เริ่มต้นเทศกาลสาดสีกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ที่ผ่านมา กับการรอคอยภาคต่อของเกมสาดสีถมหมึกที่หลายคนหลงรักกับ ‘Splatoon 3’ เกมออนไลน์แบ่งทีม 4 คนเพื่อถมพื้นที่อีกฝ่ายในเวลา 3  นาที ใครถมสีได้เยอะกว่าชนะที่ตัวเกมไม่เน้นการฆ่าฟันแบบเกมอื่น แต่เกมนี้จะต่อสู้เพื่อป้องกันตัวระหว่างถมสี ด้วยอาวุธมากมายตามแต่ที่เราถนัดในโหมดต่าง ๆ ที่มีให้เล่นมากมาย ทั้งการจัดอันดับ ‘Ranks’ โหมดขโมยไข่ปลา ‘Salmon Run’ รวมถึงเนื้อเรื่องที่ให้เราไปดูโลกในจักรวาล ‘Splatoon’ ที่ไม่เคยเห็นในเกมหลัก ซึ่งเราก็เชื่อว่าหลายคนที่สนใจเกมนี้แต่ไม่รู้ว่าเกมนี้เป็นอย่างไร บทความนี้จะมาอธิบายระบบต่างเบื้องต้นสำหรับคนที่เพิ่งลองเล่นได้รู้จักเกมนี้กัน พออ่านบทความนี้จบคุณจะได้เป็นการตัดสินใจว่าจะซื้อมาเล่นดีหรือไม่ ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมอาวุธให้พร้อมแล้วมาร่วมสงครามสาดสีไปพร้อม ๆ กันเลย

สงครามสาดสีระหว่างเผ่า Inklings และ Octolings ไม่มีอาชีพมาจำกัดเล่นอันไหนก็ได้

Splatoon 3

เริ่มต้นเรื่องแรกสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจับซีรีส์ ‘Splatoon’ ครั้งแรกอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่าในเกมภาคที่ 3 นี้เราสามารถเลือกสายพันธุ์ตัวละครได้ ต่างกับภาคก่อนที่เลือกได้แค่เผ่าหมึกกล้วย ‘Inklings’ (หมึกบดหมึกย่างที่ขายตามรถเข็น) แต่คราวนี้เราสามารถเลือกหมึกสายพันธุ์ ‘Octolings’ ที่เป็นหมึกสาย (หนวดหมึกที่ขายตามห้าง) ที่ทรงผมจะต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้จะไม่ถูกกันมาตั้งแต่อดีต แต่โดยรวมแล้วนอกจากทรงผมก็ไม่มีอะไรต่างกัน ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนเพศทรงผมได้ตลอดในหน้าเมนู แต่ถ้าเลือกสายพันธุ์ไปแล้วจะเปลี่ยนไม่ได้ชอบแบบไหนก็ไปเลือกดู และไม่ต้องกลัวว่าตัวละครเราจะไปซ้ำคนอื่นเพราะชุดในเกมนั้นมีมากมายให้เราซื้อเปลี่ยน โอกาสที่จะเห็นตัวละครที่เหมือนเราจึงเป็นไปได้ยาก และที่สำคัญที่สุดคือเราสามารถเลือกอาวุธมาลงแข่งได้เลย ไม่ต้องกลัวโดยเพื่อนร่วมทีมว่าทำไมไม่ใช่แบบนั้นแบบนี้ เหมือนเกมอื่นที่มีอาชีพมาจำกัดการเล่นของเรา ที่บางทีการขาดบางอาชีพของตัวละครไปสมดุลทีมก็เสียทันทีแต่สำหรับเกม ‘Splatoon’ จะไม่มีถูกมีผิดมีแต่จะถมสีกำจัดศัตรูได้มากน้อยเท่านั้น ชอบแบบไหนเลือกไปลงแข่งได้เลย

Splatoon 3

เลือกอาวุธที่ตนเองถนัดในโหมดฝึกซ้อมและการใช้ Gyroscope

Splatoon 3

ถัดจากเหล่าตัวละครก็มีเรื่องของอาวุธที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะอาวุธแต่ละชนิดนั้นก็จะมีการใช้งาน (การกด) จังหวะการควบคุมที่ต่างกัน ทั้งแบบกดค้างเพื่อยิงรัว ๆ แต่ปืนไม่ค่อยมีความแรง หรือแบบกดค้างเพื่อเพิ่มพลัง ไปจนถึงแบบกดเป็นจังหวะและแบบยิงทีละนัดเป็นลูกใหญ่ ที่มีรูปแบบคล้ายปืนจริง ๆ ในเกมที่หลายคนเคยเล่น แถมปืนชนิดเดียวกันรูปร่างคล้ายกันแต่จังหวะการยิงการใช้ต่างกันก็มี เรียกว่าซับซ้อนมาก ๆ แต่ทั้งหมดนั้นทาง ‘Nintendo’ กลับทำให้มันง่ายดายเพียงแค่คุณไปลองใช้อาวุธชิ้นนั้น ๆ ว่ามันถูกใจถูกมือคุณไหม โดยที่คุณยังไม่ต้องกดซื้อ แค่เลือกอาวุธชิ้นนั้นแล้วไปทดลองใช้แค่นี้คุณก็นะรู้ว่าอาวุธชิ้นไหนเหมาะมือกับคุณ และเมื่อได้อาวุธมาแล้วคราวนี้ก็มาฝึกการเล็งยิงที่เรียกว่าเป็นข้อจำกัดของเครื่องเกมคอนโซลที่จะเล็งยิงได้ช้ากว่าของ ‘PC’ แต่ปัญหานี้จะหมดไปถ้าคุณฝึกใช้ ‘Gyroscope’ ที่แถมมากับเครื่อง (ระบบเอียงเครื่องมุมกล้องในเกมจะเอียงตามเรา) แต่เกมนี้จะเปลี่ยนเป็นการเล็งเป้า ซึ่งถ้าฝึกจนเก่งคุณจะสามารถเล็งยิงได้อย่างรวดเร็วเทียบเท่าคนเล่นเกมยิงบน ‘PC’ เลย ลองฝึกดูไม่นานก็คล่องหรือถ้าไม่ถนัดจริง ๆ ตัวเกมก็มีให้ปิดระบบนี้แล้วใช้ตัวควบคุมแบบเกมยิงปกติก็ได้ตามแต่ถนัด เพราะอาวุธบางชนิดก็ไม่เหมาะกับ ‘Gyroscope’ ในการเล็งเช่นแปลงทาสีลูกกลิ้งหมึกที่ไม่ต้องใช้ความแม่นในการทาสี

Splatoon 3

ความสามารถพิเศษที่ติดมากับอาวุธและชุดที่สวม

Splatoon 3

เมื่อได้อาวุธที่ถูกใจแล้วอีกอย่างที่คุณต้องเลือกคือท่าไม้ตายที่ติดมากับอาวุธ ที่ใน ‘Splatoon 3’ เราสามารถเลือกท่าไม้ตายมาติดที่อาวุธของเราได้อย่างอิสระ โดยท่าไม้ตายจะเกิดจากการสะสมค่าถมสีในเกม ที่เมื่อได้ตามกำหนดเราจะกดใช้ท่าไม้ตายที่มีทั้งแบบช่วยถมสีกำจัดศัตรู หรือจะเพิ่มพลังให้เพื่อนตามแต่เราจะเลือก นอกจากท่าของอาวุธแล้วชุดที่เราสวมก็จะมีช่องให้เราติดความสามารถพิเศษที่จะมาแบบสุ่ม เมื่อค่าพลังของชุดขึ้นตามที่เกมกำหนด ซึ่งถ้าเราได้ความสามารถที่ไม่ตรงใจก็สามารถเอาความสามารถนั้นออกและเปลี่ยนใส่อันที่เราชอบได้ แต่จะต้องมีค่าการแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างชุดเก่งของเราในการต่อสู้ ที่ตัวเกมจะสอนเราว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งความสามารถพิเศษแต่ละอย่างนั้นก็มีการวิ่งบนหมึกเร็วขึ้น เติมหมึกเร็วขึ้น ที่เกมจะอธิบายบอกเราอย่างละเอียดว่าความสามารถเหล่านี้ทำอะไรได้ หรือถ้าใครไม่อยากอ่านแค่ดูรูปก็น่าจะเข้าใจความหมายว่ามันคือความสามารถอะไร เรียกว่าทาง ‘Nintendo’ ทำมาเพื่อทุกคนจริง ๆ สำหรับเกมนี้

Splatoon 3

กฎกติกาการเล่นเบื้องต้นมันคือเกมสาดสีถมพื้นที่ Turf War

Splatoon 3

คราวนี้มาดูระบบการเล่นหลัก ๆ ของเกมนี้กัน โดยเริ่มจากโหมดสร้างชื่อให้กับเกมนี้ที่หลายคนติดใจ นั่นคือโหมด ‘Turf War’ หรือการแข่งถมสีใส่พื้นที่ในเกมให้เยอะที่สุด ซึ่งคนที่ไม่เคยเล่นเกมนี้เมื่อพูดว่าถมสีให้เต็มพื้นที่มากกว่าอีกฝ่าย หลายคนก็อาจจะเบือนหน้านี้เพราะคิดว่าแค่การถมสีมันสนุกตรงไหน ซึ่งบอกเลยว่านี่ละคือความสนุกของเกม เพราะการถมสีนั้นเราต้องถมแข่งกับอีกฝ่าย ที่เราสามารถถมสีทับฝ่ายตรงข้ามและต้องยิงกำจัดอีกฝ่ายให้ไปเกิดใหม่ที่จุดเริ่ม ซึ่งยิ่งเรากำจัดอีกฝ่ายได้ก็เท่ากับเราได้เวลาถมสีเพิ่ม ดังนั้นโหมดนี้ไม่ใช่แค่ถมสีอย่างเดียว แต่เราต้องกำจัดอีกฝ่ายด้วยอาวุธหลากหลายแบบ และท่าไม้ตายที่ติดมากับอาวุธนั้น ๆ เพื่อการกำจัดอีกฝ่าย ที่ต้องลองเล่นเองแล้วคุณจะรู้ว่าโหมดนี้มันสนุกจนติดหนึบขนาดไหน

Splatoon 3

ระบบ Ranks กับ 4 สนามเพื่อความท้าทาย

Splatoon 3

หรือถ้าการถมสียังไม่ท้าทายความสามารถพอตัวเกมก็มีระบบ ‘Ranks’ ให้คุณได้ไต่กัน โดยในโหมดนี้จะต่างกับโหมด ‘Turf War’ ที่เป็นแค่การถมสี แต่ในโหมด ‘Ranksings’ ที่เรียกรวม ๆ ว่า ‘League Battles’ ที่มี 4 อย่างให้เราเลือกเล่นได้ตามที่ชอบ ซึ่งต่างกับภาคก่อนที่เกมจะมาแบบสุ่ม ถ้าไปเจอโหมดที่ตัวเองไม่ถนัดไม่ชอบหรือคนเล่นไม่เป็นก็แย่ไป แต่คราวนี้เราสามารถเลือกเล่นที่ตัวเองชอบได้ และเมื่อเราชนะ ‘Ranks’ ของเราก็จะขึ้นมาเพื่อเจอคู่แข่งที่สูงขึ้นเพื่อความสนุกและเป็นการจัดอันดับในการแข่งบางรายการที่จะมีในอนาคตด้วย โดยในโหมดนี้จะถูกแยกย่อยออกเป็น 4 การเล่นต่อไปนี้

Splat Zones

Splatoon 3

‘Splat Zones’ การแข่งถมสีในพื้นที่จำกัดในเวลาที่กำหนด โดยทั้งสองฝ่ายต้องแข่งกันยึดพื้นที่สีให้เต็มครบตามที่เกมกำหนด เมื่อครบแต้มจาก 100 จะลดลงจนถึง 0 หรือหมดเวลาใครมีแต้มน้อยกว่าก็จะชนะไป โดยความสนุกของโหมดนี้คือพื้นที่แคบให้ทุกตัวละครมาที่จุดเดียวเพื่อสู้กัน (ยิงกันมั่วมาก ๆ แต่สนุก) หรือในบางครั้งจุดก็จะย้ายที่ไปมาหรืออาจจะมีมากกว่า 1 จุดให้ถมในฉากเดียว บอกเลยว่าโหมดนี้เดือดสุดจากทั้งหมด

Tower Control

Splatoon 3

‘Tower Control’ อันนี้ตามชื่อเลยนั่นคือการถมสีใส่แท่งเพื่อให้มันวิ่งไปตามจุดที่เกมกำหนด ใครถึงที่หมายก่อนหรือใกล้จุดอีกฝ่ายก่อนก็จะชนะ โดยความสนุกของฉากนี้คือการแย่งแท่งวิ่งได้อันนี้ ซึ่งการไปบวกตรง ๆ ก็อาจจะทำให้เราเสียเปรียบต้องใช้ความคิดความเร็วและเทคนิคในการเล่นที่ต่างกับโหมดอื่น โดยโหมดนี้ต้องใช้ความสามัคคีในทีมสูงที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าใครไม่รู้ไปบวกเพื่อแย่งแท่งตรง ๆ รับรองมีไปเกิดใหม่ ทำให้อีกฝ่ายมีจังหวะคุมเกม ต้องคิดวางแผนและดูเพื่อน ๆ ว่าอยู่ตรงไหนทำอะไร หรือจะป้องกันดักศัตรูตรงไหนเพื่อไม่ให้แท่งโดนแย่งไป แต่โดยรวมก็สนุกมาก ๆ

Rainmaker

Splatoon 3

ในส่วนของ ‘Rainmaker’ ก็จะต่างกับอีก 2 โหมดก่อนหน้านี้  เพราะโหมดนี้เราต้องไปแย่งปืนทำลายล้างสูงที่อยู่กลางฉากเพื่อไปวางยังฝ่ายศัตรูก่อนเวลาหมด ซึ่งใครที่นำอาวุธไปวางใกล้แท่นวางใกล้ที่สุดก็จะชนะ ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคืออาวุธทำลายล้าง ที่เราสามารถใช้อาวุธนี้ยิงใส่ศัตรูได้ระหว่างวิ่งไป ส่วนข้อเสียคือปืนจะยิงช้ามาก ๆ แต่ยิงได้แรงสุด ๆ ซึ่งสิ่งที่เพื่อนร่วมทีมต้องทำคือการสร้างสีเป็นทางให้คนที่ได้ปืนวิ่งไปให้ใกล้ที่สุดและกำจัดศัตรูตรงหน้า โดยในโหมดนี้ทุกคนต้องรู้งานรู้หน้าที่ว่าต้องไปแย่งปืนกัน พอเพื่อนได้ปืนก็ต้องป้องกันเพื่อนและช่วยกันสร้างทางให้เพื่อนวิ่ง (แปลร่างเป็นหมึกว่ายในสี) ให้เร็วและใกล้จุดของอีกฝ่ายมากที่สุด บอกเลยว่าลุ้นมาก ๆ ในโหมดนี้

Clam Blitz

Splatoon 3

จากทั้งหมดที่กล่าวมาโหมด ‘Clam Blitz’ มีเงื่อนไขและเล่นยากที่สุดจากทั้งหมด โดยในโหมดนี้เราจะต้องเก็บเปลือกหอยที่กระจัดกระจายอยู่รอบเวทีมารวมกันให้ได้ 10 อันแล้วมันจะเป็นลูก ‘Power Clam’ ได้ 1 ลูก เพื่อเอาไปยิงใส่ประตูอีกฝ่ายจาก 100 ไปถึง 0 ซึ่งใครที่แต้มลดเยอะสุดตอนหมดเวลาก็จะชนะ ความสนุกของโหมดนี้คือการวิ่งไปรวมเปลือกหอยแข่งกับอีกฝ่าย ซึ่งทีมที่รู้งานก็จะมีคนเฝ้าประตู 1 คนเพื่อกันอีกฝ่าย โดยในโหมดนี้จะเล่นได้ยากสำหรับมือใหม่แต่ถ้าเป็นแล้วก็สนุกมาก ๆ โหมดหนึ่งเลยทีเดียว

Splatfests

Splatoon 3

แถมด้วยการแข่งขันรายเดือนที่เรียกว่า ‘Splatfests’ ที่จะเป็นการเลือกเพื่อแข่งกันทำแต้มให้กับทีมที่เราเลือกเพื่อนับคะแนนรวมว่าใครเยอะสุด โดยในแต่ละเดือนจะมีการแข่งที่ต่างกันไปและมีของแจกให้ด้วย โดยครั้งแรกของ ‘Splatoon 3’ จัดขึ้นในรูปแบบการถมสีแบบ ‘Turf War’ แต่จะเพิ่มเป็น 3 ทีม ค้อน กรรไกร กระดาษ เพื่อแข่งถมสี โดยตรงกลางจะมีเพื่อนร่วมทีม 4 คนขณะที่อีกสองฝ่ายจะมีทีมละ 2 คนเพื่อแข่งกันว่าใครจะไปหยิบจรวดตรงกลางได้นานที่สุดเพื่อจะขยายสีฝั่งตัวเองที่เล่นสนุกมาก ๆ ในโหมดนี้

Salmon Run ร่วมมือกับเพื่อนอีก 3 คนสู้กับเหล่า Salmonid เพื่อเงินและชุดพิเศษ

Splatoon 3

หรือถ้าไม่อยากไปแข่งกับคนอื่นในเกม ‘Splatoon 3’ ก็มีโหมดร่วมมือกับเพื่อน ๆ เพื่อสู้กับเหล่า ‘Salmonid’ เหล่าปลาที่วิวัฒนาการขึ้นมาบนบกเพื่อสร้างความวุ่นวาย เรากับเพื่อนอีก 3 คนต้องมาขโมยไข่ของพวกมันที่เรียกว่า ‘Salmon Run’ ที่เรากับเพื่อน ๆ จะได้อยู่ในฉากพิเศษและอาวุธแบบสุ่มเพื่อช่วยกันกำจัดปลา ‘Salmonid’ ที่ยกพวกมารุมเรา โดยเราต้องเอาชนะมันแล้วเอาไข่มาให้ได้ตามที่เกมกำหนดก็จะผ่าน ซึ่งความสนุกของโหมดนี้คือการต่อสู้กับกองทัพปลาที่พกอาวุธยกพวกมามากมาย ที่เล่นแล้วให้อารมณ์ต่างกับโหมดอื่น ๆ ที่ผ่านมา แถมเมื่อเล่นจบเราจะได้เงินและชุดพิเศษที่ไม่ได้จากร้านขายด้วย โดยในแต่ละวัน (เมื่อเราเปิดเกมมา) เหล่าพิธีกรจะบอกเราว่าวันนี้จะมีการแข่งอะไรรวมถึงรางวัลที่ได้จากการเล่น ‘Salmon Run’ ว่าจะให้อะไรกับเรา ตัวเกมจะสุ่มแบบยากง่ายสลับกันไปบอกเลยว่าสนุกมาก ๆ ถ้าเล่นกับเพื่อน ๆ ที่สื่อสารกันได้จะยิ่งสนุกกว่าเดิมหลายเท่าบอกเลย

Splatoon 3

โหมดเนื้อเรื่องที่สานต่อจากภาคก่อนที่ผู้เล่นใหม่ก็สามารถรับรู้เรื่องราวได้

Splatoon 3

นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วในเกม ‘Splatoon 3’ ก็ยังมีโหมดเนื้อเรื่องให้เราได้เล่นด้วย เพื่อทำภารกิจต่าง ๆ เพื่อช่วยโลกนี้ให้ปลอดภัย ซึ่งถ้าจะให้เราสรุปเนื้อเรื่องสั้น ๆ เกมนี้จะกล่าวถึงโลกในอนาคตที่มีน้ำท่วมโลกจนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตายหมดโลก (เหลือแมวหลงมา 2 ตัว) จนสัตว์ทะเลโดยเฉพาะหมึกได้วิวัฒนาการขึ้นมาบนบก (และลงน้ำอีกไม่ได้แล้ว) นั่นคือสายพันธุ์ ‘Inklings’ และ ‘Octolings’ ที่ทำสงครามกันจนฝ่าย ‘Inklings’ ชนะ แต่ทั้งสองฝ่ายก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ก็มีภัยร้ายใหม่ ๆ มาทำลายโลกนี้ เราที่เป็นตัวแทนของนักรบจึงต้องออกช่วยเหลือโลกนี้ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เนื้อเรื่องคร่าว ๆ เท่านั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายถ้าใครสนใจก็ไปหามาศึกษาดู เนื้อเรื่องค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว ใครที่เบื่อโหมดที่กล่าวมาก็ไปเล่นเนื้อเรื่องดู ค่อนข้างสนุกเลยทีเดียว

Splatoon 3

Amiibo เพื่อชุดพิเศษที่ไม่มีในเกมและ Application Nintendo Switch Online สำหรับตรวจดูสิ่งต่าง ๆ

Splatoon 3

ปิดท้ายกับของเล่นของสะสมที่เป็นจุดเสียเงินเพิ่มสำหรับคนที่เล่นเกมนี้กับเหล่า ‘Amiibo’ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่รู้จัก ‘Amiibo’ คืออุปกรณ์เสริมที่เอามาเล่นกับเกม ‘Splatoon 3’ ได้ด้วยการสแกนตัว ‘Amiibo’ ที่ตัวเครื่อง ‘Nintendo Switch’ เพื่อรับชุดพิเศษที่ไม่มีขายทั่วไปในเกม โดยในภาค 3 นี้ก็มีการประกาศออกมาแล้ว 3 ตัว (รูปด้านบน) ส่วนใครที่มี ‘Amiibo’ ของ 2 ภาคก่อนก็สามารถเอามาสแกนเพื่อรับชุดพิเศษได้เหมือนกัน คราวนี้คุณก็จะมีชุดที่ต่างกับคนอื่นแถมยังได้ตุ๊กตาน่ารัก ๆ มาสะสมด้วย ซื้อมาตัวเดียวแจกเพื่อน ๆ มาสแกนซ้ำได้เพื่อสร้างทีมชุดเหมือนได้ด้วย บอกเลยว่างานนี้มีเรียกพวกจาก 1 เป็น 2 เป็น 10 แน่นอนบอกเลยว่าเริ่มแล้วหยุดยากคนวงในวงการ ‘Amiibo’ กล่าวเอาไว้ นอกจากนี้ก็ยังมี ‘Application Nintendo Switch Online’ สำหรับเอาไว้ดูสถิติต่าง ๆ ในเกมที่เราเล่นไปทั้ง  2 ภาค (และมีเกมอื่น ๆ ด้วยนอกจาก ‘Splatoon’) รวมถึงการซื้อชุดแบบพิเศษที่มีใน ‘Application’ นี้เท่านั้น แถมยังสามารถดูการแข่งย้อนหลังของเราได้ด้วย และถ้ามีอะไรใหม่ ๆ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เราก็จะรู้ได้ก่อนเข้าเกม เรียกว่าเหมาะสำหรับทุกคนจริง ๆ

Splatoon 3

ก็จบกันไปแล้วกับการแนะนำการเล่นเบื้องต้นของเกม ‘Splatoon 3’ ที่เพิ่งจับเกมนี้ครั้งแรกจะได้ไม่ต้องมานั่งงงว่าโหมดนี้คืออะไรอันนี้ต้องเล่นแบบไหน มาอ่านในบทความนี้ทีเดียวรู้ครบ  โดยเราไม่ได้เจาะลึกในรายละเอียดของการจัดตู้ใส่ของรายละเอียดอาวุธ เพราะมันคือสิ่งใหม่ที่จะทำก็ได้ไม่ทำก็ไม่เป็นไรไม่มีผลกับเกม ส่วนอาวุธผู้เล่นต้องไปลองเองถึงจะรู้ว่าอันไหนเป็นอย่างไรมาอธิบายไปก็ไม่เข้าใจอยู่ดี หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับผู้เล่นหน้าใหม่ ใครที่สนใจก็ไปซื้อเครื่อง ‘Nintendo Switch’ มาเล่นได้เลยเกมวางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนใครที่ซื้อแล้วก็ไปเจอกันในสงครามสาดสี ‘Splatoon 3’ ตอนนี้ได้เลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส