ปีที่ผ่านมา แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตโควิด แต่ก็นับว่าเป็นปีทองด้านการสำรวจอวกาศด้วย และหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีความรุดหน้าในด้านนี้นั่นก็คือประเทศจีน ซึ่งล่าสุดก็ออกมาประกาศแล้วว่า ปีหน้า (2022) จะปล่อย ดาวเทียมสำรวจสุริยะดวงแรกของประเทศ ‘หอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ขั้นสูง (ASO-S)’ ในช่วงครึ่งแรกของปี 

หอดูดาวจื่อจินซาน (Purple Mountain Observatory) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) สถาบันวิจัยที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในเมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ระบุว่าดาวเทียมดังกล่าวจะขึ้นไปโคจรในวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun-Synchronous Orbit) ที่ระดับความสูง 720 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าดาวเทียมดวงนี้มีน้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม และจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปี

การเฝ้าสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ที่ว่า ประกอบไปด้วย 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่

  • การสังเกตการณ์สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ 
  • การติดตามปรากฏการณ์การระเบิดบนดวงอาทิตย์ที่เรียกกันว่าการลุกจ้า (solar flares) 
  • การติดตามการปลดปลอยมวลของดวงอาทิตย์ (coronal mass ejection) 

ทั้งนี้ ยานดังกล่าวจะบรรทุกอุปกรณ์ 3 อย่าง ได้แก่ เครื่องวัดสนามแม่เหล็กสุริยะเต็มดวง (FMG) เครื่องสร้างภาพฮาร์ดเอ็กซเรย์ (HXI) และกล้องโทรทรรศน์สุริยะไลแมน-อัลฟา (LST) เพื่อใช้ในการสำรวจติดตาม

ภารกิจนี้ นับเป็นภารกิจ ‘สัมผัสดวงอาทิตย์’ ครั้งแรกของจีน ที่ผ่านมา เพื่อให้ศึกษาดวงอาทิตย์ได้โดยละเอียด ปราศจากการขวางกั้นรังสีจากชั้นบรรยากาศของโลก หน่วยงานด้านอวกาศต่าง ๆ จึงส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ช่วยให้ได้ภาพและค่าตรวจวัดที่สมบูรณ์ สามารถนำมาใช้อ้างอิงศึกษาต่อได้ โดยปัจจุบันนี้ มีการปล่อยดาวเทียมที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจดวงอาทิตย์ขึ้นสู่อวกาศมากกว่า 70 ดวงทั่วโลก

สำหรับดวงอาทิตย์ของเรา เป็นเพียงดาวฤกษ์หนึ่งเดียวที่เราใกล้ชิดจนสามารถศึกษารายละเอียดได้ กานเว่ยฉวิน  นักวิจัยจากสถาบันฯ อธิบายว่า ดวงอาทิตย์จะมีพฤติกรรมแตกต่างไปตามวัฏจักรสุริยะทุก 11 ปี  มีการคาดการณ์ว่า ดวงอาทิตย์จะแผ่รังสีแตะระดับสูงสุดในวงรอบวัฎจักร ช่วงประมาณปี 2025 จีนจึงวางแผนใช้ดาวเทียมสำรวจสุริยะเก็บข้อมูลกิจกรรมของดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงปีดังกล่าว

นอกจากใช้เก็บข้อมูล ดาวเทียมดวงนี้ยังสามารถตรวจการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (CME) ได้อย่างน้อย 40 ชั่วโมง ก่อนที่มวลจะเดินทางมาถึงโลก จึงคาดว่าจะช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้า ก่อนที่การปลดปล่อยมวลดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อสภาพแม่เหล็กไฟฟ้าของโลก

อ้างอิง

Xinhuathai

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส