เดือนเมษายนในอดีตมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย มีทั้งเหตุการณ์สำคัญหลายต่อหลายเหตุการณ์ แต่หากเจาะจงเฉพาะในโลกเทคโนโลยีแล้วล่ะก็ ทางแบไต๋มีเรื่องราวที่คัดสรรมานำเสนอคุณผู้อ่านจำนวนมากใช้ได้เลยทีเดียว! แทบจะเรียกได้ว่าในแต่ละวันของเดือนนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเดือนมีนาคมที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายมาเลยเชียวล่ะ! คุณผู้อ่านคงจะจุใจไม่น้อยเลย เราขอบอก! เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาดูกันเลยดีกว่า!

1 เมษายน 1922

วันเกิด Alan J. Perlis ผู้รับรางวัล ‘Turing Award’ คนแรก

อลัน เจ เปอร์ลิส (Alan J. Perlis) เกิดที่เมือง Pittsburgh รัฐเพนซิลเวเนีย เขาเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Purdue, Carnegie Mellon และ Yale

อลันมีการศึกษาที่ดี มีผลการเรียนอันยอดเยี่ยมอยู่เสมอ จนในปี 1943 เขาก็ได้รับปริญญาตรีสาขาเคมีจาก Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้เข้าร่วมกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในยุโรป ซึ่งหลังสงครามเขาก็ได้รับปริญญาโทในปี 1949 และปริญญาเอกในปี 1950 ในสาขาคณิตศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology)

อลันโดดเด่นในการเขียนโปรแกรมมาก ทำให้เขาได้รับรางวัล Turing Award จาก ACM (Association of Computing) เป็นคนแรก ในปี 1966 เพื่อเป็นเกียรติแก่อิทธิพลของเขาในด้านเทคนิคการเขียนโปรแกรมขั้นสูงและการสร้างคอมไพเลอร์ (compiler) ซึ่งรางวัลนี้เสมือนกับรางวัลโนเบล ทว่าอยู่ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์นั่นเอง และอลันยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดในการจัดตั้งวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้เป็นสาขาวิชาเฉพาะอีกด้วย

 2 เมษายน 1980

Microsoft เปิดตัวฮาร์ดแวร์ตัวแรก ‘Z80 SoftCard’

บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้ประกาศเปิดตัวฮาร์ดแวร์ตัวแรก ‘Z-80 SoftCard’ ซึ่งเป็นการ์ดไมโครโพรเซสเซอร์ที่นำมาใช้เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ Apple II โดยเฉพาะ

Z-80 SoftCard นั้นทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการ CP/M บน Apple II ได้ เนื่องจากในยุคนั้น ระบบปฏิบัติการ CP/M จากบริษัท Digital Research เป็นที่นิยมมาก การที่ผู้ใช้ Apple II สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการได้อย่างกว้างขวางขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่เพียงแต่การเข้าถึงแอปพลิเคชันธุรกิจได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเข้าถึงคอมไพเลอร์ (compiler) และอินเทอร์พรีเตอร์ (interpreter) ในภาษาระดับสูงมากมายได้อีกด้วย

Z-80 SoftCard มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 349 ดอลลาร์ (ประมาณ 11,670 บาทไทยในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ซึ่งภายใน 3 เดือนของการเปิดตัว ก็มียอดขาย 5,000 ชิ้น ทำให้ Z-80 SoftCard กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของบริษัทในปี 1980 เลยทีเดียว และหลังจากนั้น 6 ปี สินค้าตัวนี้ก็ถูกเลิกผลิตไป เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กล่าวคือระบบปฏิบัติการ MS-DOS ได้เข้ามาแทนที่ ก้าวเข้าสู่ช่วงที่โลกเทคโนโลยีพัฒนาไปอีกขั้น

 5 เมษายน 1911

วันเกิด Cuthbert Hurd นักวิทยาการคอมคนสำคัญของ IBM

คัธเบิร์ต เฮิร์ด เกิดที่เมือง Estherville รัฐไอโอวา เขาเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญใน IBM (International Business Machines Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาคอมพิวเตอร์มาในยุคแรก ๆ

ด้านการศึกษานั้น คัธเบิร์ตได้รับปริญญาทั้ง ตรี โท และเอกจากสาขาวิชาคณิตศาสตร์หมดเลย เรียกว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งได้เลย เขาจึงได้มาทำงานเป็นนักคณิตศาสตร์ที่โรงงานพลังงานปรมาณูใน Oak Ridge รัฐเทนเนสซี โดยเขาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเทคนิค

จากนั้นคัธเบิร์ตก็ได้เข้าร่วม IBM ในปี 1949 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเขายังได้เป็นที่ปรึกษาหลักของโทมัส วัตสัน (Thomas Watson) ซึ่งเป็นประธานของ IBM ในด้านการพัฒนาเครื่องจักรด้วย

ความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ที่คัธเบิร์ตสร้างให้แก่ IBM ก็คือการนำพาบริษัทเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ เขาทำให้ผู้บริหารระดับสูงมองเห็นภาพการเติบโตที่แตกต่าง ทำให้เห็นความต้องการของตลาดที่มีต่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งในขณะนั้น IBM มีผลกำไรมหาศาลจากเครื่องตอกบัตรเจาะรูแบบดั้งเดิม การเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่คัธเบิร์ตสามารถสร้างความสำเร็จให้กับบริษัทได้จริง ด้วยเครื่องประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของ IBM 701 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์วิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์เครื่องแรกของ IBM และยังเป็นคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ของ IBM เครื่องแรกที่ผลิตในปริมาณมากอีกด้วย จึงเป็นการเปิดตัวการเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นแรกในตระกูล IBM 700 ได้อย่างน่าประทับใจ

นอกจากนี้ คัธเบิร์ตยังเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลจากองค์ระดับโลกในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง IEEE (The Institute of Electrical and Electronics Engineers) ในปี 1986 ในฐานะผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์คนหนึ่งอีกด้วย เรียกได้ว่าเขาเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่วงการเทคโนโลยีเลยทีเดียว

6 เมษายน 1992

Microsoft เปิดตัว Windows 3.1

Windows 3.1 เป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการ GUI (ส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้) แรก ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย บน PC ของ IBM โดยในระบบปฏิบัติการเวอร์ชันนี้มีการเปิดตัวระบบฟอนต์ TrueType และชุดฟอนต์ที่อ่านง่ายซึ่งเป็นแบบฟอนต์มาตรฐานที่พัฒนาโดย Apple ในปลายทศวรรษ 1980 และมีการเพิ่มส่วนขยายมัลติมีเดียที่ช่วยให้รองรับการ์ดเสียง, MIDI และ CD Audio, จอภาพ Super VGA (800 x 600) ทั้งยังเพิ่มความเร็วของโมเด็มที่รองรับเป็น 9600 bps อีกด้วย

ในด้านราคา Windows 3.1 มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 149 ดอลลาร์ (ประมาณ 4977 บาท เมื่อเทียบกับค่าเงินไทยในปัจจุบัน) 

11 เมษายน 1936

ผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ชาวเยอรมัน Konrad Zuse ยื่นจดสิทธิบัตรการคำนวณอัตโนมัติ

คอนราด ซูเซอ (Konrad Zuse) เป็นผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ในเยอรมนี เขายื่นจดสิทธิบัตร ‘การดำเนินการคำนวณอัตโนมัติ’ (the automatic execution of calculations) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาคิดค้นขึ้นขณะคิดค้น ‘Z1 คอมพิวเตอร์ที่สามารถตั้งโปรแกรมได้อย่างอิสระเครื่องแรกของโลก’ 

ในการยื่นขอจดสิทธิบัตร คอนราดได้อภิปรายเกี่ยวกับหน่วยความจำแบบตั้งโปรแกรมได้ โดยใช้คำว่า “หน่วยความจำแบบรวม (combination memory)” เพื่ออธิบายการแตกโปรแกรมออกเป็นชุดค่าผสมบิตสำหรับการจัดเก็บข้อมูล นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าตัวเครื่องสามารถคำนวณเป็นเลขฐานสองพร้อมการแปลเป็นทศนิยมได้ ซึ่งนับว่าสุดยอดมากในยุคนั้น

12 เมษายน 1981

วันขึ้นบินของกระสวยอวกาศลำแรกของนาซ่า ‘โคลัมเบีย’ 

นับเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการขนส่งทางอวกาศ เมื่อกระสวยอวกาศโคลัมเบียยกตัวขึ้นจาก Kennedy Space Center ของนาซ่า ใน Cape Canaveral รัฐฟลอริดาสู่อวกาศ โดยกระสวยอวกาศโคลัมเบียนั้นเป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในภารกิจแรกที่มีชื่อเรียกว่า ‘STS-1’ นั้นมี จอห์น ยัง (John Young) และ โรเบิร์ต คริปเพน (Robert Crippen) เป็นผู้ขับ

ก่อนหน้านี้กระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ที่แล้วเสร็จไปของนาซาก็ยังไม่ได้ขึ้นบินสู่อวกาศจริงและ ในครั้งนี้กระสวยอวกาศโคลัมเบียก็ประสบพบเจอปัญหาทำให้การขึ้นบินล่าช้าไปด้วยในวันที่ 10 เมษายน 1981 ทำให้กระสวยอวกาศลำแรกจากนาซาถูกบันทึกวันที่ได้ขึ้นบินจริงลงสถิติโลกในวันที่ 12 เมษายน 1981 แทน

กระสวยอวกาศนี้อยู่กับมนุษยชาติมานานถึง 22 ปี และได้ทำภารกิจมากมายถึง 28 ภารกิจ โดยในภารกิจสุดท้ายเมื่อปี 2003 กระสวยอวกาศโคลัมเบียได้เกิดการสลายตัวแยกออกจากกันด้วยความเสียหายของตัวเครื่อง ขณะที่กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้ลูกเรือทั้งเจ็ดคนเสียชีวิต โดยการตกลงมาครั้งนี้มีการยืนยันว่าพบเศษชิ้นส่วนอยู่ในบริเวณรัฐเท็กซัสเป็นส่วนใหญ่

13 เมษายน 1909

วันเกิด Stanislaw Marcin Ulam นักวิทย์-คณิตมากความสามารถ

สตานิสลอว์ มาร์ชิน อูลาม (Stanislaw Marcin Ulam) เป็นนักวิทย์-คณิตมากความสามารถคนหนึ่งของโลก ผู้เกิดที่โปแลนด์ เขาเป็นที่รู้จักจากความสามารถในด้านคณิตฟิสิกส์, วิทยาการคอมพิวเตอร์, ชีววิทยาและนิวเคลียร์ เรียกได้ว่าครบครันองค์ความรู้ในคนเดียวเลยทีเดียว!

สตานิสลอว์ทำงานด้านทฤษฎีเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในวิชาคณิตศาสตร์ในยุคแรก ๆ การได้พบกับจอห์น ฟอน นอยมันน์ (John von Neumann) ทำให้เขาได้พูดคุยกันเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำความเข้าใจคำถามเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ล้วน ๆ โดยอิงจากประสบการณ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ENIAC ซึ่งสตานิสลอว์ได้ชี้แนะให้จอห์นฟอนเห็นว่าการแพร่กระจายของนิวตรอนและปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นไปโดยธรรมชาติ และได้สรุปขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการนำไปใช้งานได้จริงตามแนวคิดดังกล่าว

นอกจากนี้สตานิสลอว์ยังได้เข้าร่วมโครงการวิจัยแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยนิวเคลียร์ของอเมริกาในปี 1943 และยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนเมื่อปี 1952 อีกด้วย

15 เมษายน 1977

จัดงาน West Coast Computer Faire ครั้งแรก

งาน West Coast Computer Faire ซึ่งเป็นงานแฟร์แนะนำคอมพิวเตอร์ของฝั่งตะวันตก ได้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก ณ Civic Auditorium & Brooks เมืองซานฟรานซิสโก โดยในงานได้มีการแนะนำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งแบบเป็นชุดและแบบประกอบให้กับผู้ชมกลุ่มใหม่และบุคคลทั่วไป 

งานแฟร์ในปีนี้มีความสำคัญสำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ได้รับความนิยมสูงทั้งสาม อันได้แก่ Apple II, Commodore PET และ Radio Shack TRS-80 แน่นอนว่าจำนวนผู้ให้ความสนใจก็มีจำนวนมาก

ดังนั้น หากจะพูดถึงหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ก็คงหนีไม่พ้นที่จะคิดถึงงานแฟร์นี้นี่แหละ!

16 เมษายน 1955

วันเกิด Alexey Pajitnov คนสร้าง Tetris เกมพัซเซิลสุดคลาสสิก

อเล็กซี่ เลโอนิโดวิช ปาจิตนอฟ (Alexey Leonidovich Pajitnov) เป็นนักออกแบบวิดีโอเกมและวิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวรัสเซีย ที่เกิดในกรุงมอสโก (Moscow) เรื่องราวในวัยเด็กของเขาไม่ได้มีอะไรมากนัก ก็เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ที่ใช้ชีวิตปกติทั่วไป แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาได้เริ่มก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเขียนโปรแกรม คือหลังจากที่เขาได้เข้าเรียนที่สถาบันการบินมอสโก เพราะที่นี่ทำให้เขาได้ทำความคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมเป็นครั้งแรก เขาได้เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ เริ่มอุทิศตนอย่างเต็มที่ในการเขียนโค้ด 

จากนั้นเขาจึงได้รับเชิญเข้าทำงานที่ Dorodnitsyn Computing Center ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย (Russian Academy of Sciences) และผลงานสร้างชื่อให้กับเขาอย่าง ‘Tetris’ นั้น ก็เกิดขึ้นจากที่นี่นั่นเอง

โดยเกม Tetris นั้น เป็นเกมวางแผนแก้พัซเซิล (puzzle) ที่ใครต่อใครก็น่าจะคุ้นหูกันบ้างไม่น้อย ด้วยการจัดเรียงตัวบล็อกรูปทรงเหลี่ยมต่าง ๆ ที่หล่นลงมาให้ซ้อนกันเป็นแถว ตัวเกมไม่มีระบบให้คะแนน ไม่มีระดับความยากง่าย แต่เมื่อได้ลองเล่นแล้วผู้คนมักจะเพลิดเพลินจนหยุดเล่นไม่ลง ซึ่งตัวเกมประสบความสำเร็จจนมีกระทั่งการจัดการแข่งขันระดับโลกที่เรียกว่า ‘Classic Tetris World Championship’ และยังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

เหตุผลที่อเล็กซี่เรียกเกมที่สร้างขึ้นนี้ว่า ‘Tetris’ นั้น ก็เป็นเพราะว่ารูปร่างของบล็อกแต่ละตัวนั้นจะประกอบไปด้วยชิ้นส่วน 4 ชิ้นมารวมกัน เขาจึงใช้คำจากภาษากรีกที่หมายถึง 4 อย่าง ‘tetra’ มารวมเข้ากับกีฬาที่เขาชอบอย่าง ‘tennis’ เพื่อให้ได้ชื่อเกมนี้นั่นเอง

18 เมษายน 1986

ซิปเมกะบิตถูกใช้ครั้งแรกโดย IBM

มีการรายงานข่าวออกมาว่า IBM ได้นำชิปเมกะบิต (Megabit chip) มาใช้ในการคอมพิวเตอร์เป็นเจ้าแรก! โดยชิปเมกะบิตนั้นเป็นชิปหน่วยความจำที่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ 1 ล้านบิตเลยทีเดียว 

สำหรับตัวเครื่องที่นำชิปเมกะบิตมาใช้นั้นได้แก่ IBM 3090 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เมนเฟรมระดับไฮเอนด์ นับว่าการเดินเกมเช่นนี้ของ IBM ทำให้ทางอเมริกาเหมือนได้รับชัยชนะในตลาดไอทีในยุคนั้นไป แม้ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอเมริกา แทบจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมดให้กับคู่แข่งของญี่ปุ่นที่มีต้นทุนต่ำไปแล้วก็ตาม 

24 เมษายน 1984

เปิดตัว Apple IIc จุดเริ่มต้นคอมพิวเตอร์พกพาของ Apple

Apple ได้เปิดตัว รุ่นที่ 4 ในตระกูล Apple II ซึ่งมีชื่อรุ่นว่า ‘Apple IIc’ ในวันที่ 24 เมษายน 1984 ที่งาน Apple Forever Conference ณ ซานดิเอโก โดย Apple พยายามทำให้ตัวเครื่องสามารถพกพาได้ ตัวเครื่องจึงมีหน้าจอขนาดเล็กเพียง 9 นิ้ว 

Apple IIc เป็น Apple II เครื่องแรกที่ใช้ Processor 65C02 ซึ่งนับเป็น Processor 6502 รุ่นประหยัดพลังงาน ซึ่งรันด้วยความเร็ว 1.4 MHz ตัวเครื่องมีฟลอปปีไดรฟ์ขนาด 5.25 นิ้วในตัวและ RAM 128 KB พร้อมตัวควบคุมดิสก์ในตัวที่สามารถควบคุม external drives ได้ นอกจากนี้ยังมีชิป ROM ใหม่ล่าสุดที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถใช้คำสั่ง Applesoft BASIC ตัวพิมพ์เล็กเป็นครั้งแรก และยังใช้ assembler ขนาดเล็กในตัวได้ ส่วนข้อแตกต่างจาก Apple II รุ่นก่อน ๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ Apple IIc ไม่มีช่องต่อขยายภายในเลย

25 เมษายน 1961

Robert Noyce ได้รับสิทธิบัตร ‘แผงวงจรรวม’

สำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกสิทธิบัตรให้นักฟิสิกส์และผู้ประกอบการชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Fairchild Semiconductor นามว่า ‘โรเบิร์ต นอยซ์ (Robert Noyce)’ สำหรับการคิดค้นแผงวงจรรวม (Integrated Circuit) ในชื่อสิทธิบัตร ‘SEMICONDUCTOR DEVICE-AND-LEAD STRUCTURE’ หมายเลข US2981877A โดยมีการยื่นคำร้องไปเมื่อปี 1959 หรือก็คือเมื่อ 2 ปี ก่อนนั่นเอง

สำหรับแผงวงจรรวม หรือ ไอซี (IC) นั้น เป็นการนำส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ ไดโอด ทรานซิสเตอร์ มาต่อรวมกันในแผงวงจรขนาดเล็ก ซึ่งในยุคนี้เรามักรู้จักกันในชื่อ ‘ชิป (Chip)’ นั่นเอง แน่นอนว่าทุกวันนี้ นอกจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เรายังได้เห็นการใช้งานไอซีในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ โทรคมนาคม หรือแม้แต่ปิโตรเคมี การผลิตไอซีจึงเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่ใช่การกล่าวเกินจริงนัก หากจะกล่าวว่าการคิดค้นของโรเบิร์ตนั้น สามารถช่วยสร้างรากฐานสำหรับเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่เราใช้ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

26 เมษายน 1960

IBM ประกาศแพลนผลิต ‘STRETCH’ Supercomputer เร็วแรงทะลุโลก

IBM ได้ประกาศแพลนผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) ‘STRETCH’ หรือที่รู้จักในชื่อ IBM 7030 ซึ่งเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบทรานซิสเตอร์ตัวแรกของ IBM (ใช้ทรานซิสเตอร์แทนหลอดสุญญากาศ) ที่มีราคาอยู่ในระดับมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ และมาพร้อมความเร็วและแรงมากกว่าเครื่องอื่น ๆ ในยุคเดียวกันถึง 30-40 เท่า

ซึ่งอันที่จริงแล้ว ในตอนประกาศแพลนการผลิต ทางบริษัทได้ระบุจุดมุ่งหมายในด้านความเร็วและความแรงของตัวเครื่องไว้ให้มากกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์อื่น ๆ ถึง 100 เท่า แต่เมื่อผลิตจริงออกมาด้วยความเร็วที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย IBM 7030 จึงเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วและทรงพลังที่สุดในโลกในระยะสั้น ๆ ประมาณ 3-4 ปี เท่านั้น กล่าวคือในช่วงปี 1961 หลังจากผลิตตัวเครื่องออกสู่ตลาดแล้ว IBM 7030 ก็ได้ครองตำแหน่งคอมพิวเตอร์เร็วแรงที่สุดในโลกไป แต่ในปี 1964 ที่ Control Data Corporation ได้ผลิต The CDC 6600 ออกมา ตำแหน่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์เร็วแรงทะลุโลกก็ตกไปเป็นของ The CDC 6600 แทน

ถึงแม้ IBM 7030 จะถูกทางบริษัทประเมินว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการผลิต จนถูกเรียกว่า ‘ล้มเหลว’ แต่ IBM 7030 ก็ยังเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้คอมพิวเตอร์รุ่นต่อ ๆ ไปของ IBM พัฒนาขึ้นอย่างมาก จนประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์วิทยาศาสตร์ IBM 7090, คอมพิวเตอร์เชิงพาณิชย์ IBM 7070 และ IBM 7080 หรือแม้กระทั่ง ‘IBM System/360’ คอมพิวเตอร์เมนเฟรมตระกูลแรกที่ได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมทั้งการใช้งานทางวิทยาศาสตร์ และเชิงพาณิชย์ ซึ่ง IBM System/360 นั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

 27 เมษายน 1995

สหรัฐฯ ฟ้องสกัดการเข้าซื้อ Intuit ของ Microsoft

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการฟ้องสกัดกั้นการเข้าซื้อ Intuit Inc. ของ Microsoft Corp. โดยกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจนำไปสู่ราคาซอฟต์แวร์ที่สูงขึ้นและนวัตกรรมที่ลดน้อยลง อันจะนำมาสู่การที่ทางเลือกของผู้บริโภคในตลาดสำหรับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลน้อยลง และยังนับเป็นหนึ่งในการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่น่ากังวล

สำหรับ Intuit นั้นเป็นผู้ผลิตโปรแกรมซอฟต์แวร์การเงินส่วนบุคคลชั้นนำมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว นอกจากนี้ ในช่วงนั้นทั้งโปรแกรม ‘Quicken’ ของ Intuit ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดการการเงินส่วนบุคคลที่มีผู้ใช้หลายล้านราย และโปรแกรมที่คล้ายคลึงกันของ Microsoft อย่าง ‘Money’ สามารถควบคุมส่วนแบ่งทางการตลาดร่วมกันได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่ทางกระทรวงยุติธรรมจะเป็นกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทางกระทรวงยุติธรรมยังได้กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ Microsoft ได้เสนอมาว่าจะนำโปรแกรม Money ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดซอฟต์แวร์การเงินส่วนบุคคล 20% ให้แก่ Novell Inc. เพื่อผลักดันให้ Novell ขึ้นเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่ม เพื่อลดการผูกขาดที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมของ Microsoft และ Intuit นั้นไม่เพียงพอในการจัดการกับข้อกังวลเรื่องการต่อต้านการผูกขาดอีกด้วย ซึ่งในช่วงแรก ๆ ทาง Microsoft ก็ยังพยายามที่จะควบรวมกิจการให้สำเร็จ

แต่เมื่อเรื่องราวยืดเยื้อมาหลายเดือนเกินไป Microsoft จนส่งผลกระทบต่อความราบรื่นในการทำงานของบริษัท ทาง Microsoft จึงถอนตัวออกจากข้อตกลง และได้จ่ายเงินให้ Intuit เป็นจำนวน 46.5 ล้านดอลลาร์ ปิดการพยายามควบรวมครั้งใหญ่ลงในที่สุด ทำให้หลายคนถอนหายใจด้วยความโล่งอกเลยทีเดียว

30 เมษายน 1916

วันเกิด ‘Claude Shannon’ ผู้นำคำว่า ‘บิต’ มาใช้อย่างแพร่หลาย

คล็อด แชนนอน (Claude Shannon) เป็นวิศวกรไฟฟ้าและนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน เกิดที่ Gaylord รัฐมิชิแกน Michigan เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีสารสนเทศ และยังเป็นผู้วิจัยและออกแบบวงจรดิจิทัล โดยแสดงให้เห็นว่าวงจรดิจิทัลตามพีชคณิตแบบบูลสามารถคำนวณตรรกศาสตร์และพีชคณิตทุกชนิดได้

คล็อดเป็นคนเริ่มการใช้คำว่า ‘บิต (bit)’ ในการอ้างอิงข้อมูลสารสนเทศ โดยเริ่มใช้ใน ‘ทฤษฎีคณิตศาสตร์ในเรื่องการสื่อสาร (A Mathematical Theory of Communication)’ ที่เขาคิดค้นขึ้นในปี 1948 คล็อดกล่าวว่าต้นกำเนิดของคำนี้ มาจาก John W. Tukey ซึ่งเป็นพนักงานที่เขียนบันทึกของ Bell Labs

ในการได้มาซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนั้น คล็อดได้กำหนดขั้นตอนสำหรับการรับรู้ทฤษฎีพื้นฐานของข้อมูลที่สามารถประมวลผลในเครื่องคอมพิวเตอร์ และทำการตรวจสอบความผิดเพี้ยนของข้อมูล ความซ้ำซ้อนและสัญญาณรบกวน และจัดเตรียมวิธีการสำหรับการวัดข้อมูล โดยได้ระบุบิตเป็นหน่วยพื้นฐานของทั้งข้อมูลและการคำนวณ

แม้ว่าทฤษฎีของเขาจะดูเรียบง่าย เพียงแค่ คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็น ‘เครื่องส่ง’ จะเข้ารหัสข้อมูลเป็นสัญญาณ โดยได้รับความเสียหายจากสัญญาณรบกวน แล้วจึงถอดรหัสโดย ‘เครื่องรับ’ แต่ในทฤษฎีก็ได้รวมเอาข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญอยู่อีก นั่นคือการแยกแหล่งกำเนิดข้อความและแหล่งกำเนิดรบกวน ออกจากระบบสื่อสารและใส่ความน่าจะเป็นเข้าไปให้ทั้ง 2 แหล่ง โดยคล็อดมองว่าแหล่งกำเนิดข้อความนั้นผลิตข้อความออกมาหลากหลายแบบ และแต่ละข้อความจะมีความน่าจะเป็นกำกับ ส่วนความน่าจะเป็นของแหล่งกำเนิดรบกวนจะถูกเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

จากการสังเกตที่เปลี่ยนปัญหาการสื่อสารจากปัญหาทางกายภาพไปเป็นนามธรรมเช่นนี้เอง จึงทำให้คล็อดสร้างแบบจำลองความไม่แน่นอนโดยใช้ความน่าจะเป็นออกมา ซึ่งสามารถทำให้วิศวกรสื่อสารในยุคนั้นตกตะลึงเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย? เรื่องราวในอดีตจากเดือนเมษายนที่ทางเรานำมานำเสนอนั้นถูกใจคุณผู้อ่านบ้างไหม? บางเรื่องราวทางเรายังคาดไม่ถึงเลยนะ ว่าเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นจะทำอะไรได้ถึงขนาดนั้น! ไว้ในเดือนหน้าเราจะนำเรื่องราวมากมายมานำเสนอคุณผู้อ่านอีก รอติดตามได้เลยนะ!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส