[รีวิว] Tales of The Rays: เมื่อไหร่กัน? ที่เกมมือถือ มีคุณภาพเท่าเกมคอนโซล
Our score
8.8

Tales of the Rays

จุดเด่น

  1. ระบบการต่อสู้ยอดเยี่ยมราวกับพอร์ตมาจากเกมบนเครื่องคอนโซล
  2. ไม่มีโหมดการแข่งขันกับผู้อื่นที่ชัดเจน ทำให้การเติมเงินมีความจำเป็นในระดับ "ต่ำ"
  3. มีเนื้อเรื่องให้คอยติดตาม

จุดสังเกต

  1. กินสเปคพอสมควร
  2. ปัจจุบันยังไม่มีโปรโมชั่นส่งเสริมการเติมเงิน อีกทั้งเรตการเติมเงินแต่ละระดับค่อนข้างโหดร้าย
  • กราฟิก

    9.0

  • ระบบการเล่น

    9.0

  • ความคุ้มค่า

    8.5

  • ความแปลกใหม่

    9.0

  • ภาพรวม

    8.5

จากการเติบโตอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มเล่นเกมน้องใหม่มาแรงอย่าง “สมาร์ทโฟน” ที่หลากหลายค่ายพัฒนาเกมระดับยักษ์ใหญ่ ได้ให้ความสนใจและพัฒนาผลงานลงสู่เครื่องเล่นเกมจิ๋วแต่แจ๋วนี้ อาทิ Super Mario Run และ Fire Emblem Heroes จากทาง Nintendo, Final Fantasy Brave Exvius จาก Square Enix และ Assassin’s Creed Identity จากทาง Ubisoft เป็นต้น 

เหล่ารายชื่อเกมที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการแตกไลน์มาจากแฟรนไชส์เกมขายดีของพวกเขา ที่ถึงแม้จะดูน่าดึงดูดก็ตาม แต่ว่ากันตรงๆ แล้วนั้น คุณภาพของแต่ละเกมกลับไม่ได้ดีสมชื่อค่ายพัฒนา/จัดจำหน่ายสักเท่าไหร่ที่อาจเป็นเพราะมากมายข้อจำกัด เช่น งบประมาณในการพัฒนา เอนจินในการสร้างหรือฮาร์ดแวร์ของมือถือที่มีศักยภาพไม่สูงเท่าแพลตฟอร์มคอนโซลเครื่องใหญ่ ฯลฯ

ซึ่ง “Tales of The Rays” เกมภาคแยกลงมือถือจากซีรีส์ JRPG คู่บุญอย่าง Tales of ของ Bandai Namco นี้ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเกมมือถืออื่นๆ ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบนัก แต่กระนั้น กลับมีส่วนที่เป็นจุดเด่นและกวักมือเรียกแขกได้อย่างดีเยี่ยม คือระบบการควบคุมในฉากต่อสู้ที่ทำออกมาได้มีคุณภาพราวกับพอร์ตมาจากเกมบนเครื่องเล่นคอนโซล และเมื่อผู้เขียนได้คลุกคลีอยู่กับเกมมาได้สักพัก ก็กล้าบอกได้เต็มปากเลยละว่าเกมๆ นี้ “ไม่ควรมองข้าม” เพราะอะไรมันถึงเป็นเช่นนั้น กระผม Lobsterhook ยินดีแถลงไขด้วยบทความรีวิวนี้ครับ 🙂


Story

Tales of แปลตรงตัวได้ว่า ตำนานแห่ง, เรื่องเล่าขานแห่ง (หรืออะไรก็ตามที่ผู้อ่านนึกออกก็ได้ครับ) ซึ่งชื่อดังกล่าวนั้น ไม่ได้ถูกตั้งผ่านๆ เพียงเพื่อโปะบนหน้าปกเกม หากแต่เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้แฟนๆ จดจำ ระลึกถึง และติดตามรอคอยภาคใหม่เสมอมา ด้วยเรื่องราวแต่ละตำนาน (ภาค) ที่มักนำเสนอด้วยธีมของกลุ่มผู้กล้า มิตรภาพ ความรัก และการปลดปล่อยอิสรภาพของโลกจากอำนาจอันชั่วร้าย และมันคงจะตลกจนแปลกตาไปพอสมควรหากเกมในภาคมือถือนี้ไม่มีจุดเด่นตลอดมาของซีรีส์


Yuri ตัวละครเอกจาก Tales of Vesperia ที่โด่งดังเป็นอันดับต้นๆ ของซีรีส์ (รู้ใจแฟนๆ มากด้วยการปลดล็อคให้เล่นได้ตั้งแต่ Chapter 1 ของเกมเลยทีเดียว…)

เรื่องราวโดยคร่าวของ Tales of The Rays นั้น ว่าด้วย Lx Nieve เด็กชายวัย 17 ปี และสาวน้อยวัย 18 ปี อย่าง Mileena Weiss สองผู้กล้าที่ต้องออกเดินทางเพื่อปิดผนึกโลกคู่ขนานใบต่างๆ พร้อมปราบปรามเหล่าศัตรูที่น่าเกรงขามทั้งหลายเพื่อนำความสงบสุขกลับมายัง Tir Na Nog  ดินแดนแห่งแสงอันเป็นโลกที่ทั้งสองได้อาศัยอยู่ ที่ตลอดการเดินทาง Lx และ Mileena จะได้พบเจอเหล่าผู้กล้าจากโลกคู่ขนานมากมายที่คอบสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาให้ภารกิจกู้คืนโลกหลังเดิมใบนี้กลับคืนมาได้สำเร็จลุล่วง


ในบทที่ 9 ผู้เล่นจะได้เจอ Lloyd ตัวละครเอกจาก Tales of Symphonia (ภาคในดวงใจของผู้เขียน) ที่ก็ยังคงเป็นนักดาบผู้รักในความถูกต้องเช่นเดิมด้วยการตามหาเด็กชายวัย 4 ขวบที่หายไปจากหมู่บ้าน

เนื้อเรื่องของเกมจะดำเนินเป็นบทๆ (Chapter) ไป ที่ในแต่ละบทก็ยังถูกซอยย่อยให้เป็นการเล่นภารกิจ 10 – 16 ด่าน โดยนอกจากที่ในแต่ละบทนั้น จะเป็นการค่อยๆ เข้าใกล้เส้นเรื่องหลักของเกมอันว่าด้วยคำถามชวนฉงนว่าเหตุใดอาณาจักรแห่งแสงที่รุ่งเรืองอย่าง Tir Na Nog ถึงได้พังทลายลงไป? ผู้เล่นก็ยังจะได้พบกับเส้นเรื่องรองของแต่ละบทที่เกี่ยวข้องกับตัวละครมากหน้าหลายตาจากซีรีส์ Tales of ทั้งหลาย ที่ส่วนมากจะเป็นการเซอร์วิสแฟนเกมด้วยนำเอาเอกลักษณ์ บุคลิกและลักษณะของแต่ละตัวละครจากแต่ละซีรีส์ มาทำเป็นเรื่องราวสั้นๆ ในแต่ละบท ยกตัวอย่างเช่น  Yuri พระเอกจากภาค Vesperia ยังคงออกตามหาความท้าท้ายหรือคู่ปรับมากฝีมือเช่นเดิม (แม้จะเกิดเหตุการณ์โลกคู่ขนานนี้ก็ตาม…) เป็นต้น


มีคัทซีนมุมกล้องเจ๋งๆ ให้ดูด้วยนะ

แม้ Tales of The Rays จะมีเนื้อเรื่องให้คอยติดตาม แต่ในส่วนดังกล่าวของเกมนี้ กลับถูกขัดจังหวะการเล่าเรื่องด้วยรูปแบบการเล่นของเกม RPG บนแพลตฟอร์มมือถือ ที่ผู้เล่นจะไม่สามารถตามติดเนื้อเรื่องได้อย่างต่อเนื่อง หากแต่ต้องคอยพัฒนาฝีมือและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตัวละครทั้งหลาย เพื่อให้เก่งมากพอที่จะไต่เพดานค่าพลังที่แต่ละบทของเกมกำหนดไว้ครับ แต่หากตัดเรื่องของรูปแบบการนำเสนอเนื้อเรื่องดังกล่าวออกไป เรื่องราวใน Tale of The Rays ก็ถือว่าน่าติดตามในระดับหนึ่ง และหากใครที่ติดสอยห้อยตามซีรีส์นี้มาโดยตลอด (หรือเล่นมาหลายภาคพอสมควรเหมือนผู้เขียน) ก็จะยิ่งรู้สึกสนุกไปกับความคุ้นชินในอุปนิสัยของตัวละครจากแต่ละภาคที่ทั้งสร้างเสียงหัวเราะ และไม้เว้นแม้แต่โมเม้นต์ซึ้งๆ ครับ


Gameplay


เกมเพลย์นี่แหละ จุดเด็ดเผ็ดแสบที่สุดของเกมนี้!

โละภาพเกม RPG บนมือถือที่สักแต่กดรัวๆ ปิดตาเล่นผ่านไปวันๆ ทิ้งได้เลย เพราะ Tales of The Rays นั้น ออกแบบการต่อสู้ในเกม ได้ออกมามีคุณภาพสูงราวดั่งกับเป็นภาคหนึ่งที่ลงให้แพลตฟอร์มเล่นเกมหลักทั้งหลาย (PC, PS4, XB one) แต่ได้ถูกปรับแต่งให้ในส่วนของการบังคับ “ง่ายและสามารถมีชั้นเชิงได้ในคราเดียวกัน” โดยในการบังคับเบื้องต้น หน้าจอซีกซ้ายจะมีหน้าที่ไว้คอยควบคุมการเดินของตัวละครที่เราเลือกบังคับ ส่วนซีกขวาจะมีไว้ใช้ในการบังคับทักษะการตอบโต้กับศัตรูทั้งหลาย อาทิ กดหน้าจอธรรมดาจะเป็นการโจมตีแบบปกติ ไม่กดอะไร/ไม่เคลื่อนไหวจะเป็นการป้องกัน และการตวัดเฉียงทั้ง 4 ทิศ (เฉียงบนซ้าย, เฉียงบนขวา, เฉียงล่างซ้าย และเฉียงล่างขวา) ที่จะเป็นการปล่อยสกิล (เกมซีรีส์นี้จะเรียกว่า Artes) ที่จะมีผลการใช้หลากหลายรูปแบบ (เวทย์มน, เพิ่มพลังชีวิต และโจมตีแบบกายภาพ) ตามแต่อาวุธที่ตัวละครต่างๆ  สวมใส่ และปิดท้ายการใช้ท่าไม้ตาย (Mirrage) ด้วยการตวัดขึ้นตรงหน้าไอคอนตัวละครเมื่อเกจเต็มที่ก็ออกแบบลีลท่าทางได้เท่และยังสามารถหวังผลการใช้งานได้อีกด้วย!

โดยในส่วนการตอบสนอง (Responsive) การบังคับของเกมนั้น ถือว่าทำออกมาได้ลื่นไหลรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งเมื่อได้รวมเข้าวิธีการบังคับเบื้องต้นที่แยก และแบ่งการใช้งานได้อย่างชัดเจน ความสนุกในส่วนนี้ ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ เพราะยิ่งเล่นเกมนี้นานวันเข้า ผู้เล่นก็จะยิ่งได้เรียนรู้เทคนิคการบังคับขั้นสูงจากการรวมของการบังขั้นเบื้องต้นไปโดยปริยาย ทั้งการใช้ Artes ให้ถูกจังหวะเพื่อปัดการป้องกันของศัตรูลง การกะ Hitbox (ช่องการแสดงผลการกระทำของเกม) ให้ตัวละครที่ผู้เล่นบังคับโจมตีศัตรูได้โดยไม่ถูกสวนกลับ การขัดจังหวะการร่ายเวทย์อันตรายของศัตรูด้วยการใช้ท่าไม้ตาย (Mirrage) และอีกหลากหลายเทคนิคที่รอให้ผู้เล่นได้ผสมและคิดค้นมันขึ้นมา! (จนอาจจะลืมไปเลยว่าตัวเกมมีระบบอัตโนมัติให้)

และในเมื่อซีรีส์ Tales of The Rays  ยังคงเป็นเกมแนว RPG ดั่งทุกภาคตลอดมา องค์ประกอบ (Element) หรือกลไกการเล่นของเกมแนวดังกล่าว ก็ยังคงมีอย่างครบถ้วน ทั้ง การวนเก็บเลเวลของตัวละครและสกิลต่างๆ ให้มากพอ การเฟ้นหาอาวุธคุณภาพสูง ฯลฯ เพื่อที่ทั้งหมดทั้งมวลผู้เล่นจะได้ผ่านอุปสรรคหรือศัตรูที่รออยู่ข้างหน้าได้นั่นเอง ซึ่งเมื่อตัวเกมภาคนี้ อยู่บนแพลตฟอร์มมือถือ องค์ประกอบที่กล่าวมาก็จำต้องดัดแปลงให้เข้ากับนานากิจวัตรเกมมือถือ เช่น การเก็บเลเวล ดำเนินภารกิจของเนื้อ หรือตามหาวัตถุดิบที่ใข้ในการอัพเกรดอาวุธ/สกิลนั้น ต้องใช้ค่าพลังงานที่จะเป็นตัวกำหนดให้ผู้เล่น เข้าหา/ทำสิ่งที่ต้องได้อย่างจำกัดครั้ง และหากหมดก็จะต้องค่อยๆ รอจนเต็มหรือตามแต่แต้มที่รูปแบบการหา/ทำนั้นๆ ต้องการ การตามหาอาวุธ และท่าไม้ตายคุณภาพสูงที่จะพบเจอได้จากการเสี่ยงดวงแบบสุ่มหรือคำที่คุ้นชินกันอย่าง “เปิดกาชา” เท่านั้น


อาวุธแรร์ (สีทอง) ออก 5 ชิ้น นั้นหมายความว่ารอบนี้ไม่เกลือนะครับผม!

โชคยังดีที่ในตอนนี้ Tales of The Rays ยังไม่มีโหมดการเล่นเชิงแข่งขัน (Compettive อาทิ โหมด Arena สู้กันเก็บแต้มไต่อันดับ หรือ Raid Boss ใครสร้างความเสียหายมากสุดได้รางวัลดี/เยอะ เป็นต้น) ทำให้ผู้เล่นไม่ต้องคอยหมั่นพัฒนาตัวละครขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อนำไปตั้งรับหรือไล่รุกอันดับใดๆ จะมีก็เพียงแรงดึงดูดด้านความชอบหรือความเป็นติ่ง ที่ผู้เล่นแต่ละคนมีให้กับแต่ละตัวละครของเกมซีรีส์นี้ ซึ่งหากใครไม่ได้ยี่หระส่วนนี้นัก ก็ดูจะไม่ค่อยมีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเติมเงินในเกมนี้เลยสักบาทเดียว เพราะตัวเกมก็มีสารพัดกิจกรรมให้ผู้เล่นได้แต้ม Mirrogems ค่าปัจจัยที่ไว้ใช้ทางลัดด้านต่างๆ ทั้งการเติมค่าพลังงานเพื่อให้เล่นได้ต่อ เพิ่มเนื้อที่ช่องเก็บของ/ไอเทมสำหรับการพัฒนาตัวละคร และการนำไปเปิดกาชาเช่นเดียวกันครับ “หากแต่ต้องแลกมากับความทรหดอดทนในระดับสูง” ฉะนั้น จะเติมหรือไม่ เกมนี้ไม่บังคับครับ


Final Verdict

โดยรวม Tales of The Rays ถือได้ว่าเป็นเกมมือถือที่ทำออกมาได้มีคุณภาพสูงเอามากๆ ทั้งความใส่ใจในการคิดค้นเนื้อเรื่องของเกม การวางบทตัวละครของซีรีส์นี้จากแต่ละภาคที่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์และเอกลักษณ์ของแต่ละตัว “ระบบการต่อสู้ ที่มีการบังคับที่ง่าย ลื่นไหล และยืดหยุ่น” กราฟิกที่ทำออกมาได้ในระดับที่น่าพึงพอใจไม่น่าเกลียดและไม่ทำร้ายฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนมากนัก และโมเดลการขายของเกมที่ไม่บังคับให้ผู้เล่นต้องจำใจควักเงินเสียตังค์ หากแต่ผู้เล่นจะได้เสียเงินให้กับเกมด้วยความเต็มใจเมื่อเห็นว่ามันจำเป็นตามความคิดส่วนบุคคล เป็นต้น เอาเป็นว่าหากใครที่กำลังมองหาเกมมือถือคุณภาพเยี่ยมอยู่ละก็ ไม่แน่ว่า Tales of The Rays อาจตอบโจทย์คุณได้ในระดับสูงก็เป็นได้ครับ