รีวิว Sony a6300 กล้องที่ทำให้หลงรัก Auto-focus อีกครั้ง
Our score
8.4

Sony a6300

จุดเด่น

  1. คุณภาพภาพดีมาก ทั้งการถ่าย Jpeg และ Raw สู้กับ ISO สูงๆ ได้สบายๆ
  2. คุณภาพวิดีโอดีมาก สามารถถ่ายระดับ 4K จริงๆ ได้
  3. ปรับแต่งวิดีโอได้เยอะ
  4. โฟกัสเร็วมากและเชื่อถือได้
  5. รองรับเลนส์ได้หลายค่ายแถมรองรับโฟกัสอัตโนมัติด้วย มีหลายค่ายออกอแดปเตอร์แปลงให้

จุดสังเกต

  1. ไม่มีช่องต่อหูฟังสำหรับมอนิเตอร์เสียง (สำคัญสำหรับงานถ่ายวิดีโอ)
  2. มีปัญหา Rolling Shutter เวลาถ่าย 4K
  3. ไม่มีจอสัมผัส ทำให้เลือกจุดโฟกัสยากไปนิด
  4. เมนูที่เยอะยุบยับ ปัญหาอมตะของกล้องโซนี่
  5. ไม่มีระบบกันภาพสั่นในตัวกล้อง ต้องซื้อเลนส์ที่มีกันสั่นเท่านั้น
  • คุณภาพภาพถ่าย

    8.0

  • คุณภาพวิดีโอ

    9.0

  • การควบคุมกล้อง

    7.0

  • คุณสมบัติพิเศษ (ใช้งานวิดีโอ, ความเร็วโฟกัส)

    10.0

  • ความคุ้มค่า

    8.0

ต้องบอกว่าระยะหลัง Sony มาแรงมากับกล้องดิจิทัลนะครับ นับตั้งแต่ความสำเร็จของกล้องตระกูล A7 ที่สร้างชื่อให้โซนี่ในวงการช่างภาพมืออาชีพ และโซนี่ก็นำความสำเร็จเหล่านี้กลับมาพัฒนากล้องในกลุ่มเซนเซอร์ APS-C ให้ดีขึ้น และ Sony α6300 ก็เป็นกล้องที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้ตั้งแต่โซนี่เคยทำมา

สเปกคร่าวๆ ของกล้อง

 

  • เซนเซอร์ Exmor ขนาด APS-C ความละเอียด 24 ล้านพิกเซล
  • ช่องมองภาพ (EVF) แบบ OLED ความละเอียด 2.36 ล้านพิกเซล ให้ภาพที่สว่าง ชัดเจน
  • หน้าจอขนาด 3 นิ้วที่ปรับองศาได้ (แต่บิดมาถ่าย Selfies ไม่ได้นะ) ความละเอียด 921,000 พิกเซล
  • ISO 100 – 51,200
  • ความเร็วซัตเตอร์ 1/4000 – 30 วินาที พร้อมซัตเตอร์ B
  • มีแฟลชในตัว
  • แบตเตอรี่ถ่ายได้ 400 ภาพ (ถ้าใช้ EVF จะเหลือ 350 ภาพ) ใช้จริงแล้วอึดใช้ได้ ถ่ายได้ทั้งวัน ทำถ่ายทอดสดก็อยู่ได้หลายชั่วโมง
  • โครงสร้างแมกนีเซียมอัลลอยกันความชื้นและฝุ่น
  • น้ำหนักบอดี้พร้อมแบต 404 กรัม ไม่หนักเกินไป พกพาง่าย
  • ราคาบอดี้อย่างเดียว 39,990 บาท ราคาพร้อมเลนส์ 16-50mm f3.5-5.6 OSS 46,990 บาท

4D Focus โฟกัสที่เร็วที่สุดในโลก

ระบบโฟกัสแบบติดตามของกล้องที่ทำงานได้เร็วมาก

ระบบโฟกัสแบบติดตามของกล้องที่ทำงานได้เร็วมาก

เรื่องของการหาโฟกัสอัตโนมัติหรือ Auto-Focus หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเบสิกที่กล้องยุคนี้จะต้องทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าถามใจตัวเองจริงๆ ที่ผ่านมาเราก็มีกล้องอยู่เพียงหยิบมือที่สามารถฝากผีฝากไข้กับการโฟกัสต่อเนื่องอัตโนมัติได้ (AF-C) ส่วนใหญ่ก็กล้องตัวเป็นแสนขึ้นไป ช่างภาพหลายคนจึงมักใช้โหมดหาโฟกัสครั้งเดียว (AF-S) และโฟกัสที่จุดกลางภาพแล้วค่อยจัดเฟรมใหม่มากกว่า เพราะมั่นใจได้ว่าจุดที่ต้องการโฟกัสนั้นมันจะคมชัดจริงๆ แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องโฟกัสวัตถุเคลื่อนไหวอย่างสัตว์เลี้ยงหรือเด็กๆ ก็ใช้วิธีโฟกัสล่วงหน้า รอวัตถุวิ่งเข้ามาในจุดที่โฟกัสไว้แล้วค่อยถ่าย หรือเสี่ยงใช้ AF-C ของกล้องที่มีโอกาสถ่ายได้ภาพบ้าง ไม่ได้ภาพบ้าง

แต่จุดขายหลักของ Sony a6300 คือระบบโฟกัสที่เรียกว่า 4D Focus ที่ประกอบด้วยจุดโฟกัสแบบ Phase Detection 425 จุด และแบบ Contrast Detection อีก 169 จุด ซึ่งครอบคลุมแทบจะ 100% ของเฟรมภาพ จากจำนวนจุดโฟกัสที่มากมายขนาดนี้ทำให้ระบบ AF-C ของ a6300 ทำงานได้ดีมาก แถมระบบโฟกัสตัวนี้ยังสามารถใช้กับเลนส์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ของโซนี่ได้ด้วย จนเรียกว่าเราหลงรัก Auto-focus ได้อีกครั้ง

จากจุดโฟกัสจำนวนมหาศาลของ a6300 ทำให้โซนี่สร้างทางเลือกในการโฟกัสให้ผู้ใช้เลือกใช้ตามความเหมาะสมมากมาย ตั้งแต่โหมดหลักอย่าง AF-S, AF-C, AF-A (กล้องจะเลือกให้เองว่าจะโฟกัสเป็น AF-S หรือ AF-C) MF และ DMF (Direct Manual Focus กล้องจะโฟกัสอัตโนมัติให้ก่อน แล้วเราค่อยหมุนเลนส์ปรับโฟกัสอีกที)

โหมดโฟกัสของกล้องที่มีเยอะตามสไตล์กล้อง Sony

โหมดโฟกัสของกล้องที่มีเยอะตามสไตล์กล้อง Sony

นอกจากโหมดหลักแล้ว a6300 ยังสามารถเลือกจุดโฟกัสได้อีกหลากหลายโหมดที่มีพื้นที่การหาโฟกัสเล็กใหญ่ต่างกันไปตามความต้องการ คือ

  • Wide โฟกัสวัตถุที่เด่นในเฟรมอัตโนมัติ (พื้นที่โฟกัสใหญ่สุดเพราะหาทั้งเฟรมเลย)
  • Zone เลือกโฟกัสวัตถุในโซนที่ต้องการ
  • Center โฟกัสจุดตรงกลางภาพ
  • Flexible Spot เลื่อนจุดที่ต้องการโฟกัสได้ และระบุได้ว่าจะให้จุดโฟกัสใหญ่ขนาดไหน
  • Expand Flexible Spot
  • Lock-on Focus โหมดสำหรับ AF-C โดยเฉพาะ ที่ให้ผู้ใช้เลือกโฟกัสจุดที่ต้องการแล้วกล้องจะแทร็กโฟกัสไปตลอด
  • Eye AF โหมดสำหรับโฟกัสที่ตาโดยเฉพาะ เหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพบุคคลที่จุดสำคัญคือดวงตาต้องคม โหมดนี้ใช้ได้โดยกำหนดปุ่มบนกล้อง (เช่นปุ่ม C1) ให้ใช้หา Eye AF โดยเฉพาะแล้วค่อยถ่ายภาพ

