รายงาน กสทช. ชี้ชัด ค่าบริการโทรคมนาคมไทยยังต่ำกว่าอัตรากำกับ นักวิเคราะห์ชี้ค่าบริการของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ตลอด 5 ปี ราคาต่อนาทีถูกลงต่อเนื่อง ประเมินการควบรวม ทรู ดีแทค ไม่ส่งผลต่อราคา เพราะมีเส้นเพดานกำกับอยู่แล้ว

รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ล่าสุดประจำไตรมาสที่ 3/2564 (กรกฎาคม – กันยายน 2564) เผยแพร่เมื่อ 2 ก.พ. 2565 ระบุถึงทิศทางและแนวโน้มของอัตราค่าบริการโทรคมนาคมของประเทศไทย โดยเปิดเผยว่า ในภาพรวมของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราค่าบริการเฉลี่ยในแต่ละประเภทของผู้ให้บริการทุกรายมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยไม่เกินอัตราที่กำกับตามประกาศ กสทช. โดยค่าบริการเสียงอยู่ที่ 0.48 บาทต่อนาที บริการ SMS อยู่ที่ 0.67 บาทต่อข้อความ บริการ MMS อยู่ที่ 1.80 บาทต่อข้อความ และบริการ Mobile Internet อยู่ที่ 0.10 บาทต่อ MB และจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มค่าบริการลดลงต่อเนื่อง แต่มีการแข่งขันนำเสนอบริการอินเทอร์เน็ต 4G และ 5G มากขึ้น

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในรายงานแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564 : ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการหลักในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีน้อยราย แต่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง มีการใช้กลยุทธ์ด้านราคา รวมถึงเร่งลงทุนขยายสัญญาณเครือข่าย เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ ทำให้การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนเพิ่มจำนวนขึ้น

โดยรายงาน Mobility Report ระบุว่าปี 2559 จำนวนการใช้สมาร์ตโฟนในไทยมีระดับสูงกว่าจำนวนการใช้โทรศัพท์พื้นฐานและคาดว่าปี 2564 จำนวนสมาร์ตโฟนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าหรือ 80 ล้านเครื่องจาก 40 ล้านในปี 2558 ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union: ITU) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการด้าน ICT ก้าวหน้ารวดเร็วมากสุดในรอบห้าปี (Most dynamic improvement countries: ข้อมูลปี 2558)

ขณะที่ปี 2560 ดัชนีชี้วัดการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Development Index) ของไทยอยู่อันดับที่ 78 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ขยับดีขึ้นจากปี 2559 ด้านค่าใช้จ่าย ผลการศึกษาเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (รวมบริการเสียงและอินเทอร์เน็ต) ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่ำเป็นอันดับ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนประมาณ 38% สะท้อนว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เสียงและอินเทอร์เน็ต) เป็นผลจากราคาที่อยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนโดยเปรียบเทียบ

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ทั้งเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โดยตรงตั้งแต่ 3G, 4G และ 5G รวม 437,962 ล้านบาท และการประมูลทีวีดิจิทัลอีก 50,000 ล้านบาท รวมทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ และการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องลงทุนด้านใบอนุญาต ลงทุนด้านเครือข่าย อุปกรณ์ โดยมี กสทช. ควบคุมราคา ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมต้องแบกรับภาระต้นทุน ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับดูแล ดังนั้นในข้อเท็จจริงจึงไม่น่าวิตกกังวลในกรณีที่ทรู รวมกับดีแทคแล้ว จะราคาสูงขึ้นนั้น เนื่องจากยังมี กสทช.เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จะพบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนด้าน 5G นำหน้าประเทศส่วนใหญ่ในโลก โดยอยู่ใน TOP 10 นั่นหมายถึง ผู้ให้บริการต้องลงทุนมหาศาลภายใต้การกำกับดูแลราคา โดยในภาพรวมของผู้ประกอบการโทรคมนาคม สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราค่าบริการเฉลี่ย ในแต่ละประเภทของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยไม่เกินอัตราที่กำกับตาม ประกาศ กสทช.

นักวิจัยของ Top Dollar ได้วิจัยผู้ใช้บริการสมาร์ตโฟนประมาณ 3,800 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเท่ากับเกือบร้อยละ 50 ของประชากรโลก รายงานค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทย คือ ประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียมีค่าบริการต่อข้อมูลมือถือ จำนวน 10GB มีราคาต่ำกว่า 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อความเร็วในการดาวน์โหลด 1Mbps จำนวน 0.13 เหรียญสหรัฐฯ หรือโดยประมาณ 6.82 บาท หากเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในโลก จะพบว่า ประเทศไทยมีค่าบริการถูกที่สุด ติดอันดับ TOP 10 ของโลก

สิ่งที่คนไทยควรจะเป็นห่วงมากกว่าการกำกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่มีกฎหมาย กฎระเบียบครบถ้วน ก็คือ การที่กฎหมาย ในการกำกับดูแล ตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีผู้ให้บริการ Over the top ที่แทบไม่มีกฎหมายควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งตลาดของคนใช้ไลน์ อาจสูงถึง 80% ของตลาด แต่ไม่มีใครพูดถึง หรือ การที่ส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% มีการใช้ facebook เป็นต้น ซึ่งหากจะควบคุมก็ทำได้ยาก เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ในต่างประเทศ และไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย หากจะแก้กฎหมาย ก็ต้องใช้เวลา เนื่องจากกระบวนการในการแก้ไขมีหลายขั้นตอน ปัจจุบันกฎหมายที่ กสทช.เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 เป็นกฎหมายที่ใช้มานานมาก ส่วนใหญ่จึงบังคับใช้กับผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลัก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส