“NFT คือฟองสบู่”

“ไม่นานก็จะมีจุดจบเหมือนดอกทิวลิป”

เมื่อมีการพูดถึงวิกฤติทางการเงินต่างๆ เหตุการณ์ฟองสบู่ทิวลิป มักจะถูกนำมาเป็นเหตุการณ์อ้างอิงเสมอ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นฟองสบู่ครั้งแรกของโลก และล่าสุดที่ได้ยินบ่อยๆคือ NFT ซึ่งเป็นตลาดการซื้อขายไฟล์ดิจิทัลที่อยู่บนบล็อกเชน ก็ถูกเปรียบเทียบว่ามันอาจจะเป็นฟองสบู่ที่ใกล้จะแตกเต็มทีเช่นกัน

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นกับคำว่า NFT สามารถดูได้ที่นี่ – NFT คืออะไร?

ในเมื่อเหตุการณ์เก่าแก่อย่างฟองสบู่ทิวลิป ถูกยกกลับขึ้นมาอีกครั้งเพือเปรียบเทียบกับตลาดใหม่เอี่ยมอย่าง NFT ก็คงต้องมาทำความรู้จักกับวิกฤติฟองสบู่ทิวลิปกันก่อน เพื่อจะได้เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปรียบเทียบกัน

ฟองสบู่ทิวลิป

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1637 หรือประมาณ 400 ปีก่อน สมัยนั้นประเทศเนเธอร์แลนด์ยังไม่มีดอกทิวลิป และเป็นช่วงแรก ๆ ที่ดอกทิวลิปถูกนำเข้ามาจากประเทศตุรกี มันจึงกลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ น่าสนใจ เป็นดอกไม้หายากที่ผู้คนอยากเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะดอกที่มีสีแปลก ๆ มีหลายสี หรือที่เราคุ้นกันว่า “ไม้ด่าง”

ความนิยมนี้เริ่มต้นในหมู่ชนชั้นสูง และค่อยๆแผ่กระจายไปถึงชนชั้นกลาง แต่ปัญหาคือดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ที่ใช้ระยะเวลานานมากในการโต (7-12 ปี) เมื่อความต้องการสูงขึ้น แต่ทรัพยากรมีจำกัด จึงเกิดการเก็งราคาดอกทิวลิป ทำให้ราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงมีการ “ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” สำหรับดอกทิวลิปที่กำลังจะโต และมีการซื้อขายสัญญากันซึ่งทำให้ราคายิ่งสูงขึ้นไปอีก

ยิ่งดอกทิวลิปดอกไหนที่มีสีแปลก ๆ เป็นไม้ด่าง มีลวดลาย ก็ยิ่งมีราคาที่สูงลิ่วจนเรียกได้ว่าสามารถซื้อบ้านพร้อมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งได้เลย โดยดอกที่มีมูลค่าสูงที่สุดในยุคนั้นถูกเรียกว่า Semper Augustus โดยมีมูลค่าสำหรับ 1 ดอกอยู่ที่ประมาณ 12,000 กิลเดอร์ (สกุลเงินดัทช์สมัยก่อน) ซึ่งเทียบเท่ากับคฤหาสน์หลังใหญ่ในทำเลทองหนึ่งหลังเลยทีเดียว

อวสานการเก็งกำไร

สุดท้ายงานเลี้ยงก็มีวันเลิกรา เมื่อราคาของดอกทิวลิปขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ คนที่มีกำลังซื้อได้ก็น้อยลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ราคาขึ้นไปสูงจนคนในตลาดเริ่มเห็นตรงกันว่าไม่สมเหตุสมผล ทำให้เหล่านักเก็งกำไรขายไม่ออก ต้องยอมเทขายในราคาขาดทุน และราคาของดอกทิวลิปก็พากันร่วงลงมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็กลายเป็นเพียงดอกไม้สวยงามทั่วไปในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ถึงแม้ว่าจะเป็นฟองสบู่ที่ส่งผลกระทบในวงแคบเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นหนึ่งบทเรียนที่น่าจดจำสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวนมาก

เมื่อฟังดูแล้ว ปรากฎการณ์นี้อาจจะฟังดูคล้ายกับการซื้อขายต้นไม้ฟอกอากาศในบ้านเราเมื่อช่วงปีก่อน ที่กลายเป็นกระแสจนคนแห่กันไปซื้อตาม โดยยิ่งเป็นไม้ด่างก็ยิ่งราคาแพง จนบางต้นราคาพุ่งไปถึงหลักล้านเลยก็มี แต่เมื่อกระแสหมดไป ตลาดต้นไม้ฟอกอากาศก็กลับคืนสู่ราคาปกติเหมือนเดิม นักเก็งกำไรก็ขาดทุนกันเป็นแถบ

ทั้งสองตัวอย่างนี้สอนให้รู้ว่า ฟองสบู่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์อะไรก็ได้ที่เป็นกระแสจนคนเกิดอาการ “กลัวตกรถ” และ ซื้อต้นไม้ก็ “ติดดอย” ได้เหมือนกัน

แล้วเมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ฟองสบู่ทิวลิปกับสภาพตลาดของ NFT ตอนนี้ มันมีความคล้ายคลึงกับฟองสบู่ทิวลิปแค่ไหน? มันคือสินทรัพย์จริง ๆ หรือเป็นเพียงการเก็งกำไรเท่านั้น? สามารถอ่านต่อได้ที่นี่

ที่มา: Investopedia, Wikipedia, Investerest

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส