.. จำได้ว่า ตอนผมเข้ามาเขียนเพลงได้สักพักแล้ว  เพื่อนรุ่นพี่บางคนเคยแนะนำว่า  พยายามเขียนให้ได้หลายๆแนว  ภาษาเหมือนคนนั้นบ้าง  คนนี้บ้าง  ก็ยิ่งดี  แต่อย่าพยายามย่ำอยู่กับที่  ภาษาควรดิ้นได้ไปหลายๆทาง อย่าไปล็อคภาษาให้ตายอยู่ในทางของเราอย่างเดียว   ยิ่งใครเดาไม่ได้ยิ่งดี  งานเขียนเพลงจะยิ่งชุก  คนจะมาจ้างให้เราเขียนเพลงมากขึ้น  นั่นเพราะเราเขียนได้หลายแบบ หลายทาง  หลายสไตล์ ?!

.. ฟังดังนั้น  ผมค้านในใจ  เชื่อว่าไม่ถูกไปทั้งหมด  แต่เพราะเป็นรุ่นพี่  เดินนำหน้าในเรื่องงานเรามาก่อน  .. ผมจึงพูดครับ ครับ และก็ครับ  ฟังเขาไปไม่ให้เสียน้ำใจ  แต่ข้างในผมไม่เชื่อการอธิบายเหตุและผลของเขา  ว่ามันจะถูกต้องทั้งหมดจริง ?!
967993_831166556897014_518102769_n

.. ผิดถูกผมไม่รู้  รู้แต่ว่า  การเขียนเพลง ก็คือการสร้างงานศิลป์แบบหนึ่ง เป็นศิลป์ทางภาษาและอารมณ์  มันสมควรหรือ ที่จะพยายามไปลอกเลียนอารมณ์และแนวทางของใครอื่น  มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นไปในแบบของเราเอง  จับต้องได้ และมีพลัง  ที่สำคัญ นี่คือลายมือของเรา  จะเชย  จะเฉิ่ม  วันหนึ่งจะมีคนเห็นคุณค่า  ร่างของเราจะปรากฏแม้ในเงามืด  มีที่ยืนในทางของเรา ไม่เหมือนใคร น่าจะโดดเด่นกว่า .. และนี่คือความคิดของผม

.. คำชี้แนะของรุ่นพี่คนนี้  ถ้าเป็นคนหัวอ่อนหน่อย  คงหลงไปหาแนวทาง  หรือเสียเวลาไปนั่งสำรวจดูการปล่อยอารมณ์จากนักแต่งเพลงคนอื่น นานทีเดียว  และใช่ว่าไอ้ที่ดีในแบบคนอื่น เราจะเอามาเป็นของเรา และใช่ธรรมชาติของเราเสียเมื่อไหร่กัน ?  .. แทนที่จะหมดเวลาไปกับการเดินตาม  เอาเวลามาเขียนอะไรที่มาจาก “หัวใจ และ อารมณ์”  ของเราไม่ดีกว่าหรือ ?  ง่ายๆ ไม่มีอะไรยาก ยิ่งเขียนมาก เขียนบ่อย ก็จะยิ่งเข้าเนื้อฝังลึกในจิตวิญญาณของเราเอง  สวยงามและใช่ในแบบเรา  เมื่อชัดมั่นคงแล้ว  ก็ค่อยๆพริ้วไหวแตกแขนงไปแบบอื่นๆ  ต่อขยายให้ลึกล้ำยิ่งกว่า  แต่ก็ไปในทางยากขึ้นของเรา  หล่อรวมทั้งหมดมาจากเรา  เป็นเอกเทศ  ชัดเจนจนคนจดจำ  ถ้าอยากได้แบบนี้ อารมณ์นี้ จะนึกถึงเราขึ้นมาทันที ..

.. ไม่เช่นนั้นจะมีเจ้าพ่อเพลงรัก , ราชินีเพลงหวาน , ครูเพลงบู๊ , อาจารย์เพลงหยิกกัดสังคม และ นักเลงเพลงอกหัก ได้ยังไง ?  .. ที่เขาเรียกว่า “ทางใคร ทางมัน” นี่ใช่เลย  ส่วนทางของเรา จะเรียกว่าอย่างไร  ให้คนอื่นเขาเรียกเขาขาน  คำนิยามที่คนอื่นมองเข้ามา  อาจไม่ตรงกับใจหรือความจริงที่เรารู้สึก  นั่นไม่ใช่ปัญหา  ให้คิดว่ายังดีที่มีคนเรียก คนตั้งให้  ข้อดีก็คือ เราเริ่มมี “สไตล์” เป็นของเราเองแล้ว  จงภูมิใจกับมัน ..

.. มีสไตล์ ดีกว่าไม่มีนะครับ  เหมือนกันกับการสร้างงานศิลปะแขนงอื่นๆ  ไม่มีสไตล์นี่ก็เหมือนไม่มี “อาวุธประจำกาย” จะเอาอะไรไปต่อสู้กับคนอื่น เหมือนเราไม่มีจุดเด่น หากสิ่งที่เรามี เหมือนกับสิ่งที่คนอื่นเขามีกันดาษดื่น  โลกนี้มันก็เหมือนกันหมด  ตามๆกันไป  ไม่มีความแตกต่าง   จะทำให้เราเลี่ยนมากกว่าจะหลง น่ะสิครับ

.. แต่มีรุ่นพี่ร่วมอาชีพอีกคนของผมเคยเปรยว่า  การเขียนเพลงได้หลายแบบ  หลายแนวทาง  จนไม่มีความแน่ชัดหรือน่าจดจำในแบบหนึ่งแบบใด  ก็สามารถเรียกว่าเป็นสไตล์ได้เหมือนกัน  เป็น “สไตล์จับฉ่าย” เอาอยู่หมดไม่ว่าจะให้เขียนแบบใด แต่ดีแบบสุดๆหรือเปล่า หรือแค่ได้พอใช้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ถนัดที่จะสร้างงานได้ทุกอย่าง  แบบนี้ผมก็เคยพบเจอมาบ้าง  แต่ส่วนตัวของผมเชื่อว่า  หากอยากเป็นที่จดจำ  ยังไงก็ต้องหาสไตล์ หรือแนวทางของเราให้เจอ  อย่างน้อยๆต้องตอบคนอื่นให้ได้ว่า  แบบไหนที่เราชอบ รักที่จะทำ  ถนัด และมีความสุขแม้เพียงเริ่มปล่อยอารมณ์  ออกสู่ปลายปากกา

1922698_831166533563683_476096635_n

.. สไตล์คือตัวตน คือความสุข เป็นเรื่องของอุดมคติ มันมีค่านะครับ  สไตล์มันต้องเกิดจากความ “ชอบ” และ “เชื่อ” ไม่ใช่เกิดจาก ต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เพราะคนอื่นจะชอบ จะหาสตางค์ง่าย อันนี้ไม่ใช่  ถึงใช่ก็เป็น “เปลือกสไตล์” เป็นรูปแบบที่สัมผัสได้ว่าเทียม เพราะไม่ได้มาจากก้นบึ้งทางความรู้สึก  พูดให้ง่าย  นั่นอาจไม่ใช่อาร์ทติสตัวจริงในทางอุดมคติ แต่เป็นอาร์ทติส ที่เชื่อในเรื่องปากท้อง และมองว่า การหาเลี้ยงชีพนั้น สำคัญเหนืออื่นใด ..

.. สไตล์ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะอยู่คงทนกว่า และจะเพิ่มพูนความแข็งแรงในตัวตนของเรา  เรียกว่าศิลปินที่มีสไตล์  ก็คือโลโก้ คือใบเบิกทาง คือป้ายประกาศที่ติดอยู่ที่หน้าผากของเราไปจนตาย    สามารถยืนอยู่ได้ในแบบของเราเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งแนวทางของใคร หรือรอช่องว่างจากคนอื่นจะสละพื้นที่ให้  นั่นไม่จำเป็น

.. มีสไตล์ ก็คือมีอาวุธประจำกาย  ไม่มีสไตล์ ก็คือไร้อาวุธ  แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับคนอื่นเขา  ไม่มีอะไรครับ  แค่เขียนย้ำบอกกันอีกที ก่อนจะจบบทความเรื่องนี้ ..