จากบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ ว่าทำไม “ไทยชนะ” จึงมีผู้ใช้ที่น้อยลงมาก ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐพยายามผลักดัน เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าใช้สถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากการใช้งานจากฝั่งผู้ใช้ที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยว่า ทำไม “หมอชนะ” ถึงเป็นที่แนะนำจากใครหลาย ๆ คน รวมถึงรัฐบาลเองก็หันมาสนับสนุนแอป “หมอชนะ” นี้ด้วยเช่นกัน

แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” นี้เป็นแอปที่เกิดมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งถูกเปิดเป็น Open Source เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมถึงนักพัฒนาอื่น ๆ ยังสามารถนำไปต่อยอดได้อีกด้วย

ความเป็นส่วนตัว

โดยจุดเด่นของแอปนี้คือความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ที่ผู้ใช้จะไม่ต้องใส่เบอร์โทรศัพท์เพื่อลงทะเบียนกับทางเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง เพียงแต่แอปจะใช้ชุดรหัสที่สุ่มขึ้นมาเพื่อแทนตัวเครื่อง ซึ่งจะไม่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้

แต่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า แล้วรูปถ่ายเซลฟี่ที่ให้ถ่ายไปตอนแรกหลังจากติดตั้งแอป จะถูกอัปโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์ด้วยหรือไม่? นักพัฒนาได้ระบุว่ารูปภาพจะไม่ถูกส่งขึ้นไปบนเซิร์ฟเวอร์แต่อย่างใด

ข้อมูลอะไรบ้างที่ถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์

ในส่วนของข้อมูลที่จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์จะมีถึง 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแบบประเมินที่ผู้ใช้กรอกเพื่อประเมินความเสี่ยงไปในครั้งแรกหลังติดตั้งแอป

ส่วนที่แอปจะทำเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติ ได้แก่ ข้อมูลสถานที่ (GPS) และข้อมูลบลูทูทที่จะใช้เทคโนโลยี Bluetooth Low Energy (BLE) มาช่วยในการแลกเปลี่ยนกันระหว่างอุปกรณ์ทั้ง 2 เครื่อง ซึ่งในส่วนนี้เองจะแลกเปลี่ยนชุดรหัสที่ถูกสุ่มขึ้นมารวมถึงพิกัด GPS ในการระบุว่าทั้ง 2 เครื่องนี้ได้เจอกันแล้ว และจะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์

จุดเด่นอยู่ที่ความง่าย

ในเมื่อ “ไทยชนะ” มีผู้ใช้ที่น้อยลง เนื่องจากการใช้งานที่ซับซ้อนอยู่ในระดับนึง “หมอชนะ” จะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยวิธีที่ง่ายมากขึ้น เพียงติดตั้งแอป เปิดใช้งานแอป และลืมไปได้เลย ตัวแอปก็จะพยายามแลกเปลี่ยนชุดรหัสระหว่างอุปกรณ์ 2 เครื่องที่เจอกัน และส่งขึ้นไปบนเซิร์ฟเวอร์โดยอัตโนมัติ ซึ่งอย่างเดียวกันกับที่ระบุข้างต้นข้อมูลดังกล่าวจะไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้ได้ อีกทั้งยังเก็บข้อมูลพิกัด GPS เพื่อสร้างเป็นไทม์ไลน์ให้ผู้ใช้โดยอัตโนมัติได้ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต แอปจะทำการเก็บข้อมูลไว้ในตัวเครื่องและจะอัปโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์เมื่อมีการเชื่อมต่อ

ขออนุญาตเข้าถึงหลายอย่างไปทำไม

ผู้ใช้หลายคนอาจจะกังวลว่าทำไมแอปถึงขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลหลายตัว อย่างที่ระบุไปก่อนหน้านี้ ข้อมูลสถานที่ (GPS) และบลูทูท (Bluetooth) จะถูกอัปโหลดไปยังเซิร์ฟเวอร์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามข้อมูล COVID-19 เพื่อง่ายต่อการสอบสวนโรคและการตรวจสอบเชิงรุกของภาครัฐ ในกรณีมีผู้พบเจอติด COVID-19

ส่วนการขออนุญาตเข้าถึงกล้องนั้น กล้องจะถูกใช้ในตอนแรกสำหรับการเซลฟีและสำหรับการสแกนคิวอาร์ ซึ่งถ้าผู้ใช้กังวลก็สามารถปิดการอนุญาตในส่วนนี้ได้

แล้วปิดบลูทูทกับ GPS ได้มั้ย??

สำหรับบลูทูทและ GPS สามารถปิดได้ แต่จะใช้แอปได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยบลูทูทจะสามารถปิดได้จากในการตั้งค่าในแอปโดยตรง ซึ่งแอปจะไม่สามารถค้นหาและแลกเปลี่ยนชุดรหัสได้แบบอัตโนมัติได้

ถ้าปิดบลูทูทแล้วจะใช้แอปได้อย่างไร??

ในผู้ใช้บางคนที่กังวลเรื่องแบตเตอรีที่อาจจะปิดบลูทูทไป แล้วสงสัยว่าแอปจะสามารถทำงานได้อย่างไร ตัวแอปจะมี QR Code สำหรับผู้ใช้ทุก ๆ คน ซึ่งให้ทุกคนที่สัมผัสกัน หรืออยู่ใกล้กันให้สแกน QR Code ของกันและกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนชุดรหัสนั่นเอง

แอปจะแจ้งเตือนอย่างไร เมื่อมีคนติด COVID-19

เมื่อมีคนติด COVID-19 หลังจากมีการยืนยัน ทางภาครัฐจะมีกระบวนการนำชุดรหัสของผู้ป่วย ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลทั้งหมด และส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 ภายใน 14 วัน โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย

มีความจำเป็นต้องมีทั้ง 2 แอปมั้ย??

จากการสอบถามนักพัฒนา มีเพียงแอป “หมอชนะ” แอปเดียวก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอป “ไทยชนะ” มาให้เปลืองพื้นที่ ในส่วนของแอป “หมอชนะ” จะสามารถสแกนคิวอาร์ของ “ไทยชนะ” ได้ และในเวลาเดียวกัน “หมอชนะ” จะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมไปประมวลผลกับพิกัด GPS เพื่อความแม่นยำของการระบุพิกัดของผู้ใช้ได้ด้วย

ข้อมูลจะปลอดภัยมั้ย??

มีการยืนยันจากนักพัฒนาว่าข้อมูลเหล่านี้ จะถูกเก็บไว้บน Amazon Web Services บริการระดับโลก โดยจะไม่มีการเรียกข้อมูลใด ๆ จากเซิร์ฟเวอร์ออกมาใช้งาน มีเพียงการส่งข้อมูลจากผู้ใช้เข้าเซิร์ฟเวอร์ทางเดียว จึงมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลที่เก็บเข้าเซิร์ฟเวอร์นั้นจะปลอดภัยหายห่วง และจะถูกทำลายทิ้งเมื่อสถานการณ์เป็นปกติแล้ว

ช่องทางการดาวน์โหลด

ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอป “หมอชนะ” ได้แล้ววันนี้ บนทั้ง 3 แพลตฟอร์ม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส