ในทางการแพทย์เรามักได้ยินว่าคุณหมอ พยาบาล คนที่ดูแลผู้ป่วยที่มีความเกี่ยวข้องกับคนไข้นั้นไม่ควรที่จะรักษาดูแลคนรักหรือครอบครัวที่รู้จัก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วคนที่น่าจะรู้จักและใส่ใจคนไข้เหล่านั้นดีที่สุดน่าจะเป็นพวกเขาไม่ใช่เหรอ

เราเคยได้ยินเรื่องราวหลายต่อหลายครั้งที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ฉุกเฉินของคนที่ตัวเองรักนั้นมักจะทำอะไรไม่ถูก ตัดสินใจผิดพลาด และสับสนจนกลายเป็นปัญหาที่ตามมาภายหลัง 

มันอาจจะเป็นความกลัว ความกังวล หรือความรู้สึกแคร์คนไข้ที่เป็นคนรักมากเกินไปจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาด แต่ความจริงบางอย่างที่ลึกเข้าไปข้างในมากกว่านั้นที่เรียกว่า “Self Serving Bias” หรือ “อคติจากการเข้าข้างตัวเอง” ที่ต้นเหตุของปัญหาต่างหาก

Self Serving Bias นั้นเป็นปัจจัยภายในที่อยู่ตัวเราทุกคนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ เป็นความเอนเอียงที่ทำให้เราคิดว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากตัวเรา และสิ่งที่ไม่ดีและเป็นผลลบนั้นมาข้างนอก คนอื่น หรือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรานั่นเอง มันเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ รูปแบบ ตั้งแต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปจนถึงการทำงานกับคนอื่น ๆ อย่างในกิจกรรมการแข่งขันเช่นกีฬา หน้าที่การงาน ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและต้องใช้กระบวนการตัดสินใจที่ยุ่งยากด้วย

เพราะฉะนั้นเมื่อย้อนกลับไปที่คำถามในตอนแรกว่าทำไมคนที่หมอไม่ควรรักษาคนไข้ที่เป็นคนรักคนสนิท ก็เพราะว่าตามธรรมชาติของมนุษย์แล้วเราจะโทษสิ่งต่าง ๆ รอบตัวก่อน ถ้าเกิดว่ามีปัญหาขึ้นมาภายหลังก็จะโทษคนอื่น ๆ ไม่อยากรับผิดชอบ เพราะอยากจะรักษาสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นใจ” ของตัวเองเอาไว้นั่นเอง

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รักตัวเอง เพราะฉะนั้นเหตุผลหลักที่ทำให้เราโทษคนอื่นก่อนเลยก็คือการป้องกันตัวเอง เป็นสัญชาตญาณที่พยายามไม่แปลกแยกจากกลุ่ม ชี้ไปหาคนอื่นก่อนเพื่อให้ตัวเองนั้นอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่มากกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในวงการแพทย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น อย่างที่บอกว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันอยู่บ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่นช่วงที่ผ่านมานั้นเหรียญคริปโตต่าง ๆ กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เหรียญที่ซื้ออยู่วันหนึ่งมันพุ่งทะยานขึ้นหลายพันเปอร์เซ็นต์ เราก็มักจะบอกว่ามันคือความสามารถของเราที่คาดการณ์เอาไว้แล้วว่ามันจะขึ้นในอีกไม่ช้า แต่ถ้าวันหนึ่งกลายเป็นว่าถูกโกงและมูลค่าเป็นศูนย์ขึ้นมา ก็มักจะโวยวายบอกว่าถูกโกง คนอื่นเป็นคนไม่ดี ไม่ใช่เพราะตัวเองตัดสินใจผิดพลาด

และเมื่อมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มันจะยิ่งเน้นย้ำพฤติกรรมของเราให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าเกิดเรื่องที่ไม่ดีหรือที่ไม่คาดคิดขึ้นมาเราจะโยนให้คนอื่นก่อนเลยเพราะมันทำให้เรารู้สึกปลอดภัย

จากงานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการทำให้อคติในการเข้าข้างตัวเองนั้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุและเพศด้วยเช่นกัน ผู้ใหญ่มักมองเรื่องความสำเร็จเป็นผลลัพธ์จากการตัดสินใจและการกระทำของตัวเองมากกว่า และโดยเฉพาะผู้ชายที่มักจะโทษทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาล้มเหลว

เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วยเช่นเดียวกัน อย่างในตะวันตกเช่นอเมริกาจะพบเห็นปรากฎการณ์นี้บ่อยกว่าเพราะประชากรของเขานั้นถูกปลูกฝังมาให้เชื่อมั่นในความเป็นตัวเอง มั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูง ยกย่องและชื่นชมและส่งเสริมความสำเร็จที่มาจากตัวเอง ส่วนในวัฒนธรรมของตะวันออกอย่างบ้านเรา หรือ จีน และ ญี่ปุ่น ก็จะอาจจะบอกว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากปัจจัยภายนอกอย่างเจ้านายดี อาจารย์ดี หรือ แม้แต่ดวงดี (ไปไหว้พระดีมา) 

แต่ในบางกรณีอย่างผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าสิ่งที่เกิดขึ้นมักจะกลับด้านกัน พวกเขามักจะโทษตัวเองก่อนและเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นจะคิดก่อนเลยว่าเป็นเพราะสิ่งอื่น ๆ รอบนอก ไม่ได้มาจากความสามารถของตัวเอง

Self Serving Bias นั้นมีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง ถ้ามากเกินไปก็อาจจะเป็นการหลงตัวเอง ชื่นชมแต่สิ่งที่ดีเอาเข้าตัว ปัดความรับผิดชอบทุกอย่างให้คนอื่นหมดโดยที่ไม่พยายามเรียนรู้หรือแก้ไข ถ้าเมื่อไหร่ที่มันเอนเอียงมาทางนี้มากเกินไปเราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดอะไรเลย แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็มีข้อดีด้วยเช่นกัน เพราะมันช่วยทำให้เราเห็นถึงความพยายามของตัวเอง (ฉันหาข้อมูลเยอะเลยซื้อเหรียญคริปโตได้ดี) ช่วยให้เราอดทนฟันฝ่าช่วงเวลาที่ลำบาก เป็นกำลังใจให้ตัวเองมองไปข้างหน้าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือบาลานซ์มันให้ดี ๆ เมื่อมีอะไรผิดพลาดก็ให้มองให้ครบทั้งข้างในและข้างนอก ที่สำคัญที่สุดต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าใครจะผิดก็ตามที

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส