เรื่องเงินอิเล็กทรอนิกส์ดูเหมือนจะใกล้ตัวคนไทยขึ้นมาอีก เมื่อรัฐบาลได้เห็นชอบในแผนระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) เมื่อปลายปี 2558 ทำให้เรื่อง Any ID หรือชื่อไทยคือ “นานานาม” กำลังจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแล้ว

Any ID คือการนำเลขที่บัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือไปผูกกับบัญชีธนาคาร เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรม เช่นการรับเงินจากหน่วยงานของรัฐ จะเป็นเรื่องคืนภาษี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ นานาก็แจ้งเพียงเลขที่บัตรประชาชน ระบบก็จะเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารให้เรียบร้อย ไม่ต้องวุ่นวายแนบสำเนาหน้าสมุดธนาคารทุกครั้งที่เปลี่ยนหน่วยงาน ลดความยุ่งยากระบบงานรัฐบาล และประชาชนก็จะได้รับเงินเร็วขึ้น

Play video

เบื้องต้น Any ID ของแต่ละคนจะสามารถผูกกับบัญชีธนาคารได้ 4 บัญชี โดยเชื่อมโยงกับ 1 หมายเลขประจำตัวประชาชน และ 3 เบอร์โทรศัพท์มือถือ (เช่นให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบัญชีเงินออม ส่วนเบอร์มือถือเป็นบัญชีเงินเดือน) ซึ่งต่อไปผู้ใช้เพียงแค่บอกเบอร์มือถือก็ทำธุรกรรม รับเงิน โอนเงินได้

ต่อไปเบอร์มือถือจึงเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น เราคงไม่สามารถเปลี่ยนเบอร์กันบ่อยๆ แล้ว และเบอร์สวยคงขายดีขึ้น (ฮาา) ซึ่งตอนนี้ธนาคารต่างๆ ก็เตรียมระบบลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารกับ Any ID กันแล้ว และคงมีโปรโมชั่นต่างๆ ตามมาอีก เพราะถ้าธนาคารไหนสามารถดึงเจ้าของบัญชีให้ผูกกับ Any ID ได้มาก ก็หมายถึงจะมีลูกค้าที่ใช้งานบัญชีประจำมากขึ้นด้วย

ซึ่งในเฟสต่อไปหลังจาก Any ID เริ่มต้นใช้ในสังคมไทย รัฐบาลจะขยายเครื่องรับชำระเงินหรือ EDC ไปทั่วประเทศอีก 2 ล้านจุด เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถรับการชำระเงินผ่านระบบ Any ID ได้ ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นยุคสังคมไร้เงินสดอย่างเป็นทางการ แล้วในช่วงต่อไปรัฐบาลก็จะปรับระบบภาษีและธุรกรรมทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ทำไมรัฐบาลถึงต้องกระตุ้นให้เกิดสังคมไร้เงินสด ก็เพราะว่าสังคมที่ใช้เงินสดนั้นมีต้นทุนสูงมาก เช่นต้นทุนการตั้งตู้ ATM ต้นทุนการขนเงิน ต้นทุนความเสียงที่เงินถูกขโมย ต้นทุนการเก็บรักษา แถมยังไม่สามารถติดตามการใช้เงินได้ง่ายๆ รัฐจะเก็บภาษีให้ครบถ้วนก็ตามหลักฐานได้ยาก

ข่าวดีของคนที่จ่ายภาษีอยู่แล้ว อาจจะจ่ายน้อยลง

ฟังดูเหมือนข่าวร้ายสำหรับประชาชนที่รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้นถ้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว แต่จริงๆ แล้วมันเป็นข่าวดีต่างหาก โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำ เป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีกันอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้จากประชากร 65 ล้านคน รัฐสามารถเก็บภาษีได้ราวๆ 10 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งถ้ารัฐสามารถเก็บภาษีได้เท่าเทียมกัน รัฐก็ได้เงินไปพัฒนาประเทศมากขึ้น คนที่เสียภาษีอยู่แล้วก็เสียน้อยลง เพราะมีเงินที่เก็บได้จากส่วนต่างๆ มาเสริม รัฐก็สามารถลดภาษีในจุดต่างๆ ได้ (ส่วนคนที่มีเงินได้แล้วไม่เคยเสียภาษี ก็จะได้เสียบ้าง ถือว่าช่วยๆ กันหารนะ)