพียงแค่ 7 คนเท่านั้นที่เคยมีประสบการณ์จิตเภท ถึงแม้จะมีปัจจัยหลายอย่างรวมด้วยในการนำไปสู่อาการทางจิตเภท แต่นักวิจัยก็ยืนยันว่า มลพิษทางอากาศก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน ดร. Joanne Newbury จากสถาบันจิตเวชศาสตร์จิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์กล่าวว่าวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองมีอาการทางจิตเภทมากกว่าวัยรุ่นที่อาศัยในพื้นที่ชนบท

ในงานสำรวจครั้งนี้อาจไม่ได้พิสูจน์ว่ามลพิษทางอากาศสามารถทำให้เกิดอาการทางจิตเภทได้ แต่ก็มีงานวิจัยไม่น้อยที่ออกมาตีพิมพ์ถึงผลกระทบของมลพิษของอากาศ ที่ส่งผลวงกว้างต่อร่างกายมากกว่าเรื่องของหัวใจ และ ปอดแล้ว ทำให้นักวิจัยคาดการณ์กันว่า อนุภาคเล็กๆ เหล่านั้นอาจเข้าสู่สมองโดยผ่านทาง ระบบหมุนเวียนเลือด และ ระบบการหายใจ ส่งผลให้สมองเกิดการอักเสบ

หรืออีกแนวคิดหนึ่งคือสารที่เคลือบบอนุภาคเหล่านั้นอาจละลายปนกับเลือด แล้วส่งผลกระทบต่อสมองได้ และมลพิษทางอากาศที่นักวิจัยให้ความสนใจว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการจิตเภทได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ PM 10 และ PM 2.5

อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่ามลพิษทางอากาศ ทำให้เกิดโรคจิตเภทได้จริงๆ แต่แบบสำรวจนี้ชี้ให้เราเห็นว่าอัตราผู้ป่วยจิตเภทเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง และไม่ว่าจะอย่างไรงานชิ้นนี้ก็บอกให้เรารู้ถึงผลกระทบที่ร้ายแรงของมลพิษทางอากาศที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ยังไงก็อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ

อ้างอิง