โฟกัสขั้นเทพ แต่ผู้ใช้ต้องศึกษา

จากการใช้งานจริง Sony a6300 สามารถโฟกัสติดตามวัตถุได้ดีมาก จนเชื่อใจได้ว่าการใช้โฟกัสอัตโนมัติแบบติดตามจะสามารถให้ภาพที่คมชัดได้ (ผู้ใช้ต้องตั้งความเร็วซัตเตอร์ที่เร็วพอด้วยนะ) ความเร็วในการโฟกัสระดับ 0.05 วินาที ทำให้ถ่ายภาพในจังหวะฉับพลันได้เป็นอย่างดี และการถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงสุด 11 ภาพต่อวินาทีกล้องก็ยังสามารถโฟกัสแบบติดตามได้ดีด้วย แต่ความสามารถขั้นเทพของกล้องก็ต้องการผู้ใช้ที่เข้าใจการทำงานของกล้องด้วย จึงจะใช้งานได้สมบูรณ์ครับ

คุณภาพภาพถ่าย

Sony a6300 เป็นกล้องที่ให้คุณภาพภาพถ่ายได้ดีทั้งการถ่ายในโหมด jpeg หรือ raw ครับ ที่ให้ Dynamic Range สูงกว่ากล้องกลุ่ม APS-C ทั่วไปอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายขนาดเห็นได้ชัดเจน ส่วนตัวที่เน้นถ่าย jpeg ให้จบหลังกล้องเป็นหลักก็พอใจกับโหมด DRO และ HDR ที่สามารถปรับแต่งได้มาก ใช้ช่วยในซีนที่สภาพแสงมีความแตกต่างกันมากๆ ให้ดึงรายละเอียดกลับมาได้โดยไม่ต้องถ่าย raw แล้วมาจัดการในคอมพิวเตอร์ภายหลัง

นอกจากนี้โหมด Auto และ Superior Auto ที่เป็นจุดเด่นของกล้อง Sony ก็ยังทำงานได้ดีในกล้อง a6300 ตัวนี้ สามารถวิเคราะห์ซีนภาพที่ซับซ้อนและเลือกใช้การทำงานที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว ช่วยได้เยอะสำหรับผู้ใช้มือใหม่ และผู้ใช้ที่ตระหนกเลือกการทำงานของกล้องไม่ถูกในเวลารีบ ใช้โหมด Auto ก็เชื่อได้ว่าจะได้ภาพที่ดี

ในส่วนของการเลือก Creative Style สำหรับปรับโทนสีภาพ หรือ Picture Effect สำหรับการใส่ลูกเล่นภาพ ก็มีให้เลือกหลากหลาย แต่ยังไม่มีโหมดสีที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวเหมือนสีที่เลียนแบบฟิล์มของ Fujifilm หรือสีฟิล์มสไลด์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกล้อง Ricoh ครับ (ซึ่งถ้าใครเน้นถ่าย Raw เป็นหลักก็คงมองข้ามจุดนี้ไปได้)

ถ่ายภาพนิ่งได้เยี่ยม แต่วิดีโอก็ไม่ธรรมดา

Play video

ประเด็นเรื่องวิดีโอนี้เป็นเรื่องที่โซนี่ชูขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดเด่นของ a6300 เลยนะครับ เริ่มกันที่ระบบโฟกัสอัตโนมัติก่อน คือปกติช่างวิดีโอมืออาชีพนั้นจะใช้โหมดโฟกัสด้วยมือเป็นหลัก เพราะการโฟกัสอัตโนมัติของกล้องวิดีโอนั้นเสี่ยงที่จะหลุดโฟกัสระหว่างถ่ายทำกันง่ายๆ แต่ Sony a6300 ก็ทำหน้าที่ได้ดีในจุดนี้ ด้วยความเร็วในการโฟกัสและการติดตามโฟกัส ทำให้การถ่ายวิดีโอแบบโฟกัสอัตโนมัติด้วยกล้องตัวนี้ทำได้ง่ายกว่ารุ่นอื่นๆ สามารถเลือกความเร็วในการเคลื่อนโฟกัสและความไวในการตรวจจับโฟกัสได้ด้วย แต่ถ้าถามว่ามันแม่นยำเชื่อถือได้ตลอดไหม ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสหลุดโฟกัสบ้างเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะการถ่ายวิดีโอซีนที่มีคนเยอะๆ ที่กล้องจะพยายามแทร็กโฟกัสใบหน้าหลายๆ คนพร้อมกันจนมีโอกาสโฟกัสหลุดได้ง่ายๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยความเข้าใจการตั้งค่ากล้อง เซ็ตระบบโฟกัสให้เหมาะกับงานครับ

ส่วนคุณภาพวิดีโอต้องบอกว่าดีมาก แม้จะใช้ ISO สูงที่ 6400 คุณภาพวิดีโอก็ยังดีอยู่ สามารถถ่ายวิดีโอแบบ 6K แล้วนำมาแปลงลงเป็น 4K ทำให้ได้ภาพวิดีโอที่คมชัด เลือกรูปแบบการบันทึกไฟล์ได้หลากหลาย เลือกบิทเรทในการบันทึกสูงสุดที่ 100 Mbps โหมด 4K สำหรับงานวิดีโอที่ต้องการรักษารายละเอียดของภาพสูงสุด และสามารถถ่ายภาพ Slow Motion ได้ที่ 100/120 fps อีกด้วย

Play video

การถ่ายวิดีโอในโหมด S-Log ที่สามารถแก้ไขสีกลับมาได้มาก

และขึ้นชื่อว่าเป็น Sony ฟังก์ชั่นวิดีโอของ a6300 จึงยืดหยุ่นในระดับที่มืออาชีพใช้คือ

  1. สามารถเลือกโหมด P/S/A/M สำหรับการถ่ายวิดีโอได้ ผู้ใช้จึงสามารถควบคุม ISO/ความเร็วซัตเตอร์/รูรับแสง ของการถ่ายวิดีโอได้ทั้งหมด
  2. สามารถเลือกบันทึกวิดีโอในแบบ S-Log2 หรือ S-Log3 ได้ ซึ่งวิดีโอในโหมดนี้สีของภาพจะตุ่นๆ ไม่ขาวสุด ไม่ดำสุด แต่เก็บรายละเอียดของแสงได้มากกว่าเดิม ทำให้เวลานำไปตัดต่อสามารถดึงรายละเอียดภาพและการไล่เฉดสีกลับมาได้มากกว่าการถ่ายธรรมดา
  3. สามารถส่งสัญญาณภาพสดออกจากกล้องแบบ Clean HDMI ได้ ทำให้ภาพที่ส่งออกมาไม่มีข้อมูลการถ่ายภาพปรากฏบนจอ (เช่นความเร็วซัตเตอร์และรูรับแสง) และสามารถแสดงภาพที่กล้องพร้อมกับมอนิเตอร์ภาคนอกได้ ทำให้สามารถใช้ในงานถ่ายทอดสดอย่าง Facebook live ได้ และระหว่างที่ถ่ายทอดสดก็สามารถเสียบสายไฟชาร์จกล้องผ่าน MicroUSB ได้ด้วย
  4. สามารถทำงานกับระบบ Time Code ในงานโปรดักชั่นมืออาชีพได้
  5. รองรับการต่อไมโครโฟนภายนอก

Play video

แต่ข้อเสียของการถ่ายวิดีโอด้วย Sony a6300 ก็มีอยู่บ้างครับ คือการถ่ายวิดีโอในโหมด 4K นานๆ (เกิน 15 นาทีขึ้นไป) ก็มีโอกาสที่กล้องจะร้อนจนตัดการทำงานไปดื้อๆ และกล้องสามารถถ่าย 4K ได้สูงสุดไม่เกิน 30 นาทีต่อคลิปเท่านั้น นอกจากนี้ในบางกรณีโดยเฉพาะในโหมด 4K การแพนกล้องเร็วๆ จะมีปัญหา Rolling shutter หรืออาการเบี้ยวของภาพเหมือนเวลาเราเคลื่อนเยลลี่ ที่เกิดจากกล้องไม่สามารถดึงข้อมูลวิดีโอจากทั้งเซนเซอร์ได้ทัน (ดูในวิดีโอด้านบนได้ที่เวลาแพนกล้องเร็วๆ จะเห็นว่าแผงคีย์บอร์ดกลายเป็นเอียงตามการแพนกล้องซะงั้น) ก็พิจารณาการใช้งานตามความเหมาะสมนะครับ

