ภาวะวิกฤติลำดับต้นที่โลกมนุษย์ประสบกันอยู่ขณะนี้ ก็คือภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนขึ้นทุกวัน ทั้งการที่น้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลายมากขึ้นและจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกวัน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงส่งผลให้พืชพันธุ์และสัตว์บางชนิดเริ่มสูญพันธุ์ และวิกฤติเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลานของเราในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างก็ขมักเขม้นในการชะลอภาวะโลกร้อนที่ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์เราเองทั้งนั้น พร้อม ๆ กับแคมเปญรณรงค์รักษ์โลกที่ทั่วโลกร่วมกันให้ลดละเลิกการใช้หรือสร้างวัสดุอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่สร้างสาร CFC ตัวการทำลายชั้นบรรยากาศ

และหนึ่งในวิธีการที่จะชะลอภาวะโลกร้อนนี้ก็เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ในชื่อว่า Stratospheric Controlled Perturbation Experiment (SCoPEx) เมื่อสาเหตุหลักมาจากความร้อนของดวงอาทิตย์ เราก็ต้องหรี่แสงจากดวงอาทิตย์ลงซะ ด้วยการใช้ฝุ่นปริมาณหลายตันใส่บอลลูนส่งขึ้นท้องฟ้าสูงขึ้นไป 20 กิโลเมตร แล้วก็พ่นเจ้าฝุ่นเหล่านี้ออกมาบนชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ฝุ่นเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นแผงกรองแสงดวงอาทิตย์ขนาดมหึมาในชั้นบรรยากาศ ซึ่งหน้าที่หลักของมันคือสะท้อนความร้อนและรังสีจากดวงอาทิตย์กลับไปในอวกาศ ส่วนแสงที่ส่องผ่านมาได้ก็จะลดปริมาณความร้อนแรงลงไป ซึ่งปริมาณนี้ก็จะชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้ตามทฤษฎีที่คาดหวัง

ภูเขาไฟพินาตูโบ ในฟิลิปปินส์ระเบิดเมื่อปี 1991

เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ไอเดียนี้มาจากภัยพิบัติธรรมชาติ ภูเขาไฟพินาตูโบ ในฟิลิปปินส์ ระเบิดเมื่อปี 1991 ขณะระเบิดได้ส่งเถ้าถ่านซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ประมาณ 200 ล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และกลายเป็นละอองคงค้างนานกว่าหนึ่งปี และแผงละอองในชั้นบรรยากาศนั้นก็ทำหน้าที่เป็นแผงสะท้อนแสงอาทิตย์ และในปีนั้นอุณหภูมิทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 0.5 เซลเซียส ปรากฏการณ์ทำให้เกิดกรณีศึกษากันอย่างจริงจัง ออกมาเป็นรายงานทางวิทยาศาสตร์กว่า 100 หน้า และพัฒนากลายมาเป็นโครงการ Stratospheric Controlled Perturbation Experiment (SCoPEx)

โพรเจกต์นี้จะต้องใช้เงินทุนในการดำเนินการมหาศาล และผู้ที่ลงมาสนับสนุนโครงการนี้ก็คือ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีวัย 63 ปีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ บิลได้รับการประสานงานจาก เจมส์ แอนเดอร์สัน นักเคมี และ เดวิด คีธ นักฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้เป็นผู้สนับสนุนหลักของโครงการนี้  บิล เกตส์ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะเขาแสดงปนิธานต่อสาธารณชนเสมอมาว่าเขากังวลต่อภาวะโลกร้อนและมีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับมัน บิล เกตส์ จะสนับสนุนโครงการนี้ด้วยการออกหน้าระดมทุนเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป

บิล เกตส์ พูดถึงโครงการนี้ว่า “เราจำเป็นต้องควบคุมพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมให้ได้มากกว่านี้ ในจุดนี้ก็ต้องขอบคุณที่ราคาตลาดของแผงโซลาร์เซลล์ และ กังหันลม ตกลงอย่างมาก ทำให้ผู้คนสามารถซื้อระบบการสร้างพลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงแดดได้ในราคาที่พอจ่ายไหว”

แต่ก่อนที่โครงการฝุ่นในชั้นบรรยากาศนี้จะเป็นจริงได้ ก็ต้องมีการทดลองกันก่อน ใช้งบประมาณในการทดลองถึง 3 ล้านเหรียญ การทดลองนี้จะใช้บอลลูนวิทยาศาสตร์ที่สามารถไต่ถึงสภาวะบรรยากาศในระดับสูง บอลลูนจะบรรทุกฝุ่นแคลเซียม คาร์บอเนตไปด้วย 2 ก.ก. ขนาดก็จะพอ ๆ กับถุงแป้ง การทดลองนี้จะทำกันในบริเวณน่านฟ้าของเมืองนิวเม็กซิโก เมื่อปล่อยฝุ่นออกมาแล้ว ฝุ่นจะก่อตัวเป็นรูปท่อขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 100 หลา และยาว 1/2 ไมล์ และจะลอยค้างอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมง บนบอลลูนนี้จะมีเซนเซอร์วัดค่าการสะท้อนแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีผลต่อชั้นฝุ่นนี้

การทดลองนี้วางแผนไว้ว่าจะดำเนินการไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็กังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าเลวร้ายสุดก็อาจจะก่อให้เกิดสภาวะแล้งอย่างรุนแรง หรือเกิดพายุเฮอร์ริเคน ซึ่งอาจจะส่งผลร้ายต่อผู้คนนับล้านชีวิต ข้อสันนิษฐานต่อผลลบจากโพรเจกต์นี้ขยายไปในวงกว้างถึงขั้นว่า ถ้าฝุ่นแคลเซียม คาร์บอเนต ไปทำลายชั้นโอโซน ที่ทำหน้าที่ปกป้องมนุษยชาติจากความรุนแรงของรังสีอุลตร้าไวโอเลตอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าขาดชั้นโอโซนไป อุลตร้าไวโอเลตจะมีความรุนแรงพอที่จะทำร้ายดีเอ็นเอมนุษย์และก่อให้เกิดมะเร็งตามมา , นักอุตุนิยมวิทยาก็ออกมาเตือนถึงผลกระทบเช่นกัน ผลจากโพรเจกต์นี้อาจจะทำให้กระแสน้ำทั่วโลกปั่นป่วน และมีผลกระทบต่อเนื่องถึงสภาพอากาศ ซึ่งจะก่อความรุนแรงทวีไปทั่วทั้งโลก พืชไร่จะล้มตาย สัตว์หลายพันธุ์จะสูญพันธุ์และก่อให้เกิดเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ด้วยความกังวลและเสียงทักท้วงจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ทำให้การทดลองนี้ยังถูกระงับไว้ชั่วคราว

เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาวะบรรยากาศโลก ทีมงานมีแนวคิดจะเปลี่ยนจากฝุ่นแคลเซียม คาร์บอเนต เป็น “น้ำแข็ง” แทน แล้วถ้าผลการทดลองผ่านไปด้วยดี ก็จะใช้แคลเซียม คาร์บอเนตในปฏิบัติการจริง ได้ยินชื่อสารเคมีที่ใช้ในปฏิบัติการแล้วประชาชนอาจะกังวล ในการนี้ทางฮาร์วาร์ดยืนยันว่าให้สบายใจได้ เพราะแคลเซียม คาร์บอเนต ไม่ใช่สารเคมีที่มีพิษ ไม่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม สามารพบเห็นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ

ฟังดูผลกระทบทางด้านลบแล้วก็น่ากังวลเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลการทดลอง คอยติดตามข่าวว่าโพรเจกต์นี้จะเริ่มทดลองกันเมื่อไหร่ แล้วผลการทดลองเป็นอย่างไร มีความคืบหน้าจะมารายงานให้ทราบกันครับ

 

อ้างอิง1

อ้างอิง2