เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Trade Commission หรือ FTC) เปิดเผยรายงานความเสียหายจากอาชญากรรมทางการเงินด้วยเงินด้วยคริปโทเคอร์เรนซี พบว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีชาวอเมริกันมากกว่า 46,000 คน ถูกโกงจากคริปโทเคอร์เรนซี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านเหรียญ (ราว 34,000 ล้านบาท)

ในขณะที่ความนิยมของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นเพิ่มขึ้น อาชญากรรมทางการเงินด้วยคริปโทก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งความเสียหายในปี 2564 นั้น เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 เนื่องจากมูลค่าและคุณสมบัติของคริปโทหลายอย่างที่ดึงดูดใจนักต้มตุ๋นเข้ามาใช้มันเพื่อหลอกลวงผู้อื่น เช่น

  1. คริปโทไม่มีตัวกลางที่มีอำนาจในการตรวจสอบธุรกรรมที่ต้องสงสัยและยับยั้งการโกงได้ทันเวลา
  2. ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบคริปโทนั้นไม่สามารถแก้ไขหรือย้อนกลับได้
  3. ผู้คนส่วนมากถึงแม้จะสนใจ แต่มีน้อยคนที่เข้าใจและคุ้นชินกับการทำงานของระบบคริปโท

คุณลักษณะเหล่านี้เป็นเรื่องทั่วไปสำหรับคนที่เข้าใจการทำงานของคริปโทเป็นอย่างดีแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ มันทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากที่จะโดนหลอกลวง

รูปแบบการหลอกลวง

รายงานของ FTC ระบุว่า การฉ้อโกงทางคริปโทส่วนมากเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ในรูปแบบของโพสต์โฆษณาชวนเชื่อ หรือส่งข้อความผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยแพลตฟอร์มที่มีรายงานว่าเคยเกิดการโกงเหล่านี้คือ Instagram, Facebook, WhatsApp และ Telegram

โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สัดส่วนที่มากที่สุดเกิดจากการหลอกให้ลงทุน ซึ่งมีปริมาณมากถึง 575 ล้านเหรียญ (19,000 ล้านบาท) โดยเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้ไปลงทุนด้วยผลตอบแทนที่สูงจนน่าตกใจ และดึงดูดให้ผู้คนนำเงินเข้าไปลงทุน และสุดท้ายก็ปิดหนีหายไป

รองลงมาคือการ “หลอกให้รัก” หรือ Romance Scam ซึ่งหมายถึงการเข้ามาชวนพูดคุยทั่วไป เสมือนสร้างความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งปลอมตัวมาเป็นกูรูให้คำแนะนำด้านคริปโท และหลอกให้โอนเงินหรือชวนลงทุนในคริปโทตามคำแนะนำ

และรูปแบบสุดท้ายคือการปลอมตัวเป็นองค์กรหรือรัฐบาล โดยนักต้มตุ๋นจะส่งข้อความว่ามีการสั่งซื้อของจากออนไลน์หรือมีอุปกรณ์มีปัญหาด้านความปลอดภัย และปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่มาบอกว่าบัญชีธนาคารของพวกเขามีความเสี่ยง และเพื่อความปลอดภัย ให้นำเงินที่มีไปเก็บเป็นเงินคริปโทไว้ก่อนในระหว่างตรวจสอบ โดยนักต้มตุ๋นจะหลอกให้เหยื่อถอนเงินสดไปใส่ที่ตู้ ATM คริปโท (ที่มีอยู่ทั่วไปในบางประเทศ) และส่ง QR Code มาให้พวกเขาสแกนเพื่อฝากเงิน โดยที่จริงแล้ว QR Code นั้นเป็นบัญชีของนักต้มตุ๋นเอง

จะสังเกตได้ว่าการหลอกลวงเหล่านี้เป็นวิธีการคล้ายกับการหลอกลวงทั่วไปที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้จะไม่ใช่ในวงการคริปโทก็ตาม เพียงแต่ความเสี่ยงของระบบคริปโทคือ การตามจับตัวยากและการแก้ไขธุรกรรมไม่ได้ เมื่อโดนหลอกไปแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวัง ศึกษาให้เข้าใจก่อนลงทุน และอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินไป แล้วถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะลงทุนดีหรือไม่ ให้ลองถามตัวเองก่อนสักนิดว่า ถ้าผลตอบแทนดีขนาดนี้จริง ๆ ทำไมยังมีคนที่ไม่รวยอยู่บนโลกนี้อีก?

ที่มา: FTC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส