AI ย่อยมาจาก Artificial Intelligence หรือแปลเป็นไทยว่า “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นระดับขั้นหนึ่งในวิทยาการคอมพิวเตอร์ คำว่า AI ถูกพูดถึงในวงกว้างมากว่า 20 ปีแล้ว ช่วงที่พีคสุด ๆ ก็มีหนังฮอลลีวู้ดออกมาในชื่อเรื่อง Artificial Intelligence: AI กำกับโดย สตีเวน สปิลเบิร์ก เมื่อปี 2001

แต่ในวันนี้ AI กลับมาเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยในบ้านเรา เมื่อรัฐบาลเปิดโครงการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ให้ไปลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือผ่านทางเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com แล้วรัฐบาลก็อ้างว่าในขั้นตอนนี้ ทางหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบได้ใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยคัดกรองผู้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขจริง หลังการประการผลผู้มีสิทธิ์รอบแรก ก็ก็กลายเป็นกระแสหลักที่ผู้คนต่างพูดถึงเรื่องนี้กันมาก มีทั้งผู้ที่ไม่สมควรจะได้รับก็ยังได้ ส่วนหลายคนอ้างว่าตัวเองสมควรได้ กลับได้รับ sms ข้อความว่า “ไม่ได้รับสิทธิ์” ซึ่งรัฐบาลก็อ้างอิงว่าเป็นไปตามระบบที่ AI คัดกรอง ตกลง AI นี่มันฉลาดจริงไหม แล้วที่รัฐบาลอ้างถึงนี่มันใช่ระบบ AI จริงหรือไม่ ชาวบ้านชาวช่องที่ไม่รู้จักว่า AI นี่มันคือตัวอะไร จากนี้เรามาทำความรู้จักคำว่า AI นี่กัน

AI คือเทคโนโลยีสมองกลคอมพิวเตอร์ที่สามารถคิดได้เหมือนมนุษย์

พื้นฐานของ AI คือเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบให้มีระบบทำงานเหมือนกับการทำงานของสมองมนุษย์ , AI ที่ใช้กันในวงกว้างทุกวันนี้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะเลียนแบบการทำงานให้เหมือนกับสมองมนุษย์เสียทีเดียว แต่สิ่งที่มุ่งหวังคือ “output” ของ AI จะสามารถตอบโต้กับผู้ใช้ได้โดยตรง ปัจจุบันซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัวที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI นั้น ต่างก็ต้องการให้ผู้ใช้ได้รู้สึกเหมือนตอบโต้กับมนุษย์ด้วยกันให้ได้มากที่สุด

AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบพร้อมเช่นเดียวกับมนุษย์ที่เกิดใหม่ ต่างก็ต้องเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ การเรียนรู้ของ AI เหมือนกับมนุษย์ คือรับรู้ข่าวสาร ข้อมูล แล้วนำมาประมวลผล จากนั้นก็จัดเก็บ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในอนาคต ยกตัวอย่างแนวทางการเรียนรู้ของ AI เสมือนเด็กคนหนึ่ง ที่เคยไปจับเตาแล้วรู้สึกร้อน สมองรับรู้ความเจ็บปวด ก็จดจำไว้แล้วก็จะไม่ทำเช่นนั้นอีก

ส่วนประกอบของ AI

ส่วนประกอบของ AI

รู้ให้ลึกลงไปอีกระดับ รูปแบบการทำงานของ AI เปรียบเสมือนวงกลมที่ซ้อนกันอยู่ 4 วง มีจุดศูนย์กลางร่วมกัน, AI คือวงใหญ่สุดอยู่นอกสุด วงด้านในถัดมาก็คือ การเรียนรู้ของจักรกล (Machine Learning หรือ ML) ML เป็นส่วนหนึ่งของ AI มีหน้าที่ในการเรียนรู้ แต่ภายใต้การทำงาน ML นั้นก็ยังต้องขึ้นอยู่กับวงกลมถัดไปคือ การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning หรือ DL) และสุดท้ายคือวงในสุด เป็นส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญ ที่การทำงานของทั้ง 3 วงนอกจะต้องขึ้นอยู่กับวงนี้ก็คือ โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks หรือ Intel)

รูปแบบการทำงานร่วมกันในแต่ละส่วนของ AI นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก”ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์”, ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญคือ Neural Network หน้าที่หลักและชัดเจนของมันก็คือ “คิด”ให้ได้เช่นเดียวกับความคิดของมนุษย์ การทำงานของสมองมนุษย์นั้นน่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะสมองเราสามารถทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างพร้อมกันให้ดูเป็นเรื่องง่ายดาย ในสมองมนุษย์นั้นมีระบบประสาทนับพันล้านตัวที่ทำงานเชื่อมโยงกัน และมีจุดประสานกันที่เรียกว่า synapses อีกล้านล้านจุด การที่ทุกจุดทำงานได้พร้อมกันเช่นนี้ ทำให้ระบบการทำงานของสมองมนุษย์นั้นยากที่จะเลียนแบบได้ และนั่นคือเป้าหมายที่เหล่านักวิทยาศาสตร์, นักคณิตศาสตร์ และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านพยามที่จะพัฒนาระบบความนึกคิดของ Neural Network ให้ทำงานได้เหมือนกับสมองมนุษย์

พัฒนาการของ AI ในวันนี้ยังอยู่ในขั้นแรกเริ่ม 

Neural Network ยังมีพัฒนาการอยู่เรื่อย ๆ แต่เป้าหมายยังอยู่อีกห่างไกลนัก แต่อย่างไรก็ตาม Neural Network ก็คือหัวใจสำคัญสุด เพราะมีผลต่อเนื่องมาถึงทุก ๆ ส่วนของ Ai ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของ Deep Learning และ Machine Learning ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของ Neural Network พูดได้ว่าหัวใจสำคัญอย่าง Neural Network คือตัวกำหนดพัฒนาการของวิทยาการ AI

ทุกวันนี้มีโปรแกรมและแอปพลิเคชันชื่อดังหลายตัว ที่ทำงานด้วยระบบ AI แล้วพัฒนามาได้ถึงจุดที่สามารถเรียนรู้ได้เองโดยสัญชาตญาณ อย่างเช่น Amy ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ ที่คอยช่วยเราทำการจองและจัดตารางนัดหมาย, Siri ของ Apple ก็สามารถตอบคำถามง่าย ๆ ได้มากมาย หรือ Diamond ก็เป็นแอปพลิเคชัน ที่มาช่วยจัดการอีเมล แม้ว่าโปรแกรมเหล่านี้จะทำงานได้อย่างน่าประทับใจ แต่ก็ยังมีขีดจำกัดในจุดที่ว่า ระบบ AI ในโปรแกรมเหล่านี้ยังไม่สามารถตัดสินใจในบางเรื่องได้แม่นยำอย่างที่ผู้สร้างคาดหวัง

ด้วยมาตรฐานเหล่านี้ จึงมีคำจำกัดความให้กับวิทยาการ AI ในก้าวปัจจุบันนี้ว่า “Weak AI” หรือ Artificial Narrow Intelligence (ANI) แปลเป็นไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์อ่อนแอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบ ข้อจำกัดของปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้คือ ทำงานได้หน้าที่เดียวในช่วงเวลานั้น และยังไม่ “ตระหนักรู้ในตนเอง” (Self-Awareness) Weak AI อาจจะสามารถเลียนแบบความคิดแบบมนุษย์ได้ สามารถสื่อความคิดของตัวมันเองได้แบบที่ Siri โต้ตอบกับเรา สามารถสื่อสารกับเราได้ทั้งการออกเสียง หรือเป็นตัวหนังสือ แต่ยังไม่สามารถคิดได้ทัดเทียมมนุษย์

วันนี้ที่วิทยาการ AI ก้าวมาได้ถึงระดับ Weak AI ก็ถือว่าเยี่ยมยอดแล้ว แต่สิ่งที่ผู้คิด ผู้พัฒนา วางเป้าหมายไว้นั้น ไกลกว่านี้มาก อนาคตของ AI ในวิสัยทัศน์ของผู้พัฒนามีอีก 2 ระดับขั้นนั่นคือ

  • ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (Artificial general intelligence หรือ AGI) ในระดับนี้ AI จะสามารถเข้าใจเหตุและผล สามารถวางแผน และรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้
  • ปัญญาประดิษฐ์ ที่ฉลาดเหนือมนุษย์ Artificial Super Intelligence (ASI) ในระดับนี้น่ากลัวแล้ว เหมือนที่เราเห็นในหนังไซไฟโลกอนาคต ที่ระบบ AI กลายเป็นภัยต่อมวลมนุษย์ ในระดับนี้มันสมองของ AI ฉลาดกว่า มันสมองของคนทั้งโลกรวมกัน แค่มาถึงจุด AGI นั้น ระดับมันสมองของ AI ก็สามารถคิดคำนวณได้เทียบเท่าความเร็วของสมองมนุษย์แล้ว แต่ถ้าไปถึง ASI แล้ว ระดับการทำงานของมันจะคิดได้เร็วเท่ากับมันสมองของประชากรโลกทั้ง 7,300 ล้านคนรวมกัน

ในวันนี้ทั้ง AGI และ ASI ยังเป็นแค่ทฤษฎีสมมติฐาน พัฒนาการของ AI อย่างไรก็ยังต้องขึ้นอยู่กับแนวทางการสร้างสรรค์ และรูปแบบสังคมเป็นตัวกำหนด

ขีดความสามารถในระดับสูงของ AI นั้น แม้ยังอยู่ในขั้น ทฤษฎีสมมติฐาน แต่แนวคิดที่นักพัฒนาจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ฉลาดกว่าผู้สร้างมันขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ผู้คนได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึกเป็นกังวล เปรียบเสมือนการสร้างแฟรงเกนสไตน์ขึ้นมาด้วยวิทยาการในโลกอนาคต เราก็คาดหวังว่ามันคงจะไม่พาไปถึงจุด โลกหายนะ แบบที่เห็นในหนังไซไฟอนาคตอย่างนั้นหรอกนะ ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับ พัฒนาการของเทคโนโลยี ที่ควรจะรุดหน้าไปอย่างสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนบนโลกให้เกิดสันติสุขร่วมกัน

 

อ้างอิง