อาการ ‘ขี้ลืม’ บางทีก็รู้สึกน่ากวนใจ หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นอาการที่น่าเป็นห่วงรึเปล่า ถามชื่อคนอื่นที่เพิ่งเจอครั้งแรกไม่ถึง 5 นาทีก็ลืมแล้ว มีประชุมพรุ่งนี้กี่โมงกันนะ? วันนั้นที่คุยกับโรงงานเขาบอกว่าซื้อ 200 ชิ้นลด 25% หรือ 250 ชิ้นลด 20% กันนะ? หรือบางทีเราอาจจะคิดว่าความจำแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะอายุเยอะขึ้นแล้วหรือเปล่า?

วันนี้มีข่าวดี (และน่าสนใจ) มาบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ

อย่างแรกถ้ากำลังกังวลอยู่ก็สามารถหยุดได้แล้ว เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม การกังวลก็ไม่ได้ช่วยอะไร อย่างที่สองก็คือว่าตามทฤษฎีแล้วการ ‘ลืม’ บางสิ่งบางอย่างอาจจะเป็นประโยชน์ต่อระบบประสาทของเราก็ได้

ตามหลักของทฤษฎีใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Nature Reviews Neuroscience’ บอกว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ

  1. ในทุกวันนี้เราต้องเจอกับสิ่งเร้ามากมายในชีวิต มากเกินกว่าเราจะสามารถจดจ่อกับทุกอย่างได้ อย่าว่าแต่จำให้แม่นอีก 2 – 3 วันต่อจากนี้เลย แค่ไม่กี่นาทีก็ลืมได้แล้ว
  2. การลืมบางสิ่งบางอย่าง (หรือเกือบทุกอย่าง) เป็นกลไกทางธรรมชาติของสมอง ซึ่งถ้าไม่มีกลไกนี้ มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่มันจะทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันได้
  3. สมองจะส่งเสริมการเข้าถึงความทรงจำที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นความทรงจำที่มีประโยชน์เท่านั้น

ทฤษฎีของดอกเตอร์ โทมัส ไรอัน (Dr.Tomás Ryan) จากสถาบันประสาทวิทยาวิทยาลัยทรินิตีในเมืองดับลิน และดอกเตอร์ พอล แฟรงก์แลนด์ (Dr.Paul Frankland) แห่งภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโตรอนโตสรุปเอาไว้การลืมไม่ใช่ข้อบกพร่องของสมอง แต่มันอาจเป็นคุณสมบัติการทำงานของสมองเพื่อโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมแบบยืดหยุ่นได้ นำไปสู่พฤติกรรมที่ยืดหยุ่นมากขึ้นและตัดสินใจได้ดีขึ้น หากได้ข้อมูลใหม่เข้ามาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันอย่างแท้จริง การลืมอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของเราได้

ดอกเตอร์ไรอันและดอกเตอร์แฟรงก์แลนด์บอกว่าความเข้าใจครั้งใหม่นี้ทำให้เรียนรู้ว่าเราสมองของเรานั้นเรียนรู้ที่จะลืมในสถานการณ์ปัจจุบัน และความทรงจำที่จริงแล้วไม่ได้หายไป เพียงแต่สมองจะปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นให้ยากขึ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำคือจัดเตรียมกลยุทธต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ง่ายขึ้นนั่นเอง ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนนักวิ่งระยะไกลที่รู้ว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน เขาต้องเตรียมอะไรไปบ้างระหว่างทาง น้ำดื่ม เจลให้พลังงาน ฯลฯ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจว่าสมองของเราเรียนรู้ที่จะลืมเพื่อให้มันสามารถทำงานได้ในแต่ละวัน เราก็หาวิธีการจดจำข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

บางคนอาจจะใช้ To-Do List หรือบางคนใช้ Google Calendar หรืออาจจะเป็นสมุดโน้ต อย่าไปไว้ใจสมองให้มากนักเพราะมันต้องทำงานหนักมากขึ้นและให้เราเข้าถึงข้อมูล การหลงลืมไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการปรับตัวของสมองให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยข้อมูลและสิ่งเร้ามากมายได้ต่างหาก เพราะฉะนั้นเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและแบ่งเบางานของมันบ้างก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส