ในยุคสมัยนี้ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักสื่อบันทึกข้อมูลของคอมพิวเตอร์ที่เรียกได้ว่า “ขาดไม่ได้” และมีใช้งานกันแทบทุกเครื่อง อย่างฮาร์ดดิสก์ (Harddisk, HDD) สื่อบันทึกข้อมูลในรูปแบบจานหมุนกันอย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีสื่อบันทึกข้อมูลรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างโซลิตสเตตไดรฟ์ หรือ SSD (Solid State Drive) บางเครื่องถึงขั้นเปลี่ยนการใช้งาน จาก HDD ที่คุ้นเคย มาเป็น SSD กันทั้งหมด หรือบางเครื่องยังใช้งานแบบควบคู่กันไปด้วย แล้วในความเป็นจริง สิ่งไหนดีกว่ากันแน่ และสิ่งไหนมีจุดอ่อนที่ตรงไหนบ้าง วันนี้ #beartai จะมาไล่เรียงถึงประสิทธิภาพ และข้อดี – ข้อเสีย ของสื่อบันทึกข้อมูลทั้งสองชนิดนี้กัน

แต่ก่อนที่จะมาเปรียบเทียบกันนั้น ต้องมาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นนี้กันก่อน

ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk)

ฮาร์ดดิสก์ สื่อบันทึกข้อมูลในรูปแบบจานแม่เหล็ก บันทึกและอ่านข้อมูลผ่านการจรดหัวเข็มลงบนแผ่นแม่เหล็ก สื่อชนิดนี้มีมานานตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1957 โดยไอบีเอ็มเป็นผู้ริเริ่มการใช้ฮาร์ดดิสก์เป็นรายแรก และขนาดการใช้งานในขณะนั้นถือว่าใหญ่มาก ทั้งขนาดของตัวจานแม่เหล็กที่ใหญ่เท่ากับถาดสแตนเลสขนาดใหญ่ และตู้บรรจุจานแม่เหล็กก็มีขนาดพอ กับตู้เซิร์ฟเวอร์ในปัจจุบัน

IBM 305 RAMAC (Scanned by Robert Garner, Dave Bennett collection)

ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการใช้งาน จนมาถึงขนาดที่เล็กและคุ้นชินในยุคปัจจุบัน กับขนาด 3.5 นิ้ว และ 2.5 นิ้ว พร้อมทั้งความเร็วของจานหมุนอยู่ในระดับที่พอรับได้ คือ 7,200 รอบ/นาที

ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว (บน) และขนาด 3.5 นิ้ว (ล่าง)

โซลิดสเตตไดรฟ์

SSD ชิ้นแรกในโลก (Source: Dataram)

สื่อบันทึกข้อมูลชนิดใหม่ที่มาในรูปแบบของชิปการ์ด ขนาดเทียบเท่ากับฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว บ้างก็มาในรูปแบบแผ่นยาวๆ สำหรับเสียบสลอตบนเมนบอร์ด หรือมีขนาดเทียบเท่ากับการ์ดจอ และติดตั้งบนสลอต PCI Express แรกเริ่มเดิมที สื่อบันทึกข้อมูลชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงปีค.ศ. 1978 แต่การใช้งานในช่วงเวลานั้นยังไม่เหมือนทุกวันนี้ SSD ในยุคนั้นสามารถใช้แทนแรม (RAM) ในการใช้งานเป็นบ่อพักการประมวลผล ทำให้การประมวลผลของคอมพิวเตอร์นั้นรวดเร็วกว่าเดิม (ถูกเรียกว่า DRAM หรือชื่อเต็ม Dynamic Random-Access Memory) เมื่อเทียบกับการใช้งาน RAM ในรูปแบบปกติเพียงอย่างเดียว

SSD หลากหลายขนาดในการใช้งาน (Source: Deskdecode)

ส่วน SSD ในยุคปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาให้สามารถเขียนและอ่านข้อมูลได้รวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็ก และที่สำคัญ เมื่อเทียบในเรื่องของการประมวลผลบน HDD นั้น SSD สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วทันใจ ต่างจาก HDD ที่จะต้องรอเวลาประมวลผลและการบันทึกข้อมูลที่นานกว่าเดิม

แล้วข้อดีและข้อเสียของทั้งคู่คืออะไร

คุณสมบัติและการใช้งานHDDSSD
ความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลอ่านต่อเนื่องได้ความเร็วสูงสุดประมาณ 200 MB/s

ส่วนอ่านข้อมูลที่กระจายไปทั้งไดร์ฟ จะใช้เวลานานมากกว่า SSD มาก เพราะหัวอ่านต้องอ่านข้อมูลจากหลายจุด
เร็วได้สูงสุดประมาณ 3500 MB/s (ส่วน SSD ระดับองค์กรเร็วได้กว่านี้อีก)

และสามารถดึงข้อมูลที่เขียนลงในไดร์ฟแบบสุ่มได้เร็วกว่าฮาร์ดดิสก์มาก
การเสื่อมสภาพเมื่อเก็บฮาร์ดดิสก์ในที่แห้งและควบคุมอุณหภูมิ จะสามารถเก็บข้อมูลได้ยาวนาน แต่อาจมีปัญหากับส่วนมอเตอร์แทนถ้าไม่มีไฟเลี้ยงนานๆ 1-2 ปี ข้อมูลจะเริ่มหายไป (ซึ่งไดร์ฟใหม่ๆ ผู้ผลิตเคลมว่าเก็บข้อมูลได้นานเป็นสิบปี)
ความทนทานการศึกษาจากม. Carnegie Mellon บอกว่าฮาร์ดดิสก์ระดับองค์กร เฉลี่ยแล้วจะเสียใน 6 ปี แต่บางกรณีอาจใช้งานได้ถึง 11 ปี
แต่ฮาร์ดดิสก์ก็เสียหายได้ง่ายจากแรงกระแทก และปัญหาระบบไฟ
SSD สามารถอ่าน-เขียนได้จำกัด แต่ไดร์ฟรุ่นใหม่ๆ จะมีการกระจายการเขียนข้อมูลไปทั่วไดร์ฟ ทำให้ SSD ใช้งานได้นานขึ้น แต่จังหวะจะเสีย อาจเสียได้ทั้งไดร์ฟ
ความเร็วในการเริ่มใช้งานต้องรอรอบจานหมุนให้ได้ระดับหลายวินาทีเริ่มทำงานทันที
ราคาจำหน่ายถูกกว่าและเข้าถึงง่ายแพงกว่า ยิ่งความจุเยอะ ยิ่งแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว
เสียงและการรบกวนมีเสียงระหว่างการทำงานไม่มีเสียง
หากเกิดอาการชำรุดสามารถส่งซ่อม หรือกู้ข้อมูลได้ไม่สามารถกู้ข้อมูลได้

เมื่อมาไล่เรียงลำดับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบแล้วนั้น ทั้งคู่ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป

ข้อดี-ข้อเสียของฮาร์ดดิสก์

เริ่มตั้งแต่ฮาร์ดดิสก์ก่อน ข้อดีของฮาร์ดดิสก์ที่แน่นอนในตอนนี้คือ เรื่องของราคาที่ถูกกว่า SSD และรูปแบบการใช้งานของฮาร์ดดิสก์มีหลากหลายกว่า ทั้งฮาร์ดดิสก์สำหรับการบันทึกข้อมูลเพียงอย่างเดียว ไปจนถึงฮาร์ดดิสก์ที่ต้องทำการประมวลผล และการบันทึกข้อมูลตลอดเวลา หรือฮาร์ดดิสก์ที่เหมะกับงานเฉพาะทาง เช่น ใช้กับการบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด

ส่วนข้อเสียของฮาร์ดดิสก์คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูล ฮาร์ดดิสก์หนึ่งลูก เมื่อถูกพักจากการใช้งานเป็นเวลานาน แล้วกลับมาใช้งานอีกครั้ง จะต้องรอรอบการหมุนของฮาร์ดดิกส์ให้ได้ความเร็วเหมาะสม จนเกิดความหน่วงในการเรียกและประมวลผลข้อมูลขึ้นมาแสดง อาจจะใช้เวลาหลายวินาทีในการดึงข้อมูลขึ้นมาแสดง บางครั้ง การทำงานของฮาร์ดดิสก์อาจมีเสียงรบกวน โดยเฉพาะช่วงที่มีการเขียนหรืออ่านข้อมูลบนจานแม่เหล็ก

และการใช้งานของฮาร์ดิสก์นั้น เมื่อใช้งานเป็นเวลานานๆ อาจจะเกิดการเสื่อมสภาพจากการเขียนและอ่านของหัวเข็ม บางครั้งหัวเข็มเกิดอาการล้า หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น เผลอทำตกหล่น หรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง ความเสียหายสามารถเกิดขึ้นได้กับแผ่นจานเหล็กและหัวเข็มที่ทำหน้าที่เขียนและอ่านข้อมูล บางครั้งต้องส่งซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ หรือทำการกู้ข้อมูล ซึ่งใช้จำนวนเงินที่เยอะพอสมควร ขึ้นอยู่กับว่าฮาร์ดดิสก์ที่ใช้งานอยู่นั้น มีความจุเท่าไหร่ และอาการนั้นมากหรือน้อยประมาณไหน

ข้อดี-ข้อเสียของ SSD

ส่วน SSD นั้น มีข้อดีที่เขียนและอ่านได้เร็วยิ่งกว่าจานหมุนทั่วไปหลายเท่าตัว ทั้งยังสามารถเลือกความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูล เพื่อเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานที่เราต้องการได้ นอกเหนือจากนั้น ขนาดของการใช้งานมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเล็กและใหญ่ ตั้งแต่ขนาดเท่ากับฮาร์ดดิสก์จานหมุน 2.5 นิ้ว ไปจนถึงเล็กพอๆ กับนามบัตรหนึ่งแผ่น และสามารถพกพาไปไหนมาไหนก็ได้ เรื่องของเสียงนั้นถือว่าไม่ได้ยินเลย เพราะตัวของ SSD นั้น เป็นแผ่นบอร์ดที่มีชิปบันทึกข้อมูลติดตั้งไว้ ฉะนั้นแล้ว เสียงของการทำงานจึงไม่มีออกมาเลย และเมื่อพักการใช้งานแล้วกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งนั้น ก็ไม่มีอาการหน่วงให้ปรากฎ สามารถเรียกใช้งานได้อย่างรวดเร็วและทันที

ถึงแม้ว่าข้อดีมีเยอะกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน แต่ข้อเสียก็มีเยอะมิใช่น้อย แน่นอนว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีใช้งานในคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป ราคาในการจำหน่ายถือว่าสูงกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนหลายเท่าตัว เปรียบเทียบง่ายๆ ฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนขนาดความจำ 1 เทราไบต์ (1 TB) ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1,990 โดยประมาณ แต่ในขนาดความจุเดียวกันกับ SSD ราคาจำหน่ายเริ่มที่หลักพันกลางๆ ไปถึงหลักหมื่นบาท (แล้วแต่ความเร็วของ SSD)

นอกเหนือจากราคาแล้วที่ทำให้หลายต่อหลายคนต่างตกใจ เรื่องของการกู้คืนข้อมูลก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการตัดสินใจซื้อด้วยเช่นกัน ด้วยความที่ SSD เปรียบเสมือนแผ่นชิป หรือแผ่นการ์ดบันทึกข้อมูล แม้เรื่องของการตกกระแทกนั้นจะดีกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน แต่ถ้าเกิดในกรณีที่ตัว SSD นั้นไม่สามารถใช้งานต่อไปได้อีก อย่างการตกลงไปในของเหลว หรือเกิดเพลงลุกไหม้ ความสามารถในการใช้งานของ SSD ถือเป็นอันสิ้นสุดลง และไม่สามารถนำอุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวเข้าสู่การกู้คืนข้อมูลได้ จะเรียกว่าเสียแล้วเสียเลยก็คงไม่ผิดอะไรนัก

สุดท้ายนี้ ทั้งสองอุปกรณ์ที่กล่าวมา ทั้งฮาร์ดดิสก์ และ SSD ต่างมีหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งสองสิ่งนี้มีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ สามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งคู่ เพียงแต่ผู้ที่ใช้งานนั้นจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการบันทึกข้อมูลให้ดีก่อน ว่าจะจัดเก็บสิ่งไหนไว้ที่ใด อย่างในคอมพิวเตอร์โดยทั่วๆ ไป ที่มีการติดตั้งฮาร์ดดิสก์และ SSD ควบคู่กันไป บ้างก็ใช้ฮาร์ดดิสก์ในการบันทึกข้อมูล บ้างก็ใช้ SSD ในการติดตั้งระบบปฏิบัติการและตัวโปรแกรม ให้สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วและทันใจ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกซื้ออุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้มาใช้งาน ก็คือ รูปแบบการใช้งาน ความจำเป็น และกำลังทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่ นี่คือสิ่งที่สำคัญในการตัดสินใจ

และอย่าลืม ไม่ว่าจะใช้งานฮาร์ดดิสก์ในรูปแบบไหน โปรดอย่าลืมสำรองข้อมูลไว้บนอุปกรณ์อื่น เช่น External Harddisk หรือ Cloud เผื่อในกรณีที่อุปกรณ์ชำรุด จะได้ไม่ต้องมานั่งทรุดและเศร้าใจในภายหลัง…

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส