ในยุคโลกาภิวัตน์อันไร้ซึ่งพรมแดนทางโลกไซเบอร์เช่นนี้ เราเชื่อว่าถ้าพูดชื่อหนึ่งในบริษัทลือชื่อที่โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ อย่าง ‘Intel’ ขึ้นมา ใครต่อหลายคนก็คงคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี…คุณผู้อ่านเองก็คิดแบบนั้นใช่ไหมล่ะ?

หลายต่อรู้คนรู้ดีว่า Intel มีชื่อเสียงด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ชิป (chip)’ มาอย่างยาวนานเลยทีเดียว ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานเหล่านั้น ก็อาจนานจนผู้คนลืมเลือนกันไปแล้วถึงจุดเริ่มขึ้นของบริษัทนี้ แต่ไม่ใช่ว่าวันนี้เราจะมาพาคุณผู้อ่านไปดูหนึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดของ Intel หรอกนะ! เราจะมาชวนคุณผู้อ่านไปรู้จักหนึ่งในจุดเริ่มต้น โดยเน้นไปที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Intel ต่างหากล่ะ! เอาล่ะ งั้นมาเริ่มกันเลยดีกว่า!

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Intel คนนี้คือใครเอ่ย?

เขาคือ ‘โรเบิร์ต นอร์ตัน นอยซ์ (Robert Norton Noyce)’ วิศวกรชาวอเมริกัน ผู้เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1927 ณ Burlington รัฐไอโอวา ที่ได้รับสิทธิบัตรสำหรับการคิดค้นแผงวงจรรวม (Integrated Circuit) ในชื่อสิทธิบัตร ‘SEMICONDUCTOR DEVICE-AND-LEAD STRUCTURE’ หมายเลข US2981877A ซึ่งอันที่จริง สิทธิบัตรนี้ เขาก็ได้รับมาตอนที่อยู่ในบริษัท Fairchild Semiconductor ก่อนที่จะก่อตั้ง Intel อีก

แถมบริษัท Fairchild Semiconductor ก็เป็นบริษัทที่โรเบิร์ตและเพื่อนร่วมอุดการณ์อีก 7 คน เสนอให้นักลงทุนอย่าง Sherman Fairchild มาร่วมด้วย เพื่อก่อตั้งบริษัทขึ้นด้วย!

โดยบริษัทถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 1957 และในปี 1968 โรเบิร์ตก็ออกมาจากบริษัท Fairchild Semiconductor แล้วไปก่อตั้ง Intel กับ กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) และแอนดรูว์ โกรฟ (Andrew Grove)

แล้วสิทธิบัตรที่โรเบิร์ตได้รับ เกี่ยวข้องยังไงกับ Intel กันนะ?

สิทธิบัตรที่โรเบิร์ตได้รับมานั้น เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า แผงวงจรรวม (Integrated Circuit) หรือ ไอซี (IC) ซึ่งการคิดค้นของเขานั้นเป็นการนำส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ ไดโอด ทรานซิสเตอร์ มาต่อรวมกันในแผงวงจรขนาดเล็ก คุ้น ๆ กันขึ้นมาแล้วบ้างไหม?…ใช่แล้ว! ในยุคนี้เรามักรู้จักสิ่งนี้กันในชื่อ ‘ชิป (Chip)’ นั่นเอง และชิปก็เป็นผลผลิตอันเลื่องชื่อของ Intel ยังไงล่ะ!

โดยชิปตัวแรกของ Intel นั้นมีชื่อว่า ‘Intel 4004’ เป็นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) แบบ 4 บิตที่เปิดตัวหลังก่อตั้งบริษัทไปเพียง 3 ปี เท่านั้น ก็คือในปี 1971 โดยมีราคาขายอยู่ที่ 60 ดอลลาร์

Intel 4004

ความสำคัญของโรเบิร์ตต่อวงการไอที

หากพูดโดยรวมให้เห็นภาพง่าย ๆ แล้ว ก็คงจะกล่าวได้ว่าโรเบิร์ตเป็นทั้งนักเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ และผู้นำอุตสาหกรรม เพราะเขาเป็นทั้งผู้ที่ร่วมก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association), ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนแรกของ SEMATECH ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยในอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการช่วยประคองอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่มีการแข่งขันระดับโลกสูงขึ้น และเขายังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘นายกเทศมนตรีแห่งซิลิคอนวัลเลย์ (The mayor of silicon valley)’ อีกด้วย นับว่าเป็นรัฐบุรุษของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเลยทีเดียว

โรเบิร์ตมอง ‘ความเท่าเทียมกัน’ เป็นรากฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมใหม่

โรเบิร์ตมุ่งมั่นในการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เขามอง ‘ความเท่าเทียมกัน’ เป็นรากฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมใหม่ แม้ว่าพนักงานอาจมีความแตกต่างกันเนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขา แต่โรเบิร์ตก็เชื่อว่าไม่ควรมีอุปสรรคเทียมจากตำแหน่งหรือระดับความอาวุโสในองค์กร เขาขอความคิดเห็นจากพนักงานทุกคน อยากให้พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งของพวกเขาใน ‘ห่วงโซ่อาหาร’ ขององค์กร

นั่นจึงไม่แปลกเลยที่โรเบิร์ตจะมีมิตรภาพที่ดีกับผู้คนมากมายในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในบริษัทของเขาเอง หรือผู้นำบริษัทอื่น ๆ โรเบิร์ตยังได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่มากมาย รวมถึงสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้ง Apple ด้วย ส่วนกับบิล เกตส์ (Bill Gates) แห่ง Microsoft ก็มีข้อมูลออกมาว่าบิลนั้นรับฟังโรเบิร์ตเป็นอย่างดี

Steve Jobs และ Robert Noyce ในงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย Jerry Brown

น่าเสียดายที่โรเบิร์ตมีอายุที่ไม่ยืนยาวมากนัก ใครจะไปคาดคิดว่าอดีตแชมป์การดำน้ำของรัฐไอโอวา ผู้ว่ายน้ำอยู่เสมอมาทั้งชีวิตจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายหลังจากการว่ายน้ำตอนเช้า ในปี 1990 การตายของเขาจึงเป็นการตายที่ค่อนข้างกระทันหัน และน่าเสียดายมากที่ผู้เกี่ยวข้องกับเขา ไม่ทันได้กล่าวลาเขาเลย โดยตลอดช่วงชีวิตของโรเบิร์ตนั้น เขาได้รับสิทธิบัตรถึง 16 ฉบับเลยทีเดียว

อ้างอิง: abcnews, britannica, Intel, lindahall, MThai, semiconductors, thefreelibrary

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส