เดือนมีนาคมในอดีตมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย มีทั้งเหตุการณ์สำคัญหลายต่อหลายเหตุการณ์ แต่หากเจาะจงเฉพาะในโลกเทคโนโลยีแล้วล่ะก็ ทางแบไต๋มีเรื่องราวที่คัดสรรมานำเสนอคุณผู้อ่านจำนวนมากใช้ได้เลยทีเดียว! แทบจะเรียกได้ว่าในแต่ละวันของเดือนนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่าเดือนที่ผ่าน ๆ มาเลยเชียวล่ะ! คุณผู้อ่านคงจะจุใจไม่น้อยเลยล่ะ เราขอบอก! เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาดูกันเลยดีกว่า!

1 มีนาคม 1960

John McCarthy ปล่อยคู่มือภาษา LISP ตัวแรก

คู่มือแรกที่สร้างขึ้นมาเพื่อโปรแกรมเมอร์ สำหรับภาษา LISP ถูกปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 1960 ซึ่ง LISP นั้นเป็นภาษาที่ถูกสร้างขึ้นโดยจอห์น แมคคาร์ธี (John McCarthy)

แรกเริ่มเดิมทีเป็นภาษาที่ถูกสร้างมาเพื่อ IBM 704 สำหรับการคำนวณด้วยนิพจน์ ถูกใช้คำนวณสัญลักษณ์ในแคลคูลัสเชิงอนุพันธ์และปริพันธ์, ทฤษฎีวงจรไฟฟ้า, ตรรกะทางคณิตศาสตร์ และ AI

โดยตัวคู่มือนี้มีการอธิบายถึงตัวภาษา LISP อย่างละเอียดตั้งแต่พื้นฐาน เพื่อให้โปรแกรมเมอร์สามารถเข้าใจภาษานี้ได้เป็นอย่างดี

และในทุกวันนี้ก็เป็นที่รู้กันดีสำหรับสาย AI ว่า ภาษา LISP ถือเป็นภาษาแม่ของ AI เลย และยังเป็นภาษาระดับสูงที่เก่าแก่กว่าภาษาระดับสูงอื่น ๆ ที่ยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้ด้วย!

4 มีนาคม 2000

เริ่มจำหน่ายเครื่องเล่นเกมยอดฮิต “PlayStation 2”

การวางจำหน่าย “PlayStation 2” หรือ “PS2” เกิดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ประเทศต้นกำเนิดของบริษัทโซนี่ (SONY) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปี 2000 ซึ่งมีผู้คนซื้อเครื่องไปมากถึง 1 ล้านเครื่องภายในสัปดาห์เดียว ถือเป็นประวัติการณ์ในวงการเกมยุคนั้นเลยทีเดียว และในปัจจุบัน PlayStation 2 ถือเป็นเครื่องเล่นเกมที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 155 ล้านเครื่อง

โดยมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า ในวันเปิดขายตัวเครื่องนั้น มีผู้คนมากกว่า 10,000 คน ต่อแถวรอซื้อตัวเครื่องในโตเกียว แถมมีผู้คนจำนวนหนึ่งมาต่อแถวเฝ้ารอตั้งแต่ 4 วันก่อนเปิดขายอีกด้วย!

ส่วนสำหรับการพรีออเดอร์บนเว็บไซต์ของ PlayStation เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนเปิดขายจริงนั้น เพียงแค่ 1 นาที ตัวเว็บก็ล่มไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะยอดการสั่งพรีออเดอร์ถล่มทลายกว่าที่ทางบริษัทคาดการณ์ไว้นั่นเอง

ความต้องการของผู้คนที่มีต่อ PS2 มากมายท่วมท้นเสียจนมีรายงานจากเมืองอากิฮาบาระออกมาอีกว่า ผู้ค้าขายในตลาดมืดซื้อตัวเครื่องไปขายต่อใน ebay ด้วยราคาสูงถึง 2,000 ดอลลาร์ (ราว 65,000 บาทเมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้) แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือมีการขายในราคาสุดช็อก 11,000 ดอลลาร์ด้วย! (เกือบ 360,000 บาท) ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูงกว่าราคาจริงประมาณ 36 เท่าเลยทีเดียว!

ในการผลิตตัวเครื่องก็ยังผลิตยาวนานนับ 10 กว่าปี ถือเป็นเครื่องเล่นเกมที่ครองใจผู้คนได้เป็นอย่างดี มีเกมมากกว่า 2,000 เกม หลายต่อหลายเกมเป็นเกมที่คอเกมน่าจะเคยคุ้นกันดี เช่น Grand Theft Auto (GTA), Resident Evil 4, Metal Gear Solid 2, God of War, Devil May Cry และ Final Fantasy 10, 12 ซึ่งหลายเกมก็ยังคงมีภาคต่อมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย!

5 มีนาคม 1993

แล็ปท็อปพูดได้ ช่วยให้นักศึกษาตาบอดเรียนจบมหาลัย

ตัวอย่างแรก ๆ ถึงผลกระทบที่คอมพิวเตอร์มีต่อชีวิตของผู้คน คงต้องมีเรื่องราวของนักศึกษาตาบอดคนหนึ่ง ‘โรเบิร์ต อันทูเนซ (Robert Antunez)’ ว่าเขาได้ใช้ประโยชน์จาก แล็ปท็อปพูดได้ของ Toshiba รุ่น T1000 ในการช่วยให้ตัวเขาสำเร็จหลักสูตรที่จำเป็น เพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ได้เหมือนกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่เทคโนโลยีสามารถช่วยให้มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดบางส่วนไปได้เช่นนี้!

6 มีนาคม 1992

ปรากฏการณ์ผู้คนตื่นตระหนกไวรัส Michelangelo ระบาด

ความกังวลของผู้คนได้ถูกจุดประกายให้เกิดขึ้นจากการประโคมข่าวต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับตัวไวรัสไมเคิลแองเจโล (Michelangelo หรือที่อ่านอีกแบบว่า มีเกลันเจโล ก็ได้) ทั้งผู้ใช้ทั่วไป ไปจนถึงระดับหน่วยงานรัฐบาลต่างก็ตกอยู่ในวังวนแห่งความกังวลไม่ต่างกันนัก  โดยมีรายงานว่าคอมพิวเตอร์กว่า 5 ล้านเครื่องที่เสี่ยงต่อการติดไวรัสตัวนี้ ซึ่งตัวไวรัสเซตไว้ว่าในวันที่ 6 มีนาคม ไวรัสจะทำงาน จะทำการเขียนข้อมูลทับข้อมูลในคอมพิวเตอร์จนดิสก์เสียหาย และกู้คืนได้ยาก ทำให้ผู้คนพากันหวาดระแวงไวรัสตัวนี้กันไปหมด และต่างพากันพยายามหาทางรับมือ ป้องกันไวรัสตัวนี้กันอย่างเต็มที่ ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้ว ไวรัสนี้กลับไม่ได้ระบาดไปถึงขนาดนั้น แต่ระบาดไปในคอมพิวเตอร์จำนวนไม่กี่พันเครื่องเท่านั้นเอง

