รีวิว Asus Zenbook UX330UA โน้ตบุ๊กอย่างเบา ใช้งานอย่างอึด
Our score
8.1

Asus Zenbook UX330UA

จุดเด่น

  1. หน้าจอละเอียด สีสันสวยงาม
  2. มาพร้อม SSD ในตัว ทำให้ทำงานได้รวดเร็ว
  3. เครื่องเบา แต่จอใหญ่ พกไปใช้ไม่ลำบากชีวิต
  4. ลำโพงเสียงดีมาก ไม่เสียชื่อแบรนด์ Harman/Kardon (แต่เบสไม่เยอะนะ)
  5. แบตเตอรี่ทน เปิดโหมดประหยัดไฟแล้วใช้งานได้ทั้งวัน

จุดสังเกต

  1. ปัญหาโลกแตกของ Windows สำหรับเครื่องที่จอละเอียดมากๆ บางโปรแกรมที่ยังไม่รองรับโหมด High DPI จะแสดงผลเพี๊ยน
  2. ไม่ใช่คอมพิวเตอร์สำหรับเกมเมอร์ เล่นเกมได้ขำๆ
  3. CPU ยังเป็น Gen6 - skylake ไม่ใช้ Gen7 - Kaby Lake
  • คุณภาพตัวเครื่อง

    8.0

  • คุณภาพจอ

    8.5

  • คุณภาพเสียง

    9.0

  • ประสิทธิภาพ

    7.0

  • ความคุ้มค่า

    8.0

มีคนกล่าวไว้ว่าตลาดโน้ตบุ๊กในเมืองไทยนั้นเจริญเติบโตมานานแล้ว ตอนนี้มาถึงยุคที่คนมองหาคอมพิวเตอร์เครื่องที่ 2 เครื่องที่ 3 ของชีวิตกันแล้ว ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กจึงหันมาเน้นผลิตโน้ตบุ๊กกลุ่มที่มีราคาสูงขึ้น ประสิทธิภาพดีขึ้นเน้นเล่นเกม หรือมีลักษณะพิเศษอย่างเบาบาง เพื่อตอบสนองกลุ่มที่ผู้ใช้ที่อยากได้เครื่องคุณภาพดี โดยยอมจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อยครับ ซึ่ง Asus Zenbook UX330UA ก็เป็น Ultrabook ที่ออกแบบมาเน้นการทำงานและพกพาครับ

รูปลักษณ์การออกแบบ

  • ตัวเครื่องบางเบา หนักแค่ 1.2 กิโลกรัม
  • หน้าจอ 13.3 นิ้ว ความละเอียดสูง
  • ฝาหลังดีไซน์อลูมิเนียมขัด โดดเด่น

ดีไซน์ของ Zenbook UX330UA นั้นค่อนข้างโดดเด่นนะครับ ด้วยวัสดุอลูมิเนียมอัลลอยรอบเครื่อง ตัวฝาหลังเองก็ทำลวดลายแบบ Aluminum Brush เป็นวงกลมรอบโลโก้ Asus ก็ทำให้โลโก้ที่อยู่ตรงกลางเด่นขึ้นไปอีก โดยตัวเครื่องมีให้เลือก 3 สี คือเทาและทองสำหรับรุ่นเริ่มต้น และสี Rose Gold สำหรับรุ่นท็อปครับ

มาดูด้านในกันบ้าง โน้ตบุ๊กตัวนี้มีหน้าจอขนาด 13.3 นิ้วแบบด้านเพื่อลดแสงสะท้อนครับ สีสันจึงไม่ได้สดเด้งแบบจอกระจก แต่ก็ยังให้สีสันที่สวยงามครับ ตามสเปกแล้วจอนี้สามารถแสดงสีสันได้ครบ 100% ของขอบเขตสีพื้นฐาน sRGB ก็ถือว่าเอาไปใช้งานออกแบบได้ไม่น่าเกลียด แล้วเพราะเป็นจอแบบ IPS ทำให้ได้มุมมองภาพกว้างพอที่จะมองมุมไหนสีก็ไม่เพี๊ยนด้วย ที่น่าสนใจคือ UX330UA นั้นมีความละเอียดจอให้เลือก 2 แบบนะครับคือ 1920 x 1080 หรือ Full HD สำหรับรุ่นเริ่มต้น และตัวท็อปจะใช้จอความละเอียด 3200 x 1800 หรือ QHD ซึ่งรุ่นที่เราได้มารีวิวก็คือตัวท็อป ใช้จอความละเอียดสูงนี่แหละครับ

ด้านใต้เครื่อง Zenbook UX330UA นั้นมีแค่ช่องลำโพง 2 ช่องด้านหน้าเท่านั้น ไม่มีช่องเปิดเปลี่ยนแบต หรือช่องเจาะให้เปลี่ยนแรม เปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ได้ง่ายๆ ก็ตามสไตล์ของ Ultrabook แหละครับที่ไม่เน้นให้ผู้ใช้เปลี่ยนอุปกรณ์ภายในเอง

สุดท้ายที่ดีงามคือน้ำหนักครับ เครื่องจอ 13.3 นิ้ว แต่บางแค่ 13.5 mm และหนักแค่ 1.2 กิโลกรัมเท่านั้น อแดปเตอร์ก็ตัวเล็กนิดเดียว พกพาได้สะดวกชีวิตมากครับ

คีย์บอร์ดและแทร็กแพด

  • คีย์บอร์ดแบบ Chiclets พร้อมไฟ backlit
  • Trackpad ขนาดใหญ่ ใช้งานได้ดี แต่ก็ยังไม่เนียนเท่าแมค
  • ปุ่มเปลี่ยนภาษาในคีย์บอร์ดเล็กไปนิด

ในส่วนของคีย์บอร์ดนั้นเป็น Chiclets Keyboard ตามสมัยนิยมครับ มีไฟ backlit ใต้คีย์บอร์ดให้ใช้ในที่มืดได้ง่ายๆ ด้วย ซึ่งแอดพิมพ์บทความรีวิวทั้งหมดบนเครื่อง Zenbook ตัวนี้ ก็พิมพ์ได้คล่องดีครับ ตำแหน่งแป้นได้มาตรฐาน ยกเว้นแป้นเปลี่ยนภาษาตรงมุมบนซ้ายที่ปุ่มเล็กกว่าปกติหน่อย ทำให้บางทีก็กดไม่โดน แล้วก็ตัวคีย์บอร์ดมีระยะกดแป้นลึกพอสมควรเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กรุ่นบางอื่นๆ อย่าง Macbook ก็ทำให้ต้องใช้แรงกดปุ่มเยอะหน่อยสำหรับคนที่ชินคีย์บอร์ดบางๆ อย่างแอดครับ

ในขณะที่ Trackpad ถือว่าให้พื้นที่ได้กว้างขวางครับ ลากเมาส์ไปทั่วจอได้ไม่ติดขัด สัมผัสของการใช้แทร็กแพดถือว่าดี เหมือนกำลังลากนิ้วอยู่บนโลหะลื่นๆ ผู้ใช้สามารถกดคลิกที่ตัวแทร็กแพดได้เลยเหมือนโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ แต่ไม่ได้กดลึกลงไปได้ทุกจุดนะครับ ส่วนบนๆ จะกดลงไปไม่ได้ สามารถแตะ 4 นิ้วพร้อมกันเพื่อเรียก Action Center หรือแตะ 4 นิ้วแล้วลากเพื่อสลับหน้า desktop ได้ด้วย

แต่ที่วินโดวส์ยังทำเนียนสู้แมคไม่ได้สักทีคือรายละเอียดในการใช้ Trackpad ที่เวลาใช้งานเร็วๆ ระบบจะคิดว่าการแตะ 2 ครั้งเป็นการลากหน้าต่างบ้าง หรือกำลังใช้ 2 นิ้วเลื่อนหน้าเว็บอยู่ ก็ไปติดเป็นการใช้นิ้วย่อ-ขยายหน้าเว็บแทน ก็ต้องเข้าไปปิดฟังก์ชั่นเหล่านี้ใน control panel ก็จะใช้งาน Trackpad ได้ง่ายขึ้นครับ

พอร์ตและลำโพงของเครื่อง

  • พอร์ตมีครบทุกพอร์ตที่คนส่วนใหญ่ต้องการ (ยกเว้นพอร์ต LAN ที่ไม่มี)
  • ลำโพงให้เสียงดีงามน้ำตาไหล
  • แต่ไม่มีเสียงเบสมากนักเป็นเรื่องปกติ

เห็น Asus Zenbook UX330UA เครื่องบางๆ แบบนี้ แต่มีพอร์ตที่จำเป็นครบถ้วนนะครับ ไม่บ้าตัดพอร์ตเหมือนฝั่งแอปเปิ้ลเค้า

  • USB 3.0 – 2 พอร์ต
  • USB-C 3.1 Gen 1 – 1 พอร์ต
  • Micro HDMI
  • ช่องอ่าน SD Card
  • ช่องเสียบหูฟังและไมค์ในช่องเดียว
  • ช่องเสียบสายไฟแบบหัวกลม

การที่ Zenbook รุ่นนี้มาพร้อม USB-C เรียบร้อยก็ทำให้รองรับอุปกรณ์เสริมรูปแบบใหม่ๆ ที่จะออกมาในอนาคตได้ทันทีครับ แต่ก็ยังมีช่อง USB แบบดั้งเดิมเพื่อรองรับอุปกรณ์ที่เราเคยมีด้วย

อีกเรื่องที่ดีงามของ Zenbook UX330UA คือลำโพงครับ แปะชื่อ harman/kardon ไว้หน้าเครื่องก็เชื่อว่าเสียงน่าจะดี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นครับ เสียงที่ออกจากเครื่องนี้สดใส กังวาลมาก ไม่ต้องเป็นนักฟังเพลงหูเทพ ฟังผ่านๆ ก็รู้ว่าลำโพงดีกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป แต่เครื่องเล็กแบบนี้ ลำโพงก็ดอกเล็กนะครับ เรื่องเบสอาจจะมีน้อยหน่อยเป็นเรื่องธรรมดา

สเปกและประสิทธิภาพเครื่อง

  • เครื่องเร็วใช้งานในชีวิตประจำวันได้สบายๆ เพราะ CPU เร็วและ SSD เร็ว
  • เล่นเกมทั่วๆ ไป หรือเกมที่เก่าหน่อยได้
  • แต่ CPU ยังเป็นรุ่นที่แล้ว ไม่ใช่ Gen 7 รุ่นปัจจุบัน

Asus Zenbook UX330UA นั้นวางจำหน่าย 2 สเปกนะครับ คือ

  • รุ่นเริ่มต้นใช้ Intel Core i5 รหัส Skylake พร้อม SSD 256 GB และหน้าจอความละเอียด 1920 x 1080 pixel
  • รุ่นท็อป (เราได้รีวิวรุ่นนี้) ใช้ Intel Core i7 รหัส Skylake พร้อม SSD 512 GB และหน้าจอความละเอียด 3200 x 1800 pixel

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่เหมือนกันคือมีแรม 8 GB แบบ DDR3, ชิปกราฟิก Intel HD Graphics 520 รองรับไวไฟมาตรฐาน 802.11AC มาพร้อม Windows 10 64-bit และลำโพง Harman/kardon แบบเดียวกันครับ

ซึ่งการทดสอบประสิทธิภาพได้ผลดังนี้

ทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกกับ 3Dmark

ต้องออกตัวก่อนเลยว่า Asus Zenbook UX330UA นั้นไม่ได้ออกแบบมาเน้นการเล่นเกมเลยครับ ชิปกราฟิกก็มีอยู่ตัวเดียวคือ Intel HD Graphic 520 ซึ่งประสิทธิภาพก็ไม่ได้มากมายอะไร เมื่อเอาไปเทสกับการทดสอบสุดโหดอย่าง Time Spy และ Fire Strike ของชุด 3Dmark จึงได้คะแนนในหลักร้อยอย่างที่เห็น

แล้วเราจะเอา UX330UA ไปเล่นเกมไหวไหม ก็บอกว่าว่าเล่นได้ครับ ถ้าไม่ได้ปรับความละเอียดภาพในเกมให้ละเอียดเกินไป ปรับสัก 1920 x 1080 พิกเซลก็พอ (สำหรับรุ่นท็อป หน้าจอละเอียดนะ) แล้วก็ปรับเอฟเฟกในเกมให้ต่ำหน่อย แอดทดลองเล่นเกม Resident Evil Revelations ที่ไม่เก่า ไม่ใหม่มาก ก็เล่นได้ลื่นๆ ยิงซอมบี้เพลินๆ นะครับ

ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องโดยรวมกับ PCmark 8

PCmark เป็นการทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องนะครับ ซึ่งเราทดสอบในโหมด Home accelerated ที่จำลองการใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไปในบ้าน ก็ได้มา 2,853 คะแนน ถือว่าใช้งานทั่วไปได้ชิวๆ ครับ ท่องเว็บ พิมพ์งาน อะไรพวกนี้ลื่นหมด

ทดสอบความเร็ว SSD

Zenbook UX330UA นั้นดีงามตรงที่ใช้ SSD มาเลยตั้งแต่ต้น ทำให้บูตเครื่อง เปิดโปรแกรม และทำงานทั่วๆ ไปได้เร็วมาก ซึ่งเราใช้ CrystalDiskMark วัดประสิทธิภาพของ SSD ที่อยู่ในเครื่องออกมา ก็ได้ความเร็วในระดับกลางๆ ครับ ไม่ได้เร็วจี๋เหมือนเครื่องระดับ Workstation แต่ก็ยังเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์จานหมุนปกติมาก ซึ่งข้อมูลจาก CrystalDiskMark อ่านได้ดังนี้

  • Seq Q32T1 คือเขียนข้อมูลต่อเนื่องชุดละ 128 KB ทำงานพร้อมกันหลายหน่วยประมวลผล ก็ทำความเร็วในการอ่านได้ 544.4 MB/s และเขียน 486.6 MB/s
  • 4K Q32T1 เขียนข้อมูลชุดละ 4 KB แบบสุ่มไปทั่วทั้งดิสก์ โดยทำงานพร้อมกันหลายหน่วยประมวลผล อันนี้ความเร็วจะต่ำลงหน่อย เพราะไม่ได้เขียนต่อเนื่อง โดยอ่านได้ 263.7 MB/s และเขียนได้ 264.6 MB/s
  • Seq เขียนข้อมูลต่อเนื่องชุดละ 1 MB ทำงานแค่หน่วยประมวลผลเดียว อ่านได้ 464.2 MB/s และเขียนได้ 422.5 MB/s
  • 4K เขียนข้อมูลชุดละ 4 KB แบบสุ่มไปทั่วทั้งดิสก์ ทำงานแค่หน่วยประมวลผลเดียว ซึ่งทำงานยากที่สุด อ่านได้ 13.84 MB/s และเขียนได้ 72.20 MB/s

สรุป Asus Zenbook UX330UA โน้ตบุ๊กสำหรับทำงาน

จุดเด่นของ Zenbook รุ่นนี้คือขนาดหน้าจอใหญ่ 13.3 นิ้ว แต่ดันหนักแค่ 1.2 กิโลกรัมครับ ซึ่งตรงข้ามกันสุดๆ เมื่อรวมกับประสิทธิภาพเครื่องที่จัดว่าดีเลยทั้ง CPU และ SSD ช่วยให้เครื่องทำงานได้เร็ว และอายุแบตเตอรี่ที่อยู่ได้ยาวราวๆ 10 ชั่วโมง (ต้องเปิดโหมดประหยัดพลังงานช่วยด้วยนะ) ก็ทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานทั้งวัน

Zenbook UX330UA จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่มองให้โน้ตบุ๊กสำหรับใช้ในงานชีวิตประจำวัน ไม่เป็นภาระในการแบกมาก และราคาไม่สูงจนเกินไปครับ

ราคา

  • รุ่นเริ่มต้นใช้ Intel Core i5 รหัส Skylake พร้อม SSD 256 GB และหน้าจอความละเอียด 1920 x 1080 pixel ราคา 34,990 บาท
  • รุ่นท็อปใช้ Intel Core i7 รหัส Skylake พร้อม SSD 512 GB และหน้าจอความละเอียด 3200 x 1800 pixel ราคา 43,990 บาท