[Review] Tales of Berseria: เนื้อเรื่องมืดหม่นผสมเกมเพลย์เรียบง่ายแต่ดุดัน
Our score
8.0

Tale of Berseria

จุดเด่น

  1. เนื้อเรื่องน่าติดตาม (มาก)
  2. ตัวละครเอกหลายตัวมีเสน่ห์และน่าค้นหา
  3. ระบบการต่อสู้เข้าใจง่ายและสนุก!
  4. มีองค์ประกอบ (element) ของความเป็น RPG ต่างๆ ที่ลงตัว

จุดสังเกต

  1. กราฟิกดูล้าสมัยไปหนึ่ง Gen (อาจเพราะยังทำลงให้กับ PS3 ด้วย)
  • กราฟิก

    7.0

  • เกมเพลย์

    8.5

  • ความแปลกใหม่

    8.0

  • ความคุ้มค่า

    8.5

  • ภาพรวม

    8.0

จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้เห็นซีรีส์เกม RPG ของชาติญี่ปุ่นมากมายล้มหายตายจากไป บ้างก็หมดอายุขัยไปตามกาลเวลา (ตระกูล Chrono ที่หยุดอยู่ที่ภาค Cross เป็นต้น) บ้างก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวตนให้เข้ากับเกมเพลย์ร่วมสมัย (ตระกูล Final Fantasy ตั้งแต่ภาค XII เป็นต้นมา และ Suikoden เป็นต้น) ฯลฯ ทำให้ในปัจจุบันเกม JRPG ขนานแท้จึงมีมีเพียงไม่กี่ซีรีส์เท่านั้นที่ยังอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ได้ ซึ่งตระกูล Tales ก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้รอดชีวิตที่ยังหลงเหลืออยู่ในตอนนี้และยังคงส่งภาคล่าสุดออกมาอย่าง Tales of Berseria โดยในภาคล่าสุดนี้นั้น ผู้เขียนกล้าบอกได้เลยครับว่ามันคือการ “ปฏิวัติครั้งสำคัญ” ของเกมซีรีส์นี้เลยทีเดียว แต่มันจะเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหนน่ะหรือ? เชิญหาคำตอบได้ในบทความรีวิวนี้ได้เลยครับผม 🙂


**มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเนื้อเรื่อง**

Tales of Berseria ได้ใช้จักรวาลเดียวกันกับภาค Zestiria แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนภาค Zestiria และมีตัวละครบางตัวเกี่ยวข้องกัน โดยในภาคนี้ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครเอกที่เป็น “ผู้หญิง” มีนามว่า Velvet Crowe ออกตามล้างแค้น Artorius “Arthur” Collbrande ชายผู้ถือศักดิ์เป็นพี่เขยของ Velvet และ Laphicet น้องชายคนสุดท้ายของตระกูล Crowe ซึ่งเขาเคยได้แต่งงานกับ Celica พี่สาวของพี่น้องทั้งสองที่เธอได้เสียสละชีวิตของตนเองเพื่อช่วยชีวิต Arthur จากเหตุการณ์บุกโจมตีของเหล่าปีศาจ (Daemonblight) ที่หมู่บ้านของพวกเขาในคืนพระจันทร์สีเลือด (Scarlet Night) โดยหลังจากผ่านโศกนาฎกรรมดังกล่าวมาได้ 3 ปี Arthur ก็ได้ลงมือฆ่า Laphicet น้องชายผู้เป็นความหวังเดียวในการดำรงชีวิตอยู่ของ Velvet ในคืนพระจันทร์สีเลือด เพื่อใช้เป็นเครื่องบูชายัญเพื่อที่ตัวเขาจะได้รับพลังอัน “ศักสิทธิ์” จากพิธีกรรม “จุติ” (Advent) ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว Velvet ได้พยายามช่วยเหลือน้องชายของเธออย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางสิ่งใดได้ อีกทั้งแขนซ้ายของเธอยังถูกครอบงำด้วยพลังปีศาจและส่งผลให้เธอกลายสภาพเป็น Therion ปีศาจหมวดหมู่แข็งแกร่งที่ดำรงชีวิตได้ด้วยการดูดกลืนปีศาจตัวอื่นเท่านั้น Velvet จึงใช้พลัง “ด้านมืด” ที่ได้มา ออกตามล้างแค้นบุรุษผู้ที่เธอเคยไว้ใจและเคารพรักที่สุด พร้อมสหายร่วมเดินทางที่พบปะระหว่างการผจัญภัย ที่ต่างก็ค่อยๆ ชำระล้างความสิ้นหวัง, ทุกข์ทรมานและความเคียดแค้นในจิตใจของกันและกันพร้อมทั้งรับรู้ถึงเรื่องราวที่หักมุมต่างๆ ในตอนท้าย

หากใครที่เคยได้สัมผัสเกมซีรีส์นี้สักภาค ก็จะรู้ว่าเกมซีรีส์ Tales มีความหม่นในเนื้อเรื่องแทบจะทุกภาคอยู่แล้ว หากแต่มันไม่ได้นำเสนอออกมาเป็นอารมณ์หลักๆ ของเนื้อเรื่อง จะอยู่เป็นเพียงพื้นหลังหรือกรอบรองรับบทสนทนาหรือเหตุการณ์ต่างๆ แต่มาในภาค Berseria นี้ ผู้เล่นจะได้สัมผัสประสบการณ์ที่ต่างออกไป เพราะผู้เล่นจะไม่ใช่วีรบุรุษ, ไม่ใช่ผู้กอบกู้ แต่ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทหญิงสาวผู้ครอบครองพลังปีศาจที่ยึดถือเพียงความเคียดแค้นและความสิ้นหวังในจิตใจ

“เหตุใดวิหคจักต้องโผบิน?” คำถามของ Arthur ที่ต้องการให้  Velvet ไปหาคำตอบ

แค่ขึ้นต้นมาว่าตัวเอกเป็นปีศาจก็ดูแปลกไปสำหรับซีรีส์นี้แล้ว แต่แค่นั้นยังไม่สามารถทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่ามันเป็น “ภาคที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้” หรอกนะครับ เพราะนัยแฝงที่ฝังมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือการตั้งคำถามตัวโตๆ ถึง “ความหมายของการมีชีวิต” ผ่านบทสนทนาหลากหลายอารมณ์ของตัวละครเอกแต่ละตัวที่ต่างก็ผ่านเรื่องร้ายแรงในชีวิต เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องที่หล่อหลอมให้ตัวละครทั้งหลายกลมเกลียวกันมากขึ้น ปูมหลังของหลากหลายตัวละครที่ไม่ได้น่าสลดเสียใจไปกว่าตัวเอกของเกม ทุกองค์ประกอบที่โผล่มาตลอดของการเล่าเนื้อเรื่องนั้นจะทำให้ผู้เล่นซึบซับและเข้าถึงกับมันได้อย่างลื่นไหล และแม้จะมีส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลหรือรวบรัดไปบ้าง แต่โดยภาพรวมของเนื้อเรื่องก็ถือว่าทำออกมาได้มาตรฐานซีรีส์ Tales หรือสำหรับใครที่ชอบเกมที่มีอารมณ์หม่นๆ สิ้นหวัง ภาคนี้อาจจะกลายเป็นลูกรักของคุณไปโดยปริยายก็เป็นได้


      

ซีรีส์ Tales นั้น นอกเหนือจากเนื้อเรื่องที่มีเอกลักษณ์แล้ว ระบบการเล่นเองก็เป็นจุดขายหลักเช่นกัน ขนาดไหนน่ะหรอครับ? ขนาดที่ว่าจะผ่านไปกี่ภาคก็ตาม ซีรีส์ Tales ก็ยังคงใช้ระบบต่อสู้เป็น Real-Time อยู่เหมือนเดิม ดัดบ้างบิดบ้างตามแต่ภาค แต่สุดท้ายสิ่งที่ซีรีส์เกมนี้ต้องการนำเสนอในการต่อสู้แต่ละภาคก็ยังคงเป็น “การช่วงชิงจังหวะ” หาใช่การปั้มเลเวลหนาๆ แล้วตีมอนทีเดียวตาย โดยในภาค Berseria นี้ก็ได้นำและดัดแปลงระบบหลายอย่างที่มันดีอยู่แล้วในภาค Zestiria มาใส่ไว้ในภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบต่อสู้ที่ได้ตัดระบบแพคคู่กับคู่หูคน-เทพออกไป แต่กระนั้นก็ยังคงมีระบบ SG (Soul Gauge) ที่เป็นตัวแทนค่า Stamina หรือ Mana ซึงเจ้าเกจ SG นี้จะมีข้อดีตรงที่หากเราออกท่าโจมตีในตอนที่เกจดังกล่าวหมด เราจะยังโจมตีต่อได้เหมือนปกติ แต่ต้องแลกมากับการออกท่าออกทางที่ช้ากว่าเดิม และโดนศัตรูโจมตีหนักกว่าเดิม และหากตัวละครของเราโดนโจมตีเมื่ออยู่ในสถานะที่เกจ SG หมดแล้วล่ะก็ เราก็จะโดนขโมยเกจดังกล่าวไปหนึ่งเกจ ส่งผลให้เราจะทำการโจมตีได้น้อยลง ทำให้เราต้องหาจังหวะตัดการออกท่าโจมตีของศัตรูเหมือนที่มันทำกับเราเพื่อขโมยเกจ SG ของศัตรูมาเพื่อทำให้เราได้เปรียบในการออกท่าโจมตีได้มากกว่า ซึ่งนอกจากการขโมย SG จากศัตรูด้วยการโจมตีตัดจังหวะนั้น และการแพ้ธาตุที่มาในภาคนี้เห็นผลชัดกว่าภาคก่อนๆ ซึ่งหากศัตรูตัวไหนแพ้ธาตุการโจมตีจากท่าของเรา เราก็จะขโมยเกจ SG มาได้ง่ายกว่าปกติ

จะเห็นได้ว่าระบบการต่อสู้ในภาคนี้จะเน้นไปที่การช่วงชิงจังหวะมากกว่าภาคอื่นๆ แถมไม่ต้องตั้งค่าปุ่มให้ยุ่งยากเหมือนภาคเก่าๆ (ที่แม้เราจะสามารถตั้งค่าท่าโจมตีได้หลากหลาย เช่น ปุ่มกดฟันรัวตั้งไว้ที่ปุ่มสามเหลี่ยมเอย กดตีหงายเป็นปุ่มสี่เหลี่ยมพร้อมปุ่มลูกศรขึ้น ฯลฯ ซึ่งมันอาจจะยืดหยุ่นกว่าก็จริง แต่มันวุ่นวายกว่ามากเลยทีเดียว ยิ่งเวลาเจอศัตรูที่เป็นประเภทบอสแล้วล่ะก็ นิ้วนี้พันกันมั่วไปหมด) โดยในภาคนี้การตั้งค่าปุ่มโจมตีก็ยังคงนำระบบมาจากภาค Zestiria ที่มันดีอยู่แล้วมาปรับ UI ให้มันเข้าใจง่ายกว่าเดิม โดยผู้เล่นจะสามารถตั้งค่าได้ว่าท่าแรกยันท่าสุดท้ายที่ออกในการกดปุ่มโจมตีนั้นเป็นท่าอะไรบ้าง เช่น ปุ่มสี่เหลี่ยมผู้เล่นอาจจะตั้งไว้ให้เป็นคอมโบไว้ใช้กับศัตรูที่แพ้ธาตุลม ปุ่มสามเหลี่ยมตั้งไว้ใช้กับศัตรูที่แพ้การโจมตีธรรมดา เป็นต้น

แน่นอนว่าหากเกมใดก็ตามที่เคลมตัวเองว่าเป็น RPG สิ่งที่เรียกว่าองค์ประกอบ (Element) ความเป็น RPG ต้องชัดเจนครับ โดยอีกหนึ่งระบบดีๆ ที่ภาคล่าสุดนี้ยังนำมาจากภาค Zestiria ก็คือระบบได้รับสกิลถาวรจากอุปกรณ์สวมใส่ (ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดีเรียกตรงไปตรงมาแบบนี้เลยละกัน…) ที่ดูไปคลับคล้ายคลับคลากับระบบของเกม Final Fantasy ภาค 9 อยู่พอสมควรครับ แต่ก็ไม่ได้เห็นผลเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเท่ากับเกมดังกล่าว แต่จะได้ค่าสถานะมาเพิ่มแบบตอดเล็กตอดน้อยครับ เช่น เมื่อสกิลของอาวุธชิ้นนี้เต็มผู้เล่นก็จะได้โจมตีศัตรูประเภทแมลงแรงขึ้น 10% ฯลฯ อีกทั้งในภาคนี้ผู้เล่นแทบจะไม่ต้องซื้ออุปกรณ์สวมใส่จากร้านค้าในเกม (ถ้าขยันฟาร์มพอนะ) เพราะไอเทมประเภทดังกล่าวจะหาดรอปได้จากศัตรู ซึ่งแต่ละชิ้นที่ดรอปมาก็จะมีค่าสถานะที่เพิ่มให้กับผู้สวมใส่ไม่เท่ากันแถมในบางครั้งไอเทมที่ดรอปได้ก็อาจจะเป็นเกรดขั้นต่อไปเลยทีเดียว

โดยสรุปแบบเบาๆ กับระบบเกมเพลย์นั้น จะเห็นได้ว่าในภาคล่าสุดนี้ได้ตัดความยุ่งยากทำให้ตัวเกมเข้าใจง่ายมากขึ้นกว่าภาคก่อนๆ พอสมควรครับ ทั้งการได้ค่าสถานะเพิ่มจากอุปกรณ์สวมใส่ที่แม้จะได้มาทีละเล็กทีละน้อย แต่หากพยายามตามเก็บสกิลเหล่านี้ ตัวละครเราก็จะเก่งขึ้นพอสมควร ไหนจะทั้งการต่อสู้ที่รวดเร็วและกระชับ ส่งผลให้การต่อสู้สนุกขึ้น นี่ยังไม่นับระบบยิบย่อยต่างๆ ของเกมอีกนะ ทั้งระบบทำอาหารกินเองที่จะได้ค่าสถานะเพิ่มแบบเบาๆ, ระบบแต่งตัวที่สามารถเปลี่ยนตัวละครหน้าอมทุกข์ของเราทั้งหลายให้ออกมาเป็นตัวตลกโบโซ่ที่พอสร้างสีสันสดใสให้กับเนื้อเรื่องหม่นๆ ได้เยอะเลยทีเดียว และไหนจะมินิเกมต่างๆ ที่นอกจากจะเปลี่ยนอารมณ์ความตึงเครียดชั่วขณะของเนื้อเรื่องได้แล้ว ของรางวัลที่ได้จากการเล่นมินิเกมเหล่านี้ยังพอคุ้มค่าแก่การสละเวลาอีกด้วย ซึ่งในส่วนเสริมต่างๆ นี้นั้นทำให้ผู้เล่นสามารถติดหนึบอยู่กับเกมได้เป็นชั่วโมงๆ เลย

TOB_CostumeAttachment_20160510_02_1466675339
TOB_CostumeAttachment_20160510_03_1466675341
TOB_CostumeAttachment_20160510_08_1466675346
TOB_MiniGame_20160510_03_1466675294
TOB_MiniGame_20160510_05_1466675300
TOB_MiniGame_20160510_06_1466675302
TOB_MiniGame_20160510_07_1466675304

ด้านกราฟิกคงจะเป็นจุดด้อยจุดเดียวของเกมนี้เลยก็ว่าได้ครับ คือหากถามว่ามันสวยไหม? สวยครับ แต่สวยในแบบสมัยยุค “PS3” คือไม่ว่าผู้เล่นจะมองอย่างละเอียดหรือเพียงผิวเผินแบบไหน ยังไงซะรายละเอียดพื้นผิวภายในเกมหลายจุดก็เห็นได้ชัดเจนว่ามันตกยุค แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าไม่ได้ซีเรียสหรือคุ้นชินกับภาพกราฟิกเกมสมัยใหม่ ภาพในเกมก็ยังสวยในแบบของมัน

เห็นเส้นอะไรกันไหม?

โอเค… ผ่านส่วนที่พอเห็นอกเห็นใจมาได้แล้ว เรามาดูส่วนที่น่าผิดหวังกันจริงๆ จังๆ ดีกว่าครับ มีหลายครั้งเลยที่ผู้เขียนกำลังสนุกสนานกับการฟาร์มในเกม แต่ก็ต้องมานั่งงงว่าทำไมเมื่อผู้เขียนเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นแสงทึบๆ มันมักจะมีเส้นขวางแนวนอนปรากฎบนพื้นผิวของเกม (ตัวละคร, พื้นที่ในเกม) หรือบางครั้งภาพของเกมก็แอบเบลอๆ ซะงั้น  ซึ่งแม้มันจะเบลอไม่มาก (ถ้าเป็นศัพท์คนใช้ photoshop ก็จะประมาณค่า gaussian blur 1 -2 ) แต่ถ้าใครได้เห็นปัญหาดังกล่าวนี้ รับรองได้ครับว่าจะต้องฉุกหงุดหงิดขึ้นมาอย่างแน่นอน ในส่วนนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีความรู้เชิงกราฟิก หรือการเขียนโค๊ดอะไรขนาดนั้น และเมื่อรวมปัญหาดังกล่าวนี้เข้ากับกราฟิกที่ดูล้าสมัย มันก็อาจจะขัดใจผู้เล่นอยู่พอสมควร จนบางครั้งผู้เล่นอาจจะอยากรีบออกจากพื้นที่ที่เกิดปัญหาด้านกราฟิกดังกล่าวไปให้ไวๆ แต่นอกเหนือจากด้านประสิทธิภาพนั้นส่วนที่เป็นข้อด้อยหลักๆ มีเพียงด้านกราฟิกนี่แหล่ะครับ เพราะส่วนอื่นๆ นั้นยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความเป็นซีรีส์ Tales ได้อย่างครบถ้วน ทั้งลายเส้นของตัวละครภายในเกม, เพลงเปิดของเกมที่แสนจะติดหูและสกอร์เพลงที่เข้ากับธีมของเกม

https://www.youtube.com/watch?v=Et53anPkjIo

เพลงเปิดโคตรดีงาม!!


โดยรวมแล้วนั้น Tales of Berseria เป็นอีกภาคที่มีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจในอันดับต้นๆ ของซีรีส์ ด้วยมุมมองใหม่ที่แปลกใหม่, มืดหม่น แต่มากด้วยเสน่ห์ของตัวละครที่มีปูมหลังน่าติดตาม แก่นและนัยแฝงของเกมที่พาให้ซีรีส์นี้โตไปอีกขั้นตีคู่มากับระบบต่อสู้ที่รวดเร็ว เรียบง่าย แต่ดุดันและใช้ความคิดมากขึ้น แม้ด้านกราฟิกจะดูน่าผิดหวังพอสมควร แต่หากมองในภาพรวมแล้วก็ถือได้ว่า Tales of Berseria เป็นการเปิดศักราชพร้อมแง้มแนวทางใหม่ให้กับซีรีส์ได้อย่างน่าสนใจ หากคุณเป็นคนที่รักซีรีส์เกมนี้อยู่แล้วหรือ ต้องการจะเริ่มต้นเล่นเกม JRPG สักเกม Tales of Berseria คือเกมที่ไม่ควรพลาดครับ 🙂