7 มีนาคม 1876

Alexander Graham Bell ได้รับสิทธิบัตรโทรศัพท์

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) เป็นนักประดิษฐ์ที่สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถส่งเสียงของมนุษย์จากอีกที่หนึ่ง ไปสู่อีกที่หนึ่งขึ้นสำเร็จ ซึ่งก็คือ ‘โทรศัพท์ (telephone)’ นั่นเอง โดยเมื่อเขาขีดเขียนการคิดค้นโทรศัพท์ของเขาลงกระดาษเรียบร้อยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1876 ทางด้านเบลล์ก็ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรโทรศัพท์ไป และในวันที่ 7 มีนาคม 1876 เขาก็ได้รับสิทธิบัตรโทรศัพท์ฉบับแรกมา โดยเขาเกือบจะไม่ได้สิทธิบัตรนี้แล้ว เนื่องจากแนวคิดของเขาและผู้ยื่นจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อีกคนหนึ่ง ‘เอลิชา เกรย์ (Elisha Gray)’ มีความใกล้เคียงกันมาก แต่เกรย์ยื่นขอจดสิทธิบัตรช้ากว่าเขาไปประมาณ 2 ชั่วโมง! ซึ่งในอีก 3 วันถัดมาหลังจากได้รับสิทธิบัตรแล้ว การทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรกก็เกิดขึ้นในอาคารที่เบลล์ใช้เป็นห้องทดลอง เขาได้พูดผ่านสายโทรศัพท์ถึง ‘วัตสัน (Watson)’ ผู้ช่วยของเขาที่อยู่อีกห้องหนึ่งว่า “คุณวัตสัน มานี่หน่อย ผมอยากพบคุณ (Mr. Watson, come here,  I want to see you.)” ซึ่งวัตสันก็ได้ยินเสียงของเบลล์อย่างชัดเจน เพราะเมื่อเบลล์บอกให้เขาช่วยทวนสิ่งที่วัตสันได้ยิน เสียงที่เบลล์ได้ยินตอบกลับมาก็คือ “คุณพูดว่า ‘คุณวัตสัน มานี่หน่อย ผมอยากพบคุณ (You said ‘Mr. Watson, come here, I want to see you.’)” เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จที่โลกต้องจดจำอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารในโลกไร้พรมแดนเช่นทุกวันนี้

8 มีนาคม 1979

Philips เผยต้นแบบ CD ต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรก

ฟิลิปส์ (Philips) ได้เผยการสาธิตต้นแบบแผ่นเสียงดิจิทัลแบบออปติคัลต่อสาธารณชนในงานแถลงข่าวชื่อ “Philips Introduce Compact Disc” ในเมืองไอนด์โฮเวน (Eindhoven) ประเทศเนเธอร์แลนด์

การสาธิตแสดงให้เห็นว่า การจะใช้การบันทึกเสียงดิจิทัลแบบออปติคัล และนำมาเปิดฟังโดยที่สัญญาณเสียงนั้นยอดเยี่ยมแบบสเตอริโอเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

งานวิจัยครั้งนี้ของฟิลิปส์จึงได้สร้างมาตรฐานใหม่ทางเทคนิคสำหรับระบบบันทึกเสียงดิจิทัลแบบออปติคัล ให้แก่โลก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุปกรณ์บันทึกและทำซ้ำแบบดิจิทัลสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก สามารถหาซื้อได้ในราคาต่ำ และยังออกแบบมาเพื่อการอนุรักษ์และทำซ้ำอย่างมีคุณภาพ จึงไม่แปลกนักที่จะสามารถแพร่หลายเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ให้ความสนใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งในวันที่ 23 มีนาคม 1979 ประธานโซนี่ (Sony) ก็ได้ตัดสินใจร่วมมือกับฟิลิปส์ หลังจากปรึกษากับฝ่ายบริหารของโซนี่แล้ว นับเป็นการสร้างความตกตะลึงให้กับชาวโลกไม่น้อย หลังทางโซนี่และฟิลิปส์ประกาศว่าทั้งสองบริษัทจะร่วมกันพัฒนา Compact Disc (CD) ให้เติบโตต่อไป

16 มีนาคม 1990

ขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปสู่ยุโรป

NSF (The National Science Foundation) หรือ มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่าจะขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปสู่ทวีปยุโรป

จากการที่ยุโรปมีส่วนทำให้เกิดการเติบโตของอินเทอร์เน็ต เพราะ Tim Berners-Lee แห่ง CERN ได้พัฒนา ‘HTML’ ภาษาที่ใช้สำหรับเวิลด์ไวด์เว็บขึ้นมา ทำให้ยุคแห่งโลกไร้พรมแดนเฟื่องฟูขึ้น

แต่อันที่จริง ตั้งแต่ห้าปีก่อน (1985) อินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่ทันสมัยนั้นได้เริ่มพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการก่อตัวของ NSFNET (The National Science Foundation Network) ที่พัฒนาโดย NSF แล้ว เพราะเกิดการเชื่อมโยงศูนย์คอมพิวเตอร์ 5 แห่งในอเมริกา

เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงได้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบันที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ในยุคนี้ไปแล้ว

17 มีนาคม 1988

Apple ฟ้อง Microsoft ฐานละเมิดลิขสิทธิ์

บริษัทแอปเปิ้ล (Apple) ได้ยื่นฟ้อง บริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ (GUI) ของระบบปฏิบัติการ เนื่องจากหลังแอปเปิ้ลพัฒนา Macintosh GUI ออกมา แล้วประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 1984 ไมโครซอฟต์ก็เปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) ในปี 1985 ซึ่ง GUI มีลักษณะที่ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับ Macintosh ของแอปเปิ้ล

21 มีนาคม 2006

เกิดการทวีตครั้งแรกจาก Jack Dorsey

จุดเริ่มต้นของ Twitter มาจากการระดมความคิดของบริษัท Odeo ซึ่งเป็นบริษัทพอดแคสต์ (Podcast) โดยมีแจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นผู้ออกแบบหลักของโค้ดเนม ‘twttr’

แนวคิดของโปรเจกต์นี้คือ ‘การแบ่งปันข้อความสั้น ๆ (SMS) ผ่านการส่งข้อความกับกลุ่มคนเล็ก ๆ’ ซึ่งแจ็คมองว่า ชื่อ ‘ทวิตเตอร์ (Twitter)’ นั้นเหมาะสมกับโปรเจกต์นี้ เพราะคำจำกัดความของคำนี้ ไม่ต่างอะไรกับตัวโปรเจกต์ของเขา กล่าวคือ แจ็คมองว่าข้อความสั้น ๆ เหล่านั้นที่ส่งผ่านกันไม่จำเป็นจะต้องมีความหมาย หรือมีความสำคัญอะไร เหมือนกับเสียงนกร้องที่ส่งเสียงสั้น ๆ ผ่านหูเราไปก็เท่านั้นเอง โดยในช่วงแรก ทวิตเตอร์สามารถทวีต (Tweet) ข้อความได้ 140 ตัวอักษร เท่านั้น และแจ็คก็ได้ทวีตข้อความแรกเมื่อเวลา 09:50 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2006 ด้วยข้อความ “just setting up my twttr,”

ทวิตเตอร์ได้ออกสู่สายตาผู้คนจริง ๆ ในเดือนกรกฎาคม แต่การได้ประสบความสำเร็จครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่นั้น เกิดขึ้นในที่ประชุมเชิงโต้ตอบ ‘South by Southwest’ ในปี 2007 ซึ่งนับว่าเป็นเวลาไม่นานนักหลังจากที่แยกบริษัทออกมาเป็น Twitter, Inc.

ในทุกวันนี้ทวิตเตอร์ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้คนนิยมใช้งานกันเป็นจำนวนมาก มีการเทรนด์แท็กต่าง ๆ ให้ขึ้นเทรนด์ของทวิตเตอร์อยู่เสมอ นับเป็นแหล่งชุมชนออนไลน์ที่มีข่าวสารรวดเร็วแพลตฟอร์มหนึ่งเลยทีเดียว ทว่าก็ต้องระวังเรื่องข้อมูลเท็จ หรือข่าวสารที่ยังไม่ผ่านการกรองให้ดีด้วย

23 มีนาคม 1928

วันเกิด Jean Sammet หญิงเก่งคอมพิวเตอร์

ฌอง อี. ซัมเมท (Jean E. Sammet) เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ที่ดำรงตำแหน่งประธานหญิงคนแรกของ ACM (Association for Computing Machinery) ซึ่งเป็นสมาคมคอมพิวเตอร์ทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นบุคคลแรก ๆ ที่มีส่วนในการบุกเบิกคอมพิวเตอร์ เธอเกิดที่นิวยอร์ก และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1948 สาขาคณิตศาสตร์จาก Mount Holyoke College และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก University of Illinois at Urbana-Champaign ในปี 1949

ในปี 1961 เธอได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบริษัท IBM และได้พัฒนาภาษา FORMAC (Formula Manipulation Compiler) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นภาษาแรกในการจัดการนิพจน์พีชคณิตที่ไม่ใช่ตัวเลข นอกจากนี้เธอยังเขียน “Programming Languages: History and Fundamentals” หนึ่งในหนังสือโปรแกรมมิงคลาสสิกของโลกอีกด้วย

ต่อมาในปี 2009 IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers) ก็ได้มอบรางวัล “Computer Pioneer Award” ให้กับเธอ ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผลงานบุกเบิกและความสำเร็จตลอดชีวิตในฐานะหนึ่งในนักพัฒนาและนักวิจัยกลุ่มแรกๆ ของภาษาโปรแกรมมิง นับว่าเป็นรางวัลที่เหมาะสมกับเธอจริง ๆ !

24 มีนาคม 1998

เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด ‘bone segment navigation’ ครั้งแรก

‘Bone segment navigation’ โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเหลือ เกิดขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัย Regensburg ประเทศเยอรมนี โดยมีรูดิเกอร์ มาร์มุลลา (Rüdiger Marmulla) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง Bone segment navigation นั้นเป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อหาตำแหน่งทางกายวิภาคของเศษกระดูกเคลื่อนในกรณีที่กระดูกหัก หรือเพื่อจัดตำแหน่งชิ้นส่วนที่สร้างขึ้นโดยการผ่าตัด ‘Craniofacial surgery’ ซึ่งเป็นการผ่าตัดแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง

Bone segment navigation จะแก้ไขชิ้นส่วนที่มีปัญหาโดยการ ‘Osteosynthesis’ ซึ่งเป็นการตรึงกระดูกเพื่อจัดกระดูกที่มีความเสียหายให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาความความผิดรูปผิดร่างของร่างกายส่วนศีรษะและการทำงานของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ เช่น การแตกหักของขากรรไกรล่างนั้นจะทำให้การเคี้ยวมีปัญหา, การแตกหักของกะโหลกศีรษะ สามารถทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพราะระบบประสาท และเซลล์ต่าง ๆ อาจถูกทำลายได้

25 มีนาคม 1992

เปิดตัวซอฟต์แวร์สเปรดชีต Excel 4.0

บริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) ได้เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Auto-fill’ ครั้งแรกในซอฟต์แวร์สเปรดชีต Excel 4.0 ซึ่งฟีเจอร์นี้นับว่ามีประโยชน์มาตั้งแต่วันเปิดตัวมาจนถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว เพียงแค่ป้อนข้อมูลที่ต้องเรียงลำดับ เช่น เดือน, วัน, พ.ศ., ไตรมาสทางการค้า, ตัวเลข ก็จะเกิดการป้อนข้อมูลอัตโนมัติในลำดับต่อ ๆ ไป จึงช่วยลดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

และยังมีการเปิดตัว XLM (Excel Macro) เป็นภาษามาโครที่เริ่มใช้ครั้งแรกใน Excel 4.0 ด้วย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ฟีเจอร์ Trust Center ที่ช่วยจัดการด้านความปลอดภัย ก็ปรับเปลี่ยนให้ผู้ใช้สามารถปิดการทำงานของ XLM ได้ในช่วงกลางปี 2021 และล่าสุดเมื่อต้นปี 2022 ไมโครซอฟท์ได้จัดการตั้งค่า Default ให้ปิด XLM ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะมีคนนำมาโคร XLM มาเป็นเครื่องมือใช้โจมตีผู้ใช้อื่น ๆ มากขึ้นในช่วงปี 2021

29 มีนาคม 1989

‘Tin Toy’ ภาพยนตร์แอนิเมชันคอมพิวเตอร์ ได้รับรางวัลออสการ์เป็นเรื่องแรก

‘Tin Toy’ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันคอมพิวเตอร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สั้นเป็นเรื่องแรก โดยตัวเรื่องจะดำเนินผ่านมุมมองของเล่นที่มองเด็กทารกว่าน่ากลัว เพราะเด็กทารกนั้นชอบหยิบจับของมาเหวี่ยง โยน ทุ่มตามประสา เหล่าของเล่นจึงกลัวว่าตนเองจะพัง จึงพากันหลบไปอยู่ใต้โซฟา การเล่าเรื่องให้เห็นในมุมมองของเล่นทำให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมได้ดี โดยเฉพาะความกลัวและความอึดอัด นับว่าเป็นผลงานที่เล่าเรื่องออกมาได้ระยะเวลาสั้น ๆ ได้ดีทีเดียว

โดยทางบริษัทที่สร้าง Tin Toy อย่าง Pixar นั้น นอกจากจะคว้ารางวัลออสการ์มาได้แล้ว ก็ยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีผลงานมากมายที่ถูกฝากไว้ในใจผู้ชม โดยเฉพาะ ‘Toy Story’ ที่ใครหลายคนน่าจะรู้จักกันดี ด้วยเนื้อหาที่สนุกสนานครบรส มีความบันเทิงและซาบซึ้งเต็มเปี่ยม พร้อมด้วยภาพสไตล์การ์ตูนสัดส่วนไม่สมจริงที่ยิ่งขับให้เรื่องราวดูแฟนตาซี น่ารัก จึงไม่แปลกที่จะเป็นผลงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ซึ่งในปัจจุบัน Pixar ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดิสนีย์ บริษัทที่เน้นการผลิตสื่อภาพยนตร์ทั้งแบบสองมิติ และแบบสามมิติ 

31 มีนาคม 1939

Harvard และ IBM ตกลงสร้าง ‘Giant Brain’

โฮเวิร์ด เอช ไอเคน (Howard H. Aiken) นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎี จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำไอเดียเครื่องคิดเลขดิจิทัลขนาดใหญ่ ซึ่งพัฒนาแนวคิดด้วยชุดสวิตช์ รีเลย์ เพลาหมุน และคลัตช์ไปเสนอแก่คณะฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

จากนั้นก็นำไปเสนอแก่ Monroe Calculating Company ต่อแต่ถูกปฏิเสธ จึงนำไปเสนอ IBM ต่อ ซึ่งเจมส์ ไบรซ์ (James Bryce) คณบดีนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ของ IBM ชอบแนวคิดนี้ ส่วนประธาน IBM โทมัส เจ วัตสัน (Thomas J. Watson) ก็ตกลงที่จะสนับสนุนโปรเจกต์นี้ในวันที่ 31 มีนาคม ปี 1939

โปรเจกต์ ‘Giant Brain’ นี้จึงกลายมาเป็น คอมพิวเตอร์ ‘Mark I’ ในปี 1944 ที่รู้จักในชื่อ ‘ASCC (IBM Automatic Sequence Controlled Calculator)’ ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องกลไฟฟ้าแบบรีเลย์และเครื่องคิดเลขแบบ Parallel Synchronous โดยตัวเครื่องยาว 51 ฟุต สูง 8 ฟุต มีน้ำหนักเกือบ 5 ตัน มีชิ้นส่วน 765,000 ชิ้น รีเลย์ 3,300 รีเลย์ สายยาวกว่า 500 ไมล์ และจุดเชื่อมต่อมากกว่า 175,000 จุด

ตัวเครื่องนั้นจะอ่านคำสั่งจากเทปกระดาษ และอ่านข้อมูลจากบัตรเจาะรู แล้วพิมพ์ผลลัพธ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าหรือเจาะรูลงในบัตร

Mark I นั้นมีความหมายอย่างมากต่อแวดวงวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็จริง แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในทุกวันนี้  เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Computer) ที่สร้างขึ้นหลังจาก Mark I ไม่กี่ปี แต่ความทันสมัยนั้นแตกต่างจาก Mark I มาก ด้วยความเร็วที่มากกว่า และยังเป็นคอมพิวเตอร์ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย ในขณะที่ Mark I เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องกลไฟฟ้า ENIAC จึงโดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย? เรื่องราวในอดีตจากเดือนมีนาคมที่ทางเรานำมานำเสนอนั้นถูกใจคุณผู้อ่านบ้างไหม? บางเรื่องราวทางเรายังคาดไม่ถึงเลยนะ ว่าเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นจะทำอะไรได้ถึงขนาดนั้น! ไว้ในเดือนหน้าเราจะนำเรื่องราวมากมายมานำเสนอคุณผู้อ่านอีก รอติดตามได้เลยนะ!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส