เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้เห็นคำกล่าวที่ว่า “Keep It Simple” หรือ “ทำให้เรียบง่าย” ภาพที่เข้ามาในหัวสำหรับคนที่ใช้เทคโนโลยีอยู่ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์และผลงานต่าง ๆ ของบริษัท Apple อย่างแน่นอน แต่ถึงแม้มันจะเป็นคำพูดที่กล่าวกันบ่อยครั้ง แต่ความหมายจริง ๆ ของมันคืออะไรกันล่ะ? “ความเรียบง่าย” ต้องเป็นยังไง? หลักแนวคิดที่สามารถถ่ายทอดออกมาสู่ลูกค้าและผู้ใช้บริการต้องเป็นแบบไหนกัน?

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าเราได้แต่พร่ำบอกว่า ‘ทำให้เรียบง่าย’ เข้าไว้ แต่กลับไม่เข้าใจความหมายของมันจริง ๆ แล้ว คำพูดตรงนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากประโยคสวยหรูที่เหมาะจะพรินต์ออกมาติดบนข้างฝาออฟฟิศให้ดูโก้หรูเพียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วหลักแนวคิดเหล่านี้ได้ถูกอธิบายไว้ได้อย่างชัดเจนในหนังสือ ‘Insanely Simple’ (แปลไทยชื่อ ‘เรียบง่ายเป็นบ้า’) ของ เคน ซีกัลล์ (Ken Segall) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเทคโนโลยี ทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ที่บริษัทของ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) มานานกว่า 12 ปี ตั้งแต่ NeXT ไปจนถึง Apple เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Apple และเป็นคนที่ริเริ่มการใช้ ‘i’ ใน ‘iMac’ ซึ่งกลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทที่ตามมาอีกมากมาย

นี่คือหลักแนวคิด ‘Keep It Simple’ ที่สรุปมาจากหนังสือของซีกัลล์ที่เล่าจากมุมมองของทีมการตลาดของ Apple ซึ่งกลายมาเป็นแม่พิมพ์ของบริษัทตั้งแต่ยุคแรก ๆ จนถึงปัจจุบัน

1. ลดทางเลือกของประเภทสินค้า

จอบส์ขึ้นชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบแนวคิดความ ‘มินิมอล’ โดยทัศนคติของเขาคือตัดทุกอย่างให้เหลือเพียงแก่นแท้ของมันเพียงเท่านั้น เขาไม่ชอบอะไรก็ตามที่จะมาเพิ่มความซับซ้อนให้กับผลิตภัณฑ์ มีคำกล่าวหนึ่งที่เขาเคยพูดบอกว่า “นวัตกรรมหมายถึงการบอกว่า ‘ไม่’ กับหลายพันอย่าง คุณต้องเลือกให้ดี”

นวัตกรรมและความเรียบง่ายหมายถึงการโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น

เมื่อเรามอบทางเลือกที่ไม่มากเกินไปให้กับลูกค้า มันจะทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองได้ง่ายขึ้น สำหรับลูกค้าแล้วการติดสินใจแบบไม่ยุ่งยากทำให้พวกเขามีความสุขมากยิ่งขึ้นด้วย แถมยังไม่พอการลดทอนจำนวนสินค้าและประเภทของสินค้าลงจะทำให้คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจจัดการและดูแลรายละเอียดของสินค้าที่มีได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าต้องการทำให้มันเรียบง่ายก็โฟกัสไปที่สินค้าไม่กี่ประเภท แต่ทำมันให้ดีที่สุดนั่นเอง

2. ลดทอนให้เหลือ ‘ปุ่มเดียว’

เลข ‘1’ คือตัวเลขที่เรียบง่ายที่สุดในบรรดาตัวเลขทั้งหมด ตอนที่ iPhone เปิดตัวครั้งแรก จอบส์ยืนยันว่าอยากให้มันมีเพียงปุ่มโฮมเพียงปุ่มเดียว ซึ่งสำหรับ Apple นั่นคือแนวคิดหลักของการทำงาน ทำให้สินค้าเข้าใจง่าย ทำงานได้ด้วยปุ่มเพียงปุ่มเดียว เป็นสัญลักษณ์ของความเรียบง่าย

ถ้าเราดูผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาด จะเห็นว่ามีสินค้ามากมายที่ยังไม่สามารถเดินตามหลักแนวคิดนี้ได้ สินค้าบางอย่างซับซ้อนและเต็มไปด้วยปุ่มและฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นเต็มไปหมด ผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจได้ว่ามันทำงานยังไง ถ้าเราหันไปดูทางด้าน e-Commerce ก็จะเห็น ​Amazon ที่ใช้หลักแนวคิดเดียวกัน “Buy With 1-Click” ที่ช่วยทำให้กระบวนการซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ๆ แค่คลิกเดียว หลายเว็บไซต์ทำให้ขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้คนที่อยากซื้อของถอดใจไปเสียก่อนระหว่างทาง

ถ้าอยากทำตามหลักแนวคิดนี้ ให้ลองนึกดูว่าสินค้าหรือบริการของคุณสามารถทำงานได้ด้วยปุ่มเพียงปุ่มเดียวหรือเปล่า? คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ก็อยากให้ลองคิดถึงช่วงก่อนที่ iPhone จะออกสู่ตลาด ตอนนั้นสมาร์ตโฟนมีปุ่มเต็มไปหมด จนกระทั่ง Apple เปิดตัว iPhone ที่มีปุ่มโฮมเพียงปุ่มเดียว กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนตลาดสมาร์ตโฟนเลย

ลองตัดทุกอย่างออกไป เหลือเพียงแค่ปุ่มเดียว จะเป็นไปได้ไหม?

3. ตัดข้อความให้สั้นลง

ลองคิดถึงประโยคทองของโฆษณา ​Apple ที่สร้างชื่อเสียงอย่าง “Think Different” หรือ “10,000 songs in your pocket” สิ่งที่เราจะเห็นคือภาพที่มีพื้นที่โล่ง ๆ มีรูป แล้วก็ข้อความสั้น ๆ ที่บอกว่ามันคืออะไร แค่นั้นเลย ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ไม่มีลิสต์ของฟีเจอร์ที่มีอยู่ในเครื่อง ไม่ต้องสาธยายว่าทำอะไรแบบไหนได้บ้าง

ความเรียบง่ายคือการสื่อสารแบบเฉียบคม สั้น ๆ ให้เข้าใจจุดเด่น โดยตัดเรื่องต่าง ๆ ออกไป เพราะนอกเหนือจากสิ่งที่ต้องการสื่อแล้ว ทุกอย่างล้วนจะเป็นการรบกวนข้อความที่จะสื่อ ความซับซ้อนที่ไม่จำเป็น โฆษณาเหล่านี้ต้องมีการออกแบบให้เรียบง่ายที่สุด สื่อสารให้เข้าใจง่ายที่สุด ทำให้ประเด็นที่ต้องการจะสื่อติดใจคนที่เห็นได้ดีมากขึ้น

การโฟกัสไปที่ข้อความที่สั้นและชัดเจน ทำให้ลูกค้าเข้าใจตัวผลิตภัณฑ์ได้ง่าย สมมติว่าเราเขียนฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ออกมาสิบยี่สิบอย่าง ลูกค้าจะงงแล้วว่าสรุปมันดียังไงกันแน่ ต้องใช้ความพยายามในการจำและเข้าใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นเลือกสิ่งที่ดีที่สุดของสินค้าและบริการมาหนึ่งอย่าง ตัดข้อความให้สั้นและน่าดึงดูดที่สุดเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า

4. อย่าเสียเวลา

อย่าเสียเวลากับขั้นตอนที่อืดอาดยืดยาด จอบส์จะหลีกเลี่ยงการทำโฟกัสกรุ๊ปในแคมเปญโฆษณา ไม่รอการเสนอราคาประมูลของบริษัทเอเจนซี่โฆษณา การวิเคราะห์ข้อมูลอันซับซ้อนของลูกค้าที่เข้ามาที่เว็บไซต์ หรือตัวเลขที่ยุ่งเหยิงมากมาย ในมุมมองของเขาแล้วสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้กระบวนการทั้งหมดช้าลงไปอีก

เขาอยากให้ทุกอย่างเรียบง่ายกว่านั้น อยากให้แผนเริ่มดำเนินไปอย่างรวดเร็วโดยไม่เสียเวลากับประชุมต่าง ๆ มากมาย ซีกัลล์ที่เคยทำงานให้กับทั้ง ​Apple และ Dell บอกว่า “Apple ใช้เวลาหนึ่งเดือนเพื่อร่างและสร้างแคมเปญโฆษณาขึ้นมา ส่วน Dell ใช้เวลาทั้งเดือนนั่งคุยกลยุทธ์กันอยู่เลย”

ความเรียบง่ายคือการตัดความยุ่งยากรอบ ๆ ออกไปให้หมดแล้วพุ่งประเด็นไปยังสิ่งที่สำคัญเท่านั้น

5. ทำงานกับกลุ่มคนที่เฉลียวฉลาดแบบกลุ่มเล็ก ๆ

เชื่อว่าใครก็ตามที่เคยทำงานในบริษัทขนาดใหญ่จะเคยเห็นหัวหน้าที่ชวน ‘ทุกคน’ เข้าประชุม โดยเชื่อว่าหลายหัวดีกว่า มีมากดีกว่ามีน้อย แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตลาด ก็ชวนฝ่ายวิศวกร ฝ่ายการเงิน ฯลฯ เข้ามาร่วมด้วย หวังว่าอาจจะมีไอเดียแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นระหว่างประชุมก็ได้

ซีกัลล์เชื่อว่าการทำแบบนี้ยิ่งทำให้งานของคุณช้าลงไปอีก สุดท้ายแล้วอาจจะทำให้บริษัทเสียหายหนักเลยก็ได้ ถึงแม้ว่าหลายหัวดีกว่า เพราะมีทางเลือก มีไอเดียมากกว่า แต่เมื่อมีไอเดียมากมาย ยิ่งต้องการประชุมที่มากขึ้นตามมาอีก ต้องใช้คนเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้โปรเจ็กต์ยิ่งซับซ้อนและยาวขึ้นไปอีก ไม่รู้จะไปจบตรงไหน เขาบอกว่า

“ยิ่งเอาคนมาไว้ในห้องเยอะ ๆ ยิ่งทำให้โอกาสในการได้อะไรออกมาจากห้องนั้นลดน้อยลงไปอีก”

การทำงานกับกลุ่มคนขนาดเล็กที่มีไหวพริบและเฉลียวฉลาดนั้นสร้างผลลัพธ์ที่รวดเร็วมากกว่า ไม่ต้องคุยกับหลายฝ่าย สรุปประเด็นและไปต่อได้อย่างรวดเร็ว ทีมใหญ่ ๆ นั้นคุยกันไม่รู้จบ ทีมเล็ก ๆ มักลงมือทำทันที

เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องจัดประชุม ลองถามตัวเองดูว่ามีคนต้องเข้าจริง ๆ กี่คนเพื่อให้งานนี้สำเร็จขึ้นมาได้ ก็เชิญแค่นั้น ปล่อยให้คนอื่นทำงานและหน้าที่ของตัวเองไป

6. รู้จักและเป็นตัวเองให้มากที่สุด

สิ่งที่ทำให้การสื่อสารของ Apple นั้นมีประสิทธิภาพอย่างมากก็เพราะว่าพวกเขาทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น ความเชื่อและการเป็นตัวของตัวเองที่สื่อออกมากับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่างชัดเจน ความเรียบง่ายที่แท้จริงต้องมีความเป็นธรรมชาติด้วย การทำธุรกิจและการสื่อสารที่จะมัดใจลูกค้าได้ต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อทำธุรกิจเรามักได้รับเสียงวิจารณ์จากลูกค้ามากมาย ความคาดหวังที่จะให้เป็นอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการ หลักแนวคิดของการทำงานให้เรียบง่ายคือเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด เชื่อในสัญชาตญาณและความเชื่อ กล้าที่ยืนหยัดและยึดมั่นในเส้นที่เลือก เพราะสิ่งที่เราทำนั้นเป็นการสื่อสารกับลูกค้า ยิ่งอยากให้มันเรียบง่ายมากแค่ไหน ยิ่งต้องรู้จักตัวตนของตัวเองและแสดงมันออกมาให้เป็นธรรมชาติในเวลาเดียวกัน

สุดท้ายเราอาจจะคิดว่าแนวคิดเหล่านี้ดูไม่มีทางเป็นจริงได้ บริษัทของเรานั้นซับซ้อนกว่านี้มาก แต่อย่าลืมว่า Apple เป็นบริษัทระดับโลก มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญ เป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ทำไมถึงยังทำได้ หลายครั้งความซับซ้อนในองค์กรหรือกระบวนการในบริษัทเกิดจากตัวผู้นำเองที่ทำให้มันซับซ้อน โปรเจ็กต์หลายอย่างไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก บางทียาวนานกว่าที่มันควรจะเป็นด้วยซ้ำ เพราะผู้นำไม่ได้ยึดหลักของความเรียบง่าย

เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำได้ ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่ว่าจะขั้นตอนไหน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ถ้าอยากให้ผลงานออกมามีประสิทธิภาพและถูกใจลูกค้าก็พยายามยึดหลัก “Keep It Simple” และทำทุกอย่างให้เรียบง่ายเข้าไว้

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส