NASA เปิดเผยว่าเมื่อ 29 ตุลาคมได้ใช้จาน DSS-43 ส่งคำสั่งไปยังยานสำรวจ Voyager 2 ที่อยู่ห่างจากโลก 11,600 ล้านไมล์ (18,600 ล้านกม.) และได้รับการติดต่อกลับมาเป็นครั้งแรกหลังจากที่ปิดอัปเกรดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยการสื่อสารใช้เวลาในการส่งประมาณ 17 ชั่วโมงและรับอีก 17 ชั่วโมง

ต้นเดือนมีนาคม NASA ได้ปิดสถานี DSS-43 เพื่ออัปเกรดกรวยย่านความถี่ X-band ใหม่ที่ทำให้เครื่องส่งสัญญาณและเครื่องรับสัญญาณมีความไวในการสื่อสารมากขึ้น ซึ่งแทนที่ของเดิมที่ไม่เคยถูกเปลี่ยนมาเป็นเวลา 47 ปี ก่อนที่จะส่งยานสำรวจ Voyager 2 ออกสู่อวกาศด้วยซ้ำไป

สถานีการสื่อสารผ่านดาวเทียม Deep Space Station 43 (DSS-43) ที่ตั้งอยู่ในเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในเสาอากาศที่ใหญ่ที่สุดของเครือข่ายห้วงอวกาศของ NASA ที่ใช้สำหรับสื่อสารกับยานอวกาศในระยะทางไกลจากโลก เช่น ภารกิจ Apollo 17 ไปสู่ดวงจันทร์ในปี 1973 ด้วยเสาอากาศขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 64 เมตรและในปี 1987 ได้ขยายเสาอากาศเป็นเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 เมตรเพื่อสื่อสารกับยานอวกาศไร้คนบังคับ Voyager 2 ในภารกิจสำรวจดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนในปี 1989 จัดว่าเป็นเสาอากาศที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ที่มีพลังมากมายสำหรับการสื่อสารไปถึงยานอวกาศที่บินสู่อวกาศออกไปทางทิศใต้

NASA คาดว่าจะอัปเกรด DSS-43 เสร็จสิ้นในเดือนมกราคม 2021 ซึ่งไม่ได้ใช้แค่สื่อสารกับ Voyager 2 เท่านั้น คาดว่าระหว่างการอัปเกรดจะถูกนำมาใช้ในการสื่อสารกับรถสำรวจดาวอังคาร Perseverance ที่ได้ปล่อยสู่อวกาศเมื่อ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาและจะลงจอดบนดาวอังคารใน 18 กุมภาพันธ์ 2021 รวมทั้งจะสามารถนำไปใช้กับภารกิจ Artemis ส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปลงไปเหยียบดวงจันทร์และส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดาวอังคารในอนาคตอีกด้วย

ที่มา : engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส