[Review] Gravity Rush 2: เกมเพลย์ดีงามถูก “โน้มถ่วง” ด้วยเนื้อเรื่องมึนงง
Our score
8.4

Gravity Rush 2

จุดเด่น

  1. เกมเพลย์แปลก! สดใหม่! สนุก!
  2. เควสเสริมแต่ละอันมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง
  3. อย่าให้ความเป็น Cel-Shaded มันหลอกตา เพราะกราฟิกนั้นสวยกว่าที่คิด!
  4. นัยแฝงของเกมถ่ายทอดออกมาได้ดี
  5. สกอร์เพลงเพราะแบบนี้เอาใจพี่ไป!!

จุดสังเกต

  1. เนื้อเรื่องไม่เป็นมิตรกับผู้ที่เริ่มเล่นภาคนี้เป็นภาคแรก (ต้องเล่นภาค1 มาก่อนและได้ดูอนิเมะฉบับภาพยนตร์อีก 2 ตอนถึงจะเข้าใจพลอตเรื่องของเกมทั้งหมด)
  2. อาจต้องปรับตัวกับการควบคุมในเกมอยู่พอสมควร
  3. เฟรมเรตตกเมื่อเจอศัตรูเป็นจำนวนมาก
  4. ระบบล็อคเป้าศัตรูและมุมกล้องภายในเกมอาจทำให้คุณหงุดหงิด, มึนเมาได้
  • กราฟิก

    8.0

  • เกมเพลย์

    8.5

  • ความแปลกใหม่

    9.0

  • ความคุ้มค่า

    8.0

  • ภาพรวม

    8.5

SIE Japan Studio คือชื่อของทีมพัฒนาเกมที่อยู่เบื้องหลังผลงานไอเดียสุดสร้างสรรค์มากมายหนำซ้ำยังอยู่คู่บุญกับเครื่องเล่นเกมของทางฝั่ง SONY มาเป็นระยะเวลากว่า 23 ปี คอยผลิตเกมคุณภาพเกรดพรี่เมียมออกมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เกมต้นกำเนิดของซีรีส์ผู้กล้าหัวร้อนผิงกองไฟอย่าง Demon’s Souls (พ่อของเกมตระกูล Dark Soul นั่นเอง), ทหารจิ๋วรับคำสั่งเพียงเสียงกลองอย่าง Patapon ,เพื่อนซึ้งสองสายพันธ์ที่ใช้เวลาพัฒนาถึง 10 ปีอย่าง The Last Guardian (มีรีวิวในเว็บด้วยนะลองตามไปอ่านได้เลย) ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่ง “Gravity Rush 2” นั้น คือผลงานเกมภาคต่อชิ้นล่าสุดของพวกเขาที่ยังคงไว้ซึ่ง “เกมเพลย์อันแปลกใหม่” อันเป็นเอกลักษณ์ของทีมพัฒนาอยู่เช่นเคย แต่ภาพรวมทั้งหมดจะดีหรือไม่? ตามอ่านต่อได้ที่รีวิวนี้ได้เลยครับผม 🙂


 

 

ผู้เขียนจะขอเล่าเรื่องราวที่ผู้เขียนจับต้นชนปลายได้ก่อนนั่นก็คือช่วงแรกของเกม เพราะช่วงกลาง-ท้ายเกม ผู้เขียนค่อนข้างมึนกับเนื้อเรื่องอยู่พอสมควรเลยทีเดียวอารมณ์ประมาณแบบ “อย่างนี้ก็ได้หรอวัยรุ่น?”  

ผู้เล่นจะยังคงรับบทเป็น Kat สาวน้อยน่ารักพอดีคำตัวเอกคนเดิมจากภาคแรก ที่มีพลังสามารถควบควบคุมแรงโน้มถ่วงได้อย่างใจนึก โดยเนื้อเรื่องในภาค 2 จะสานต่อจากตอนจบของภาคแรกเป็นระยะเวลา 1 – 3 ปีให้หลังที่ Kat และเพื่อนของเธอทั้งสอง Raven และ Syd ได้ช่วยกันปกป้องนครลอยฟ้า Hekseville จากบรรดาสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า Nevi และ D’nelica ตัวร้ายหลักในภาคแรกได้สำเร็จ ทำให้ผู้คนในเมืองยกย่องเธอและตั้งฉายาให้ว่า “Gravity Queen” แต่แล้วโชคชะตาก็ดันเล่นตลกกับฮีโร่ทั้งสาม เพราะพวกเขาก็ได้ถูกพายุแรงโน่มถ่วง (Gravity Storm) ดูดเข้าไปและพาพวกเขาโผล่ไปยัง Banga Village หมู่บ้านลอยฟ้าที่ยึดอาชีพนักขุดเหมืองกันเป็นหลัก ซึ่งเรื่องราววุ่นวาย อลหม่านต่างๆ ในภาค 2 ก็ได้เริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้

Banga Village สถานที่เริ่มต้นของเกมครับผม

หมดละโควตาเนื้อเรื่องที่เรียบเรียงได้ เพราะเนื้อเรื่องในช่วงกลาง – ท้ายนั้น ตัวเกมได้ดำเนินเรื่องราวไปเชื่อมโยงกับภาคแรกอยู่หลายจุดครับ ไม่ว่าจะเป็นการได้พบปะกับตัวละครในภาคเก่า เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในภาคเก่า Lore ที่สืบสานมาจากภาคเก่า ฯลฯ ซึ่งใครที่ไม่เคยได้เล่นภาคแรกมาก่อน ตรงจุดนี้จะทำให้ผู้เล่นถึงกับติดอาการสตั้นท์ได้เลยทีเดียว แต่อาการมึนงงในเนื้อเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้เล่นหน้าใหม่เท่านั้น เพราะตัวเกมได้จั่วปริศนาในเนื้อเรื่องเข้ามาให้ผู้เล่นหน้าใหม่และเก่าได้มึนตึ้บต่อ แถมยังไม่เคลียร์ให้มันจบไป ราวกับจะเป็นการปูทางไปให้ผู้เล่นไปตามต่อในภาค 3 หรือ DLC ที่อาจจะมีในอนาคต

ตรงจุดนี้ผู้เขียนไม่ชอบอย่างรุนแรง เพราะผู้เขียนคิดว่าการเป็นภาคต่อในสื่อรูปแบบภาพยนตร์หรือเกม มันไม่ควรทิ้งหน้าที่ให้เราไปปะติดปะต่อเรื่องราวจากภาคเดิมๆ ทั้งหมด แต่ควรหาจังหวะบอกเล่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้น อาจจะเป็นบทสนทนา (ที่ไม่เวิ่นเว้อ) หรือการ flashback แบบเบาๆ  หรือไม่งั้นก็จบเส้นเรื่องหลักของภาคๆ นั้นไปเลยก็ได้ และทิ้งเส้นเรื่องรองที่ไม่ต้องการความเข้าใจแบบมโหฬารนัก (ยกตัวอย่างซีรีส์เกม Uncharted ที่หยอดความสัมพันธ์รักๆ ใคร่ๆ ของตัวเอกและนางเอกในทุกภาคแบบทีละนิด เป็นต้น) เท่านี้ก็จะพอตามติดเนื้อเรื่องที่สานต่อกันอยู่ได้ระดับหนึ่งโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยผู้เล่น/คนดู

เห็นเยอะๆ แบบนี้สองตัวสีขาวฝั่งขวาคือตัวละครใหม่ในภาคนี้นะวัยรุ่น

แม้ผู้เขียนจะบ่นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักเยอะพอสมควร แต่กระนั้นภารกิจเสริมก็ทำออกมาอย่างตั้งใจ ด้วยรูปแบบการเล่นในส่วนนี้ที่ไม่ซ้ำกันและมีเรื่องราวเล็กๆ ที่บ้างก็ละมุน บ้างก็เศร้าเหงาจบในภารกิจนั้นๆ ไป ซึ่งแม้รางวัลที่ได้ผู้เล่นจะไม่รู้ว่าเป็นอะไร? หรือคุ้มค่าไหม? แต่อย่างน้อยเรื่องราวๆ เล็กๆ จบในตอนนี้เหล่านี้ก็ดึงดูดเราให้เล่นภารกิจเสริมทั้งหลายได้พอสมควรเลยนะ และไหนจะนัยแฝงของเกมนี้ที่ “โดนใจ” และถูกจริตผู้เขียนพอสมควร ด้วยการที่เล่นกับประเด็นที่ละเอียดละอ่อนอย่าง “ชนชั้นทางสังคม, จริยธรรมหรือมนุษยธรรม” ที่ทำออกมาได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียวล่ะ

หลายครั้งในภารกิจเสริมและหลัก ผู้เล่นจะได้รับฟังบทสนทนาอันเหนื่อยยากของชาวเมืองที่ถูกรังแกทางด้านความเป็นอยู่ด้วยกลุ่มผู้คนที่ปกครองเมือง ในขณะที่บทสนทนาของกลุ่มคนรวยก็จะไร้แก่นสาร และพรรณนาแต่ความสุขสบายที่ตนมี แต่ที่ดูจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้ที่สุดคือการที่ผู้เล่นจะต้องตัดสินใจในตัวเลือก “สีเทาๆ” ของภารกิจต่างๆ เช่น ในภารกิจหนึ่งผู้เล่นจะต้องเลือกว่าจะนำถึงเชื้อเพลิงนี้ไปให้กับชาวเมืองมีอันจะกินที่อาศัยอยู่บน“จุดสูงสุดของฟากฟ้า” ตามคำขอของเขาที่จะนำเชื้อเพลงดังกล่าวไปเผาเล่นในงานปาร์ตี้ หรือจะแอบเอาเชื้อเพลิงไปมอบให้กับชาวสลัมที่อยู่ “ชั้นล่างสุดเห็นเมฆเพียงริบตา” เพื่อที่พวกเขาจะได้มีไฟไว้ใช้ในการประกอบอาหารกินไปวันๆ โดยทั้งสองพื้นที่นี้นั้นถูกเสริมอารมณ์ร่วมด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น หรือเอาง่ายๆ คือภารกิจในเกมนั้นไม่แบนราบ ไม่ใช่แค่การหาของเพื่อแลกกับรางวัล แต่มันมีเหตุผลและเรื่องราวๆ เล็กที่น่าติดตาม จนบางครั้งผู้เขียนก็สนใจเรื่องราวของภารกิจเสริมว่าจะเป็นอย่างไรมากกว่าลุ้นว่าได้รางวัลตอบแทนอะไรเสียอีก


เกมเพลย์คือส่วนที่ “ดีงามโคตรๆ” ที่ตีคู่มากับนัยแฝงและภารกิจเสริมของเกมเลยทีเดียว แรกเริ่มที่ผู้เขียนเห็นเพียงหน้าปกของเกมนี้นั้นก็มีคำถามขึ้นมาในหัวแบบเหยียดๆ ว่า “จะสนุกหรอ?” แต่เมื่อตัวเกมได้ดำเนินเรื่องเข้าสู่โหมดฝึกสอนผู้เล่น (tutorial) เท่านั้น ผู้เขียนก็พบว่าเกมเพลย์แม่ง “เจ๋ง***!” จริงๆ ไม่ได้อวยนะวัยรุ่น!

ฉายา Gravity Queen ของน้อง Kat พอดีคำนั้นไม่ได้มาเพียงปากเปล่าจริงๆ เพราะเธอสามารถ “ควบคุมแรงโน้มถ่วงได้อย่างใจนึก” ทั้งการลอยค้างหรือเคลื่อนที่บนอากาศที่ให้อิสระกับผู้เล่นได้ลอยเลาะไปยังแต่ละพื้นที่ของเกมเพื่อตามเก็บสิ่งของต่างๆ

ทางด้านการต่อสู้นั้น Kat ก็จะมีความสามารถในการต่อสู้ภาคพื้นปกติสามัญตามเกมแอ๊กชั่นทั่วไป แต่สำหรับเกมนี้นั้นมันไม่ได้ซับซ้อนและไม่หวือหวาอะไรมาก ไม่สิ ต้องบอกว่า “เฉยๆ ไปจนถึงจืดชืดเลยดีกว่า”  เพราะแม้ในช่วงท้ายของเกมจะมีสิ่งเสริมให้เน้นการต่อสู้ภาคพื้นดิน แต่มันก็ยังเก้ๆ กังๆ แบบแปลกๆ กลับกันกับการต่อสู้กลางอากาศนั้น “สดใหม่และสนุกมากกกก” ผู้เล่นจะต้องเคลื่อนที่ไปมากลางอากาศที่ไร้ซึ่งขอบเขตใดๆ (ผู้เขียนเล่นมายังไม่เจอ Invisible Wall นะ) เพื่อหาจุดอ่อนของศัตรูที่แตกต่างกันในแต่ละตัวและเข้าโจมตีด้วยลูกถีบสูญญากาศ อีกทั้งในช่วงท้ายของเกมก็จะมีสิ่งเสริมให้การต่อสู้/เคลื่อนไหวบนอากาศสนุกเข้าไปอีก! หรือถ้าไม่อยากมือเท้าเปื้อนเลือด Kat ก็สามารถนำสิ่งของในฉากมาใช้เป็นการโจมตีระยะไกลได้ ซึ่งผู้เล่นจะใช้ปราบศัตรูด้วยวิธีไหนนั้นก็แล้วแต่ความเพลิดเพลินที่ผู้เล่นมีให้ในการเล่นแล้วล่ะ

และแน่นอนว่าเกมในสมัยนี้ระบบที่จะขาดไม่ได้คือระบบอัพเกรด โดยใน Gravity Rush 2 นั้นจะมีหมวดหมู่ให้อัพเกรดใหญ่ๆ อยู่เพียง 6 หมวด ซึ่งก็ไม่ได้มีการอัพเกรดที่ยุ่งยากอะไร และก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องอัพเกรดให้เต็ม เพราะตัวผู้เขียนเองเล่นจบด้วยการอัพเกรดสกิลเพิ่มเติมเพียง 7 – 8 สกิลเท่านั้น ในส่วนนี้ผู้เขียนรู้สึกโอเคอยู่พอสมควร เพราะไม่ได้เป็นการบังคับให้ผู้เล่นต้องตะบี้ตะบันฟาร์มมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไอเทมส่วมใส่หลายชิ้นที่หาได้ตลอดทั้งเกมนั้นก็ช่วยเสริมค่าพลังต่างๆ ให้กับผู้เล่นอยู่แล้ว ซึ่งแม้จะไม่ได้มากมายแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

แต่แน่นอนครับไม่มีอะไร “เพอร์เฟค” เพราะแอ๊กชั่นที่แปลกใหม่นั้นมาพร้อมกับการบังคับที่ต้องใช้เวลาในการคุ้นชินอยู่พอสมควร ซึ่งบอกเลยว่ากว่าที่ผู้เขียนจะเล่นจบได้นั้น ก็มีหลายช่วงเหมือนกันที่หัวร้อนปิดเกมไป เพราะในหลายภารกิจนั้นก็ต้องการเคลื่อนไหวหรือควบคุมตัวละครที่เข้ามือในระดับ “กลาง-สูง” อีกทั้งระบบล็อคเป้าในเกมนี้ ผู้เล่นไม่สามารถเลือกเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งในบางครั้งศัตรูกวนประสาทที่ต้องปราบเป็นตัวแรก มันก็ยังอยู่สร้างความรำคาญให้ผู้เล่นอย่างนั้นจนเราต้องไปตบมันเป็นตัวสุดท้าย และมุมกล้องของเกมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะในหลายครั้งมุมกล้องที่เกมให้มา ก็ชวนวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม และฆ่าผู้เล่นอย่างไม่ได้ตั้งใจในหลายภารกิจ


ในยุคหนึ่งที่หลายเกมนั้นสร้างมาจากอนิเมะ กราฟิกรูปแบบ Cel-Shaded ก็ได้ถูกนำมาใช้จนล้นตลาด (เกมของค่าย Bandai นี่เพียบเลยวัยรุ่น) ซึ่งความสวยงามก็มักจะออกมาในระดับที่ “พอดูได้ไปจนถึงแย่” จะมีก็เพียงไม่กี่เกมเท่านั้นที่สวยจริงๆ (Borderland เป็นต้น) หรือถูกอุ้มด้วยองค์ประกอบอื่น (NARUTO SHIPPUDEN: Ultimate Ninja STORM 4 มีเกมเพลย์ที่สนุกมากเลยนะ ลองซื้อมาเล่นกันดูสิ) แต่สำหรับ Gravity Rush 2 นั้นผู้เขียนต้องบอกเลยครับว่า “สวยใช้ได้เลยทีเดียว” 

แสงและเงาตามฉากของเกมนั้นทำออกมาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ที่ดูจะต้องชื่นชมที่สุดในหมวดหมู่ประสิทธิภาพคืองานด้าน “รายละเอียด” ที่เราจะได้เห็นพื้นผิวต่างๆ ทั้ง สภาพแวดล้อม, อาคารก่อสร้าง, สิ่งของประกอบฉาก ฯลฯ ที่มีมิติ ไม่ด้านเป็นกระดานหน้าเดียว แต่กระนั้น NPC ภายในเกมกลับมีแสงเงาที่แข็ง และมีความหลากหลายเพียงแค่สีผม, สีเสื้อเท่านั้น ต่างกับตัวละครเอกต่างๆ ภายในเกมที่ไล่แสงเงาและรายละเอียดได้อย่างดี (ก็แหงล่ะ ตัวละครเอกนี่หน่า) อ้อแล้วก็ขอแทรกนิดหน่อยครับ เกมมีปัญหาเฟรมเรตกบ้างในเวลาที่เจอกับศัตรูเป็นจำนวนมากๆ แต่อาการดังกล่าวก็มีแบบประปรายไม่เยอะสักเท่าไหร่

ทางด้านดนตรีประกอบฉากก็ดีไม่แพ้กัน ด้วยกลิ่นอายดนตรีของแจ๊ส (หรือเปล่า? พอดีผู้เขียนไม่ค่อยเก่งเรื่องนี้สักเท่าไหร่) ที่ชูโรงผสมเข้ากับจังหวะเพลงแนวป๊อบร่วมสมัยก็ได้ขับส่งให้ผู้เล่นได้เพลิดเพลินไปกับการล่องลอยบนฟากฟ้าไร้สูญญากาศภายในเกม แถมยังแอบรู้สึกหรูหราเบาๆ อีกต่างหาก ฮ่าๆ

Play video

กดฟังดูเลยวัยรุ่น เพรานะจะบอกให้!


โดยรวมแล้วนั้น Gravity Rush 2 ถือว่าเป็นเกมที่สามารถสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เล่นได้ดีในระดับหนึ่ง ด้วยเกมเพลย์ที่สดและแปลกใหม่ ที่มากพอจะดึงดูดให้ผู้เล่นได้ร่วมเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ ภายในเกมและสามารถวกกลับมาเล่นใหม่ได้ตลอด แต่กระนั้นหากใครที่เป็นเกมเมอร์สายเนื้อเรื่อง เกมนี้อาจไม่เหมาะกับคุณสักเท่าไหร่ เพราะในบรรดาสารพัญปัญหาดีร้ายที่กล่าวมาทั้งหมด เนื้อเรื่องหลักของเกมนี้คือจุดที่ด้อยกว่าเพื่อน แต่ก็ใช่ว่าในส่วนของการบอกเล่าเรื่องราวจะแย่ไปซะทั้งหมด เพราะภารกิจเสริมและนัยแฝงภายในเกมก็ถูกทำออกมาอย่างละมุน และกราฟิกที่ไม่ได้ทำแบบขอไปทีเหมือน Cel-Shaded เกมอื่นๆ อีกทั้งดนตรีประกอบฉากสไตล์ป๊อบ-แจ๊สก็จรรโลงหูผู้เล่นได้ดีอยู่นะ ซึ่งด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นยังไงซะ Gravity Rush 2 ก็ยังอยู่ในหมวดหมู่เกมดีมีคุณภาพตามสไตล์เกม Exclusive อยู่ดีนั่นแหล่ะ