การควบคุมกล้อง จะว่าดีก็ได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหากับกล้องดิจิทัลของ Sony มาตลอดคือการควบคุมกล้องครับ เริ่มต้นจากข้อดีในส่วนของการควบคุมกันก่อน

  • กริปจับกล้องลึกพอสมควร ทำให้จับสะดวกแม้ตัวกล้องจะเล็กกว่ากล้องในระดับเดียวกัน
  • สามารถปรับแต่งได้ควบคุมได้หลากหลาย สามารถปรับการทำงานของปุ่มรอบกล้องได้ 9 จุด ให้เหมาะสำหรับการใช้งานของแต่ละคน
  • สามารถปรับตั้งค่าเมนูของปุ่ม Fn ใส่คำสั่งเข้าไปอีก 10 ตัวที่ใช้บ่อยได้
  • มีฟังก์ชั่นช่วยโฟกัสมือเยอะ ทั้ง peaking focus (จุดที่คมชัดจะเน้นสีขึ้นมา ทำให้ดูง่ายขึ้นว่าโฟกัสเข้าจุดรึยัง) หรือการซูมภาพช่วยหาโฟกัส
  • ฟังก์ชั่นลึกลับอีกมากมายรอให้คุณค้นหาในเมนูที่จะทำให้ชีวิตการถ่ายภาพดีขึ้น เช่น
    • Silent Shooting คือการถ่ายภาพแบบเงียบสนิท ไม่มีเสียงม่านซัตเตอร์ฉับๆ แต่ก็ทำให้บางฟังก์ชั่นหายไป เช่นการถ่าย HDR, หรือการถ่าย B
    • ISO Auto Min SS ปรับความเร็วซัตเตอร์สปีดเวลาใช้ ISO Auto ให้ตรงใจขึ้น
    • Finder Frame Rate ปรับให้ภาพใน View Finder เคลื่อนไหวสมูทขึ้นได้ แต่จะเสียความละเอียดของช่องมองภาพไปบ้าง
  • สามารถส่งภาพและควบคุมกล้องผ่าน Wifi/NFC ได้

แต่ข้อสังเกตในการควบคุมก็มีอยู่ไม่น้อยนะครับ

  • เมนูเยอะมว้าก ชนิดที่ใครไม่คุ้นกับกล้อง Sony หรือต้องตามหาฟังก์ชั่นที่ไม่ได้เซ็ตปุ่มลัดไว้ ต้องใช้เวลาหลายนาทีในการค้นหา (เช่นคำสั่ง Format การ์ด อยู่ในเมนูรูปกระเป๋า หน้าที่ 5 ตัวเลือกที่ 5 ถ้าจำไม่ได้ก็กดหาเข้าไปสิ)
  • วงแหวนควบคุมที่ 2 (แป้นหมุนหลังกล้อง) อยู่ในตำแหน่งที่จับยาก การจะใช้นิ้วโป้งหมุนวงแหวนนี้จะจับกล้องไม่ถนัดมือ ต้องประคองกล้อง 2 มือ
  • ควบคุมกล้องมือเดียวยาก โดยเฉพาะถ้าต้องการซูมภาพด้วยเลนส์ ก็ต้องใช้อีกมือจับที่เลนส์ อันนี้คนที่ใช้กล้องเล็กมาก่อนอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่ที่ใช้ DSLR มาก่อนก็ไม่รู้สึกแปลกอะไร

Sony a6300 กล้องตัวท็อปในฝั่ง APS-C จากโซนี่

a6300-Lens2

จากการได้ทดสอบ Sony a6300 ยาวๆ ก็ต้องบอกว่าเลยเป็นกล้องที่คุ้มราคาค่าตัวมาก ถึงแม้หน้าตาและขนาดอาจจะทำให้โปรหลายคนตะขิดตะขวงใจกันบ้างว่ากล้องระดับ 4 หมื่นตัวนี้มันจะสู้กล้องตัวใหญ่ๆ ที่ราคาใกล้ๆ กันได้ไหม ก็ต้องบอกเลยว่าสู้ได้สบาย โดยเฉพาะในภาควิดีโอที่โดดเด้งเกินหน้าเกินตารุ่นพี่ไปมาก และระบบโฟกัสที่ทำงานเร็วและเชื่อใจได้