“ทัศนมาตรศาสตร์” อาจเป็นคำที่หลายคนไม่คุ้นเคย ทั้งที่จริงแล้วเป็นวิชาชีพแขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นับเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมากในการปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพในลักษณะหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ หลายคนอาจสงสัยว่า “นักทัศนมาตร” ทำหน้าที่ต่างจาก “จักษุแพทย์” อย่างไร?

ทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry) เป็นหนึ่งในวิชาชีพประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้องกับตาและโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสายตา ระบบการมองเห็น และการประมวลผลของระบบการมองเห็นในมนุษย์ นักทัศนมาตร (Optometrist) มีหน้าที่ตรวจวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาของระบบการมองเห็น ด้วยวิธีการทางทัศนมาตรหรือใช้อุปกรณ์ เช่น กล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ช่วยในการตรวจวัดสายตา โดยมีหลักการทำงานแบ่งเป็นระบบการมองเห็นออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่

  1. ระบบหักเหของแสง (Refraction)
  2. ระบบรับรู้ (Sensory) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้ตั้งแต่สัญญาณภาพที่เกิดขึ้นในจอตาส่งไปถึงกระบวนการทางสมอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเห็นภาพสามมิติ
  3. ระบบกลไก (Motor) จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อตา การปรับโฟกัส การสัมพันธ์กับการทำงานของตาทั้งสองข้าง ในการรักษาแนวทางตาข้างซ้ายและขวาให้สอดคล้องกัน 

นักทัศนมาตรจะทำหน้าที่ตรวจดูว่าสายตามีระบบหักเห การรับรู้ของการมองเห็น ระบบการปรับโฟกัส ระบบกล้ามเนื้อ มีความผิดปกติหรือไม่ จะส่งผลไปถึงสมอง หรือเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่มีผลทางตาหรือไม่ (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) หากมีโรคก็ต้องส่งให้จักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป นักทัศนมาตรจึงเปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาด่านแรกในการช่วยคัดกรองความผิดปกติของตาและวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับสายตา ซึ่งต่างจาก ‘จักษุแพทย์’ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจและรักษาโรคที่ดวงตา และต่างจาก ‘ช่างแว่น’ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตัดแว่นหรือเลนส์โดยอาศัยประสบการณ์

ทั้งนี้นักทัศนมาตร (Optometrist) จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) และช่างแว่น (Optician) เป็น 3 อาชีพที่เกี่ยวกับดวงตา แม้จะทำหน้าที่ต่างกันแต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด (ในต่างประเทศเรียกว่า “3 Os”) เมื่อทำงานร่วมกันจะเกิดประสิทธิภาพทางการรักษามากที่สุด

ในประเทศไทย นักทัศนมาตรถือเป็นวิชาชีพใหม่ที่มีความสำคัญ เนื่องจากในไทยมีผู้ดูแลด้านสุขภาพตาจำนวนน้อย และในไทยมีนักทัศนมาตรที่มีใบประกอบวิชาชีพจำนวน 534 คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก หากเทียบกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าจะต้องมีนักมาตรอย่างน้อย 1 คน ต่อประชากร 6,000-10,000 คน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีนักทัศนมาตรอย่างน้อย 6,500 คน (ขณะที่ในปัจจุบัน ไทยมีจักษุแพทย์ จำนวนประมาณ 1,300 คน และช่างแว่น จำนวนประมาณ 10,000 คน)

นักทัศนมาตร ต้องต้องจบหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต (Doctor of Optometry) ระดับปริญญาตรีถึง 6 ปี จากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเท่านั้น และต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะที่เรียกว่า ‘หนังสืออนุญาตให้ทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์’ จากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งต้องเข้ารับการอบรมสัมมนาเพื่อต่อหนังสืออนุญาตทุก 2 ปี โดยในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองหลักสูตรนี้ีรวม 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยนเรศวร และล่าสุด วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 1 หลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิตหลักสูตรนานาชาติในปีการศึกษา 2565 ที่จะถึงนี้

ที่มา: สมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทย, HITAP, Wikipedia
ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส