โอ้ว…ดราม่ายิ่งขึ้นไปอีก ตอนแรก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อยากซื้อ Twitter แต่ไม่แน่ใจว่าบอร์ดของบริษัทจะเห็นด้วยไหม แต่หลังจากข่าวลือต่าง ๆ มากมายว่าจะมีการปิดกั้นไม่ให้ดีลนี้เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายก็ดูเหมือนจะตกลงกันได้แล้วด้วยดีลมูลค่าสูงถึง 44,000 ล้านเหรียญ ตอนนี้มัสก์กลับบอกว่าอยากยกเลิกข้อตกลง ส่วน Twitter ก็ไม่ยอม ยื่นฟ้องมัสก์เพื่อให้เขาทำตามข้อตกลงที่จะซื้อให้ได้

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้เรียบร้อย แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มสั่นคลอน ผลลัพธ์คงต้องไปจบกันที่ศาลว่าจะออกมาแบบไหน แต่ไม่ว่าสุดท้ายแล้วมัสก์จะกลายเป็นเจ้าของ Twitter หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่บริษัทต้องเผชิญต่อไปหลังจากนี้คือความไม่แน่นอนของธุรกิจและสภาพจิตใจของพนักงานบริษัทหลังจากดราม่าครั้งนี้จบลง

ข่าวการยกเลิกดีลของมัสก์ถูกเปิดเผยครั้งแรกช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2022 โดยให้เหตุผลว่า Twitter ไม่ยอมมอบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมที่แท้จริงบนระบบให้กับเขา ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ มัสก์ให้เหตุผลว่านี่เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจเข้าซื้อบริษัทด้วย สัปดาห์ต่อมา Twitter ยื่นฟ้องต่อศาลด้วยเอกสารความยาวกว่า 60 หน้าเกี่ยวกับมัสก์ว่าเขาต่างหากล่ะที่ละเมิดข้อตกลง และพยายามบังคับให้เขาทำตามที่สัญญาว่าจะเข้าซื้อตั้งแต่แรก ทนายความของบริษัทแจ้งในเอกสารว่า

“Twitter ไม่ได้ละเมิดข้อตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น […] การยกเลิกโดยอ้างว่าเป็นโมฆะด้วยเหตุผลจากมัสก์และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยเจตนาจงใจและละเมิดข้อตกลงอย่างมีนัยสำคัญ … Twitter จะยังคงมอบข้อมูลที่มัสก์ต้องการอย่างสมเหตุสมผล … และดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อทำให้ข้อตกลงนี้สำเร็จ”

จากมุมมองของนักธุรกิจและทนายความด้านการเข้าซื้อและควบรวมกิจการต่างเห็นตรงกันว่า Twitter น่าจะมีแต้มต่อในมือทางด้านกฎหมายในการยื่นฟ้องครั้งนี้ โดย Twitter บอกว่าข้อตกลงทางด้านตัวเลขก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แถมข้อกฎหมายและตัวบริษัทเองก็ไม่ได้ติดขัดอะไร มันไม่มีเหตุผลเลยที่จู่ ๆ มัสก์จะมาถอนตัวออกจากไปแบบนี้ แต่ยังไงก็ตาม แม้ Twitter จะได้เปรียบทางข้อกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความผลลัพธ์ปลายทางจะเป็นอย่างที่พวกเขาต้องการ เพราะก่อนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ก่อนที่มัสก์จะตัดสินใจประกาศเข้าซื้อ Twitter เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ในเชิงธุรกิจแล้วบริษัทเองก็ไม่ได้เติบโตมากสักเท่าไหร่ รายได้หลักจากการโฆษณาก็ไม่ได้หวือหวาเหมือนอย่างโซเชียลมีเดียคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีข่าวเรื่องของการตัดงบบริษัทบางส่วนเพราะกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะมาถึงด้วย

อย่างที่หลายคนน่าจะทราบดีว่ามัสก์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีทรัพยากรมากมายที่สามารถจะลากคดีนี้ออกไปให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ Twitter เองไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้น เพราะต้องสู้ศึกทางด้านธุรกิจของตัวเองระหว่างการขึ้นศาลครั้งนี้ด้วย แม้ว่าจะแจ้งความจำนงต่อศาลให้เร่งกระบวนการทั้งหมดให้เกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ มันก็ไม่มีอะไรการันตีว่าเรื่องนี้จะจบลงง่าย ๆ อย่างที่ต้องการ แต่ถ้าชนะก็เหมือนมัดมือให้มัสก์ (ที่มักออกมาก่นด่าบริษัทและบอร์ดบริหาร) กลายมาเป็นเจ้าของคนใหม่ของบริษัทที่เขา ‘เคย’ อยากได้ แต่บริษัท ‘เคย’ ไม่อยากขาย ได้สำเร็จ

ฟังดูแปลกไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะจากที่ตอนแรกทั้งผู้ใช้งาน ทั้งพนักงาน ทั้งบอร์ดบริหาร ต่างก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าไม่อยากให้ดีลนี้เกิดขึ้น ไม่ต้องการให้มัสก์มาเป็นเจ้าของ แต่ด้วยมูลค่าของข้อตกลงที่จะซื้อขายกันในราคาหุ้นละ 54.20 เหรียญนั้นสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดกว่า 43% (ณ วันที่เขียน 17/07/2022 หุ้นละ 37.75 เหรียญ​) ทำให้บอร์ดบริหารต้องพิจารณาคำยื่นขอเข้าซื้อและพยายามทำให้ดีลนี้สำเร็จให้ได้ หรืออย่างน้อยถ้ามันจะจบแบบแยกทางกันจริง ก็ต้องฟ้องเอาค่าเสียหายจากมัสก์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้บนชั้นศาล

ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือ Twitter อาจจะตัดสินใจ ‘ลดราคา’ ของดีลนี้ลงมาสักหน่อย อย่างน้อยถ้ามัสก์บอกว่าได้ข้อมูลไม่ครบเขาเลยขอต่อรองราคา มันก็อาจจะเป็นทางออกที่แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย แต่ราคาก็เป็นอีกเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ง่าย ๆ เพราะถ้าส่วนต่างน้อยเกินไปบอร์ดบริหารเองก็คงไม่ได้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนมือเจ้าของ ฟ้องเอาเงินชดเชยจากมัสก์อาจจะเป็นการเดินหมากที่ฉลาดกว่าในกรณีแบบนั้น แต่ในมุมกลับกันถ้าเกิดว่ามัสก์ชนะ (มันก็มีโอกาสเป็นไปได้) แล้วอย่าลืมว่าเขาเองก็ยังเป็นหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท (9% ในวันที่เขียน) เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเทขายหุ้นออกมาจนหมด มันจะส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัทและราคาหุ้นในตลาดอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

แถมไม่พอดราม่าครั้งนี้ยังส่งผลกระทบด้านลบต่อหลังบ้านของ Twitter ไม่น้อย อย่างแรกผู้นำของบริษัท บอร์ดบริหาร และคนที่มีอำนาจตัดสินใจทั้งหลายล้วนสับสนและกังวลต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น (และไม่เกิดขึ้น) ในอนาคตที่จะมาถึง สูญเสียโฟกัสว่าจะต้องนำบริษัทไปทางไหน รวมไปถึงพนักงานที่อกสั่นขวัญหาย หลายคนถือหุ้นของบริษัทไว้หวังว่าจะได้เงินก้อนใหญ่จากการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ บางคนกังวลถึงอนาคตของงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปถ้าได้เจ้าของใหม่ หลายคนไม่แน่ใจว่าถ้าดีลไม่สำเร็จแล้วจะยังไงต่อ คำถามมากมายทำให้พนักงานทำงานกันอย่างไม่เต็มที่ ไหนจะผู้ใช้งานที่ ผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่บริษัทที่มาโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ต่างก็ชะงักกันไปหมดเพราะอนาคตที่ไม่แน่นอน

คาร์ล ทูเบียส (Carl Tobias) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่ University of Richmond School of Law ได้ออกมาแสดงความเห็นกับสำนักข่าว CNN ว่า “จินตนาการยากมากเลยว่าบริษัทจะกลับมายังไงแล้วไปข้างหน้าต่อยังไง น่าเสียดายที่มันอาจจะไม่ได้มีทางออกที่ดีสักเท่าไหร่”

แม้ว่าทีมกฎหมายของมัสก์จะไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก แต่ข้อโต้แย้งที่น่าจะถูกหยิบเอามาใช้ในชั้นศาลคงเกี่ยวข้องกับข้อมูลของจำนวนบัญชีบอตหรือบัญชีปลอมที่ทางบริษัทไม่ยอมแชร์ให้เขาอย่างเปิดเผย อ้างว่าข้อมูลที่ทางบริษัทแจ้งว่าบัญชีปลอมมีอยู่ราว ๆ 5 % นั้นไม่ใช่เรื่องจริงเลย และนักกฎหมายหลายคนก็แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามัสก์พยายามจะหาทางออกจากดีลเพื่อไม่ให้เสียเงินสักบาทเลยต่างหาก เพราะมัสก์เองก็เคยทวีตเอาไว้ว่าอยากจะซื้อบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องบอตบน Twitter เพราะฉะนั้นข้อโต้แย้งของเขาจึงฟังดูไร้น้ำหนักเพราะเขาก็น่าจะทราบดีอยู่แล้วเกี่ยวกับปัญหาบอตบน Twitter ก่อนจะเสนอเข้าซื้อกิจการด้วยซ้ำ

Twitter ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าคำกล่าวอ้างที่มัสก์บอกว่าบริษัทไม่ยอมแชร์ข้อมูลนั้นไม่ใช่เรื่องจริง นอกจากจะแชร์ไปเยอะมากแล้วทั้งทวีตและข้อสรุปของการวัดจำนวนบอตบนแพลตฟอร์ม พวกเขายังมีการประชุมกับตัวแทนของมัสก์หลายครั้งและชวนคนอื่น ๆ เข้ามาร่วมฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย แต่มัสก์เองก็ไม่เคยมาร่วมประชุมเลย และในความเป็นจริงแล้ว ข้อตกลงตั้งแต่ตอนแรกเองก็ทำให้อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูลอยู่ในมือของ Twitter เช่นกัน ถ้ารู้สึกว่ามัน ‘เป็นเหตุเป็นผล’ และจำเป็นต้องใช้ก็สามารถมอบให้ได้ หรือถ้ารู้สึกว่ามันทำให้ข้อมูลของบริษัทรั่วไหลและสูญเสียโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทจะไม่ให้ก็ได้เช่นเดียวกัน

มัสก์อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ข้อมูลที่ต้องการจริง ๆ หรือบางทีเขาก็อาจจะเหมือนมนุษย์ทั่วไปที่กดปุ่ม “ซื้อเลย” ตอนเที่ยงคืนเพราะเมาค้างหรือง่วงจัด เห็นไฟกระพริบและจินตนาการอันสวยงาม ก่อนจะตื่นมาเช้าอีกวันรู้ตัวว่าตัดสินใจพลาดและอยากขอเงินคืนก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอยากออกจากดีลนี้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จากดีลแห่งประวัติศาสตร์ของ Twitter จะกลายเป็นศึกทางกฎหมายระหว่าง Twitter และ มัสก์ ที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงบนชั้นศาลอย่างแน่นอน

ถ้าศาลบังคับให้มัสก์ซื้อ ผู้ถือหุ้นก็จะได้เงินจำนวนมหาศาล ส่วนบริษัทก็จะได้เจ้าของที่ไม่อยากเป็นเจ้าของมาดูแลบริษัท

ถ้าศาลบอกมัสก์ไม่ต้องซื้อ ผู้ถือหุ้นก็จะสูญเสียกำลังใจ พนักงานก็เคว้ง บริษัทก็จะเสียเวลาหลายเดือน (หรือเป็นปี) หลุดโฟกัสทางธุรกิจ และเสียโอกาสในการแข่งขันกับโซเชียลมีเดียเจ้าอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมไปด้วย

ไม่ว่ายังไงปลายทางแล้ว Twitter ก็ดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่นักถ้ามันยืดเยื้อ

ทางออกที่ดีที่สุดของ Twitter ดูจะเป็นการจับมือสงบศึกโดยเร็ว ให้มัสก์จ่ายค่าเสียเวลา ค่าปรับในการยกเลิกข้อตกลงซึ่งวางไว้ในตอนแรกที่ 1 พันล้านเหรียญ (ซึ่งดูแล้วในกรณีนี้มัสก์อาจจะต้องจ่ายมากกว่านั้น) แล้วต่างฝ่ายก็มูฟออนเดินไปทางของใครของมันจะดีกว่า

อ้างอิง:

The Guardian CNN Twitter
CNN Edition 1 CNN Edition 2 CNN 2 CNBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส