รีวิว Fujifilm X100F กล้องที่น่าหลงรัก
Our score
8.5

Fujifilm X100F

จุดเด่น

  1. คุณภาพภาพถ่ายดีงาม ถ่ายคนสวยมากด้วยเลนส์ f/2
  2. โฟกัสปรับปรุงใหม่ ลืมภาพ X100 ที่โฟกัสช้าๆ ไปได้เลย ถ่ายติดตามวัตถุ พร้อมรัว 8 fps สบายๆ
  3. กล้องหล่อ แบบแค่ห้อยไว้ที่คอก็ทำให้ช่างภาพหล่อขึ้น 34%
  4. ช่องมองภาพดีงามมาก สามารถมองได้ทั้งแบบ EVF และ OVF
  5. เสียบชาร์จไฟผ่าน MicroUSB ของกล้องได้ ชาร์จผ่าน Power Bank ได้

จุดสังเกต

  1. กล้องเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ทำให้ต้องคิดดีๆ ว่าเลนส์ช่วง 35 mm นั้นเหมาะกับเราไหม มันไม่ได้เหมาะกับทุกคน ไม่ใช่ช่วงที่คุ้นเคยเหมือนเลนส์ 28 mm ของกล้องสมาร์ทโฟน
  2. แฟลชติดกล้องไม่ค่อยเวิร์ค ดวงเล็ก ถ่ายให้สวยยาก เอาไว้ใช้ในยามจำเป็น
  3. ถ่ายวิดีโอ 4K ไม่ได้
  4. การซูมดิจิทัลดันขยายภาพให้ด้วย แทนที่จะ Crop มาให้อย่างเดียว
  5. ราคาสูง
  • คุณภาพภาพถ่าย

    9.0

  • คุณภาพวิดีโอ

    8.0

  • ดีไซน์ตัวกล้อง

    10.0

  • การควบคุม จับถือ

    8.5

  • ความคุ้มค่า

    7.0

ต้องสารภาพเลยว่าตั้งแต่แอดมีอายุมากขึ้น คติในการซื้อข้าวของมาใช้คือ “จะถูกจะแพง ขอเบาไว้ก่อน” คือเราไม่อยากแบกกล้อง แบกคอมหนักๆ อีกแล้ว แอดจึงสนใจกล้องตัวเล็ก น้ำหนักเบา แต่ให้คุณภาพไฟล์ดีมาตลอด ซึ่งหนึ่งในกล้องในฝันของแอดคือซีรี่ส์ Fuji X100 ที่วันนี้เราจะรีวิวตัวล่าสุดให้ดูกัน

สเปกของ Fuji X100F

  • เซนเซอร์ X-Trans CMOS III ความละเอียด 24 ล้านพิกเซล
  • เลนส์ 23mm f/2 (เทียบเท่าเลนส์ 35 mm ในกล้อง Full frame)
  • จุดโฟกัส 325 จุด เป็นจุดโฟกัสแบบ Phase Detection Auto Focus (PDAF) 169 จุด
  • มี Wifi ในตัว ทำให้ส่งภาพได้ง่ายๆ
  • Viewfinder สามารถเลือกให้เป็นได้ทั้ง OVF (ภาพจริงผ่านช่องมองภาพ) และ EVF (ภาพจากจอในช่องมองภาพ) โดย EVF มีความละเอียด 2.36 ล้านพิกเซล
  • หน้าจอหลังขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1.04 ล้านพิกเซล
  • ISO สูงสุด 51,200
  • ความเร็วซัตเตอร์สูงสุด 1/32,000 ในโหมดซัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์
  • ถ่ายภาพต่อเนื่อง 8 ภาพต่อวินาที
  • ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 1080p 60 fps เสียบไมค์แบบ 2.5 mm ได้

การควบคุมกล้องที่พัฒนาขึ้น

X100F เป็นกล้องรุ่นที่ 4 ในตระกูลต้นกำเนิด Fuji X (F คือ Fourth หรือสี่) ซึ่งถึงแม้ว่าหน้าตากล้องเป็นจะทรง Retro Rangefinder คล้ายรุ่นก่อนๆ แต่รูปแบบการใช้งานหลายอย่างก็ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการทำงานในยุคนี้มากขึ้น จุดแตกต่างหลักคือใน X100F ได้เพิ่ม Joystick สำหรับเลื่อนจุดโฟกัสเข้ามา แม้กล้องตัวนี้จะไม่มีจอสัมผัส ก็สามารถโยกจอยเลื่อนตำแหน่งโฟกัสได้รวดเร็ว ถ้าใช้จนคล่อง อาจจะใช้ดีกว่าจอสัมผัสอีก

4 ปุ่มควบคุมที่อยู่ด้านซ้ายของจอคือ View mode, ดูรูป, ลบรูป และเปิด Wifi ที่เคยมีตั้งแต่ X100 กล้องรุ่นแรกก็เอาออกไป แล้วย้ายมากระจายอยู่ทางด้านขวามือแทน ทำให้สามารถควบคุมด้วยมือเดียวได้มากขึ้น ปุ่ม Drive ที่ต้องกดกันบ่อยๆ (เอาไว้ใช้เปลี่ยนโหมดถ่ายภาพ เช่น ถ่ายภาพเดี่ยว ถ่ายภาพต่อเนื่อง และเปลี่ยนโหมดไปถ่ายวิดีโอ) ก็มาอยู่เป็นหนึ่งในปุ่ม 4 ทิศทาง

ที่น่าสนใจคือใน X100F วงแหวนโฟกัสด้านหน้าเลนส์สามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น เปลี่ยนรูปแบบสีของภาพ หรือปรับอัตราซูมดิจิทัล (Digital Teleconverter) ซึ่งทำให้กล้องเลนส์ฟิกที่ซูมไม่ได้ตัวนี้ สามารถซูมดิจิทัลได้สะดวกขึ้น และที่วงแหวนปรับความเร็วซัตเตอร์ด้านบน ยังมีวงแหวนปรับ ISO ซ้อนอยู่ด้านล่าง เพื่อยกวงแหวนขึ้นแล้วจะสามารถปรับ ISO ได้ง่ายๆ

อีกอย่างที่เด่นคือผู้ใช้สามารถปรับลักษณะการควบคุมกล้องได้หลากหลายมาก สามารถปรับการทำงานของปุ่มและวงแหวนรอบกล้องได้ 7 จุด ตั้งแต่วงแหวนหน้าเลนส์, ปุ่มที่ตัวเลือกโหมด EVF, 3 ปุ่มของชุดปุ่ม 4 ทิศทาง, ปุ่ม AEL และวงแหวนด้านหลังครับ เพื่อจูนให้เข้าถึงการปรับตั้งค่าที่ต้องใช้บ่อยๆ ได้

โดยรวมๆ ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาลักษณะการใช้งานกล้องให้คล่องตัวขึ้นนะครับ รวมกับเมนูที่ออกแบบใหม่ หาอะไรๆ เจอง่ายขึ้น ก็ทำให้เริ่มใช้ X100F ได้ไม่ยาก แต่ถึงยังไงก็ตามมันก็เป็นกล้องที่ลักษณะการใช้งานแตกต่างจากกล้องทั่วไปอยู่ดี เพราะมีวงแหวนหลายตัวแยกกัน จะเปลี่ยนรูรับแสงก็ต้องหมุนวงแหวนหน้าเลนส์ ปรับ EV, ความเร็วซัตเตอร์, ISO ก็หมุนวงแหวน 3 ตัวด้านบน แถมมีวงแหวนด้านหน้า ด้านหลังมาให้อีก 2 ตัวให้ใช้แบบงงๆ อีก ก็ต้องหัดใช้ให้คล่องมือสักระยะครับ

Viewfinder ยังเจ๋งเหมือน X100T

ภาพจาก Viewfinder ในโหมด OVF ที่มีจอเล็กอยู่ที่มุมล่างขวา เอาไว้ช่วยหาโฟกัส

สิ่งที่เป็นเสน่ห์มากของกล้องตระกูล X100 คือ Viewfinder ที่ใช้งานได้จริงจัง แถมสามารถเปลี่ยนโหมดระหว่าง OVF (ภาพจริงๆ ผ่านช่องมองภาพ) และ EVF (ภาพจากจอในช่องมองภาพ) ได้ง่ายๆ ด้วยคันโยกด้านหน้ากล้อง

คนที่ชอบใช้โหมด OVF เพราะเห็นภาพแบบที่ตาเห็น ดูไม่เวียนหัวก็มีตัวช่วยเยอะ ทั้งแสงกรอบภาพ ให้เรารู้ชัดเจนว่าขอบภาพอยู่ที่ไหน และมี EVF เล็กๆ เพื่อช่วยโฟกัสเวลาต้องการหมุนโฟกัสด้วยมือเองด้วย ส่วนโหมดจอ EVF เองก็ละเอียด ให้ภาพชัดเจนด้วย

แม้ว่าความสามารถของ Viewfinder แบบนี้จะมีตั้งแต่ X100T แล้ว แต่ยังไงมันเป็นเรื่องที่น่าว้าวของกล้องตัวนี้อยู่ดีครับ

ทำไมใช้โหมด OVF ต้องมีกรอบภาพแสดง

ก็เพราะว่า X100F เป็นกล้องแบบ Rangefinder ที่ตำแหน่งของช่องมองภาพกับตัวเลนส์นั้นอยู่คนละจุดกัน ทำให้ภาพที่เราเห็นจากช่องภาพภาพกับภาพจริงๆ ที่ได้นั้นไม่ตรงกัน ซึ่งจะเลื่อมกันแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับระยะของกล้องกับวัตถุว่าห่างกันขนาดไหน ใน X100F จึงมีกรอบแสดงเพื่อโชว์ขอบเขตภาพให้เห็นได้ง่ายๆ แทน

คุณภาพภาพ

กล้อง Fujifilm X-Series นั้นเลื่องลือเรื่องคุณภาพภาพที่ออกมาอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะภาพ JPEG ที่ออกจากกล้อง ที่ถ้าปรับดีๆ เลือกรูปแบบฟิล์มให้ตรงใจ ก็แทบจะเอาภาพไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องตกแต่งต่อ ซึ่ง X100F ก็ใช้ระบบประมวลผลล่าสุดของฟูจิ มีรูปแบบสีให้เลือกครบครันคือ

  • โหมดมาตรฐาน Provia ให้สีสดใสสำหรับงานทั่วไป
  • โหมดถ่ายทิวทัศน์ Velvia ให้สีสดมาก โดยเฉพาะโทนน้ำเงินและเขียวของธรรมชาติ
  • โหมดถ่ายภาพบุคคล Astia ให้สีนุ่มนวล โทนผิวสวยงาม
  • โหมด Classic Chrome ให้สีจืดกว่าปกติในโทนที่ดูคลาสสิก
  • โหมด Pro Negative Hi และ Standard ให้สีผิวเฉพาะตัว ความเปรียบต่างสูงกว่าโหมด Astia
  • โหมด Acros ถ่ายภาพขาวดำในลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของฟิล์ม Acros
  • โหมด Monochrome ถ่ายภาพขาวดำแบบปกติ
  • โหมด Sepia

แม้ว่าเลนส์ของ X100F จะยังเป็นเลนส์ Super EBC 23 mm f/2 รุ่นที่ใช้ตั้งแต่ X100 ตัวแรก แต่ภาพถ่ายจาก X100F ก็ยังพิสูจน์ว่าเลนส์ชุดยังยังคงสามารถให้ภาพคมชัดบนเซนเซอร์ขนาด 24 ล้านพิกเซลรุ่นใหม่ตัวนี้ เพียงแต่ว่าจะต้องหรี่รูรับแสงลงสักนิด ราว f/4 – 5.6 ถ้าต้องการความคมชัดสูงสุด

คุณภาพจาก ISO 12,800 ที่ถือว่ายังดีใช้ได้เลย

ในส่วนของการจัดการ Noise ถือว่า X100F ทำได้ดีครับ คือถ่ายปกตินี้ใช้ ISO 400, 800 กันอย่างไม่คิดอะไรมาก (ถ้าเปิดโหมด DR มันจะดัน ISO เอง เพื่อเก็บข้อมูลส่วนมืด แม้ว่าจะอยู่กลางแดดจ้า มันก็ใช้ ISO 400, 800 นี่แหละ) ถ้าเป็นงานไม่ซีเรียสมาก เช่นเอาไปโพสต์ลง Social Network ก็ ISO เป็นหมื่นได้สบายๆ ครับ รูปเล็กๆ ดูไม่ออกเลย แต่ที่ขัดใจเกี่ยวกับ ISO นิดหนึ่งตรงที่มันเริ่มต้นที่ ISO 200 ครับ ถึงจะมีโหมด L ให้ ISO 100 ก็เถอะ แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกดีเท่า ISO 100 แท้ๆ อยู่ดี (ความรู้สึกล้วนของจริง)

ตัวอย่างภาพจากกล้อง X100F (ชุดที่ 1)

ระบบโฟกัสที่รวดเร็ว

จุดที่ Fuji X100F ปรับปรุงไปมากอีกจุดหนึ่งคือระบบโฟกัสครับ จากภาพจำของตระกูล X100 คือกล้องที่ถ่ายภาพสวย แต่ต้องให้เวลาโฟกัสสักนิด จะเร่งรีบถ่ายไม่ได้ แต่ระบบโฟกัสของ X100F ถือว่าสู้กับกล้องสมัยใหม่ได้สบายๆ ทั้งจุดโฟกัสที่กระจายทั่วเฟรมภาพ ทำให้สามารถใช้โหมด AF-C เพื่อแทร็กการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพได้แม่นยำใช้ได้ เมื่อใช้โหมด AF-S ก็สามารถโฟกัสวัตถุต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และใช้จอยสติ้กที่เพิ่งมีในรุ่นนี้เพื่อกำหนดจุดโฟกัสอย่างรวดเร็วก็ได้

X100F สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุด 8 ภาพต่อวินาที (สูงสุด 60 ภาพสำหรับ jpeg) ซึ่งเมื่อรวมกับระบบโฟกัส 325 จุดและการโฟกัสติดตามวัตถุ ก็ถือว่าถ่ายวัตถุเคลื่อนไหวได้เข้าเป้าเป็นส่วนใหญ่นะครับ ใครที่ต้องการกล้องสำหรับถ่ายเด็กๆ หรือถ่ายสัตว์เลี้ยง (เราคงไม่เอา X100F ไปถ่ายกีฬาเท่าไหร่เนอะ เพราะมันเปลี่ยนเป็นเลนส์ Telephoto ไม่ได้) ก็ถือว่าทำหน้าที่นี้ได้ดีเลยแหละครับ

การถ่ายวิดีโอที่ไม่มี 4K

X100F สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุดได้ที่ 1080p 60 fps ครับ ซึ่งถือว่าน่าผิดหวังเล็กน้อยสำหรับกล้องระดับราคานี้ แต่ยังไม่สามารถถ่ายวิดีโอ 4K ได้ ก็เข้าใจว่าคนใช้กล้อง X100F คงไม่ได้เน้นความสามารถด้านนี้เท่าใดนัก หากมองข้ามเรื่อง 4K ไป ก็ถือว่า X100F นั้นถ่ายวิดีโอสวยไม่ใช่เล่นนะครับ แถมเสียบไมค์ 2.5 mm (ถ้ามือคนถ่ายนิ่งพอ เพราะเราสามารถเปิดรูรับแสง F/2 เพื่อถ่ายวิดีโอแบบหน้าชัด หลังเบลอได้อย่างสวยงาม สามารถเลือกโหมดสีที่สวยงามเหมือนการถ่ายภาพนิ่งได้ด้วย จะใช้ Provia, Velvia, Classic Chrome ก็จัดไป

ระบบสนับสนุนการถ่ายอย่างเยี่ยม

เช่นเดียวกับกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่ของฟูจิ เจ้า X100F มีความสามารถเล็กๆ ที่ดีงามหลายอย่างครับ

  • สามารถใช้ช่อง MicroUSB ของกล้องเพื่อเสียบชาร์จโดยไม่ต้องใช้แท่นชาร์จได้ (แต่ในกล่องยังมีแท่นชาร์จมาให้นะ) ทำให้ชาร์จสะดวก เสียบชาร์จกับ power bank ก็ได้
  • แบตเตอรี่ลูกใหญ่กว่า X100 รุ่นอื่นๆ ทำให้ถ่ายภาพได้ยาวนาน สูงสุดตามสเปกคือ 390 ภาพเมื่อใช้ OVF
  • ควบคุมกล้อง และโอนภาพแบบไร้สายเข้ามือถือได้
  • หมุนวงแหวนหน้ากล้องเพื่อซูมแบบดิจิทัลได้ง่ายๆ เป็นฟีเจอร์ที่ใช้บ่อยมาก แต่การซูมแบบนี้จะไม่ได้ครอปภาพ แล้วได้ไฟล์ขนาดเล็กเหมือนกล้องอื่นๆ นะครับ ภาพที่ซูมมาก็ยังมีความละเอียดเท่ากับความละเอียดที่กำหนดนั้นแหละ คือครอปภาพแล้วเอาไปขยายในกล้องนั้นเอง ซึ่งก็แอบเป็นข้อเสียนะ

สรุป Fujifilm X100F

จุดตัดสินว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้ X100F มีจุดหลักอยู่ข้อเดียวเลยครับ เราถนัดกับช่วงเลนส์ 35 mm รึเปล่า คือเลนส์ช่วง 35 mm มันก็ไม่ได้กว้างเหมือนเลนส์ 28 mm ที่เราคุ้นเคยจากกล้องของสมาร์ทโฟน และมันก็ไม่ได้แคบแบบเลนส์ 50 mm ที่หลายคนเคยใช้ในกล้อง DSLR ครับ ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อกล้องตัวนี้ เราจึงแนะนำให้ลองใช้ช่วง 35 mm ให้คล่องก่อน เอากล้องเลนส์ซูมมาหมุนเป็นช่วง 35 mm แล้วลองถ่ายก่อนก็ได้ ว่ามันใช่ไหมสำหรับเรา

แต่ส่วนตัวแอดหลังจากทดลองใช้ Fujifilm X100F มาพักใหญ่ ก็รู้สึกว่าช่วง 35 mm นี้แอบใช้ยากสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันที่เรามักอยู่ในห้องที่ไม่ได้มีพื้นที่มากมายนัก ถ้าต้องการภาพกว้างๆ หน่อยก็ต้องถอยไปไกลเลย หรือบางทีก็ถ่ายไม่ได้เลยเพราะถอยไปถ่ายไม่ได้ เทียบกับ Ricoh GR ที่เป็นกล้องเลนส์ฟิกซ์ 28 mm ก็รู้สึกว่า GR ถ่ายสนุกกว่า แต่เรื่องนี้ก็เป็นความชอบเฉพาะบุคคลเนอะ

ส่วนประเด็นเรื่องการจับถือและการควบคุมกล้อง แรกๆ จะไม่ชินกับการควบคุมที่แยกส่วน และมีแป้นหมุนเต็มไปหมดแบบนี้ครับ แต่ใช้ไปไม่นานก็จะถนัดได้ไม่ยาก ถือว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับการใช้งาน แถมยังสามารถเซ็ตฟังก์ชั่นของปุ่มรอบตัวกล้องได้ง่ายๆ ควบคุมง่ายเข้าไปอีก

สุดท้ายที่เราหลงรักกล้องตัวนี้คือ กล้องหล่อมาก ใช้แล้วรู้สึกว่าช่างภาพหน้าตาดีขึ้น แถมไฟล์ภาพก็ยังดีน้ำตาไหลครับ 🙂

ตัวอย่างภาพจาก X100F (ชุดที่ 2)