29 พ.ย.​65 – beartai BRIEF เปิดเวทีทอล์กหาทางออกให้กับการศึกษาไทยภายใต้หัวข้อ beartai BRIEF ON STAGE #2 “ส่องอนาคตโลก สร้างอนาคตการศึกษาไทย” เพื่อค้นหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย จุดไหนที่ต้องแก้ ณ อาคาร West ชั้น 3 ห้องทรู ดิจิทัล พาร์ค แกรนด์ ฮอลล์ โดยมีคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ในรายงานขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ทำการสำรวจโดย International Institute for Management Development (IMD) พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 33 ของโลกจาก 63 เขตเศรษฐกิจ ลดลงจากปีที่แล้วอันดับที่ 28 โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้อันดับตกลงมา คือเรื่องของการศึกษา ขณะที่ EF English Proficiency Index (EF EPI) จัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ พบว่า ปี 2022 ไทยได้อันดับที่ 97 จาก 111 ประเทศ เทียบเท่ากับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าต่ำมาก หากเทียบกับเวลาเรียนภาษาอังกฤษที่เด็กไทยเรียนอยู่ในปัจจุบัน

จำนวนครูกับคุณภาพโรงเรียนไม่เท่าเทียม

การศึกษาไทยที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากเห็นมากที่สุด คือการศึกษาที่เห็นคุณค่าในตัวคน ส่งเสริมศักยภาพ มีความรับผิดรับชอบกับผู้เรียน ลดความเหลื่อมล่ำ หลากหลาย ยืดหยุ่น และเป็นเหตุเป็นผล แต่ปัจจุบันยังถือว่าห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ เพราะไทยได้นำหลักสูตรมาจากหลายประเทศที่นำมาแปล แล้วใช้เป็นหลักสูตรหลักทันที แต่แท้จริงแล้วหลักสูตรที่แต่ละประเทศใช้นั้น ได้ทำการประยุกต์ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ และให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน

“ไทยจะใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้ เช่น เด็กชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย ก็จะมีความสามารถในการเรียนน้อยกว่าเด็กไทย เพราะข้อจำกัดทางภาษา ขณะเดียวกัน โรงเรียนใหญ่แต่ละแห่งก็แข่งกันตามหาเด็กเก่ง เพื่อไปอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ คำถามคือเด็กจบระดับมัธยมเป็นพันคน แต่ได้เรียนต่อปริญญาตรีกี่คน?”

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับขนาดโรงเรียนที่เห็นว่าเหมาะสม ตามมาตรฐานของระดับสากล ในชั้นประถมศึกษาไม่ควรเกิน 300 คน และ ในชั้นมัธยมศึกษาไม่ควรเกิน 600 คน โดยมีจำนวนเด็กต่อห้องเรียนไม่เกิน 25 คน ทำให้ครูเข้าถึงเด็กได้ครบทุกคน แต่ในไทยเรา บางโรงเรียน มีเด็กมากถึง 50-60 คนต่อ 1 ห้องเรียน ทำให้ในแต่ละโรงเรียนมักจะมีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังค่อนข้างมาก

ประเด็นของครูก็น่าคิด เพราะครูเงินเดือนน้อย จำนวนครูก็น้อย ก็ส่งผลโดยตรงให้เด็กไม่มีคุณภาพ ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กมีมากขึ้นเพราะเข้าถึงง่ายสำหรับครอบครัวที่เงินทุนไม่มาก ซึ่งคุณภาพก็ไม่มากเช่นกัน เพราะครูมีเพียงไม่กี่คน บางโรงเรียนมีครูแค่ 2 คน สอนทุกวิชา 

“โรงเรียนเข้าสู่ตลาดการแข่งขันมากจนเกินไปแล้ว สังเกตุจากการเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ บางโรงเรียนเดินทางมาจากต่างจังหวัดก็จริง แต่ได้นอนโรงแรมอย่างดี เพราะโรงเรียนมีงบประมาณ หรือผู้ปกครองสนับสนุน แต่บางโรงเรียนมีเด็กเก่ง แต่ขาดทุนทรัพย์ ต้องไปอาศัยนอนโรงเรียนที่รู้จักกัน หนักที่สุด คือต้องไปนอนวัด”

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศญี่ปุ่นออกกฎหมายให้เด็กที่จะเรียนชั้นประถมศึกษาต้องเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านเพื่อลดการเดินทางและค่าใช้จ่าย แต่หากมองในรายละเอียดก่อนที่จะออกประกาศได้ ญี่ปุ่นได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่จนยอมรับในคุณภาพการศึกษาได้ผ่านการจ้างข้าราชการที่เป็นคนในพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกใกล้ชิดสามารถเดินทางไปพูดคุยกับครูได้ง่าย ซึ่งสิ่งนี้ คือสิ่งที่ไทยเราจะทำ แต่ทำไม่ได้เสียที

อำนาจ เงิน ครู หลักสูตร ผิดที่ผิดทางไปหมด

ขณะที่ คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า อยากเห็นการศึกษาที่ดึงเอาศักยภาพคนออกมาใช้ให้เต็มที่ มีความยืดหยุ่นกับทุก ๆ ช่วงวัย การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามบริบทโลก เชื่อมโยงกับคุณค่ากับระดับสากล  และตอบโจทย์สังคมให้ดีขึ้น แต่ปัจจุบัน การศึกษาไทย ไม่เท่าเทียมตั้งแต่ต้น เพราะคำกล่าวที่ว่า “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” นั้นไม่จริงแน่นอน แค่โรงเรียนรัฐบาลกับเอกชนก็แตกต่างกันอย่างมหาศาลแล้ว

โรงเรียนเอกชนปรับตัวรวดเร็ว ปรับหลักสูตรตามเทรนด์ของสังคมและโลก เปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ยาก แต่แลกมาด้วยค่าเทอมราคาสูงที่มาพร้อมกับภาษีสังคมราคาไม่เบา มองมาที่ฝั่งโรงเรียนรัฐบาลไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้แบบคล่องตัว มีผู้บังคับบัญชาเยอะ มีหลายขั้นตอนกว่าจะแก้อะไรได้ ซึ่งปัจจุบันกฎเหล่านี้ไม่ใช่แค่ระเบียบ แต่สืบทอดความเฉยชา เชื่องช้ากันจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร 

ขณะเดียวกันแม้ไทยเราจะมีสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาเทียบเท่ากับประเทศฟินแลนด์ แต่ปัญหายังคงมีให้เห็น โดยเฉพาะการที่ครูทำงานไม่ตรงกับความถนัดทำให้โรงเรียนผลิตเด็กได้ไม่คุณภาพ , ปัญหาเงินเดือนของครูอัตราจ้างที่น้อยมาก ๆ , หลักสูตรแกนกลางของระบบการศึกษาไทยที่เป็นตัวฉุดการพัฒนาการศึกษาเพราะไม่อัปเดต บางเรื่องเรียนแล้วเรียนอีก บางเรื่องเรียนน้อยไป รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพที่มากจนเกินไปหลายร้อยข้อ และเป็นผู้ตรวจสอบจากภายนอก และยังใช้ตัววัดเดียวกันทั้งประเทศ ถ้าเทียบการศึกษา เป็นการลงทุนถือว่าไม่คุ้มค่ามาก ๆ

“ข้อมูลจากระดับโลกมีระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าโรวเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร รัฐบาลเองก็มีข้อมูลนี้อยู่ในมือแล้ว แต่คำถามคือ เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลง? ครูที่ฟินแลนด์ไม่ได้เงินเดือนเยอะมาก แต่ครูถือเป็นอาชีพที่มีคนอยากเป็นเยอะแต่รับสมัครน้อย เพราะมีการกำหนดชัดเจน ว่าต้องการครูแบบไหน แล้วผลิตครูแบบนั้นออกมา จากนั้นจัดสรรค์ทรัพยากรครูให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ส่วนเงินเดือนขึ้นอยู่กับพื้นที่ ว่าค่าครองชีพแต่ละพื้นที่นั้นเท่าไหร่ มองกลับมาที่ครูไทย นอกจากเงินเดือนน้อยแล้ว การจะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นนั้น ต้องปรับระดับเป็นครู คศ. 3 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ แต่งตั้งจากครู คศ. 2 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ ซึ่งต้องทำซึ่งต้องทำเอกสารเยอะมาก ๆ เพื่อจะขอปรับเงินเดือนขึ้นไม่กี่พัน”

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแต่ละวิชาที่อยู่ในห้องเรียนอะไรจำเป็นก็ยังคงต้องเรียนอยู่ แต่ควรทบทวนผู้สอนกับผู้เรียนให้ชัดเจน ต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด ว่าวิชาต่าง ๆ นั้น เรียนไปเพื่ออะไร ครูผู้สอนก็ต้องเข้าใจด้วย นอกจากนี้ควรเพิ่มวิชาที่เป็นทักษะการใช้ชีวิตเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกฎระเบียบที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะเรื่องทรงผมที่เด็กควรมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่อยู่บนร่างกายได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ การแก้ไขเรื่องเหล่านี้ต้องมองให้ออกว่า จริง ๆ แล้วเราตั้งกฎต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่ออะไร ที่มาของการออกกฎต้องชัดเจน ครูจะได้อธิบายนักเรียนได้ และไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น คุณกุลธิดา กล่าว

ต้องเข้าใจก่อน ว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร?

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture) มีมุมมองว่า ระบบการศึกษาเหมือนโรงงานผิลตมนุษย์ ดังนั้นต้องมีเหตุผล ต้องมีคุณภาพ ต้องมีการวัดผลแบบสมเหตุสมผล ทั้งนี้ การศึกษาไม่ใช่การทดลองวิทยาศาสตร์ที่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเหมือนเดิม หากทำการทดลองแบบเดิม อีกประเด็นปัญหาของไทยคือการกระจายทรัพยากรที่มีจำกัดไปได้ช้า โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคล ดังนั้น ไทยต้องเร่งกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนมากที่สุด เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง

ขณะเดียวกันคือเรื่องของเงินเดือนครู ปัจจุบัน ไม่มีอะไรกำหนดได้ว่าน้อยหรือมาก มีแต่พอ หรือไม่พอใช้ ในสหรัฐอเมริกาแก้ปัญหาเงินเดือนครูได้ แต่ก็ประสบปัญหาพบว่าครูที่เก่งต้องการไปสอนในพื้นที่ที่มีปัญหาน้อย ไม่มีปัญหายาเสพติด ไม่มีปัญหาทางบ้าน เด็กสอนแล้วเก่งง่าย เชื่อฟัง ไม่ต้องแก้ปัญหาครอบครัวให้เด็ก ซึ่งถ้าแก้เรื่องรายได้แล้ว ไทยก็อาจจะต้องแก้เรื่องนี้ต่อเช่นกัน จึงต้องทำให้การศึกษาเท่าเทียมมากที่สุด

“หลักสูตรก็มีปัญหา เพราะหลักสูตรที่ไม่เปลี่ยนและอยู่นานมากจะเป็นกรรมของเด็ก ใครทำงานด้านนี้ต้องคิดให้มาก วิชาและหลักสูตร ควรเป็นทางเลือกให้ตรงกับความต้องการของเด็ก การที่เด็กเรียนปกติแล้วต้องไปเรียนพิเศษต่อ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ว่าไม่ใช่แค่หลักสูตร แต่เป็นโครงสร้างที่ผิดพลาดทำให้ทุกคนต้องวิ่งไปเรียนพิเศษ สิ่งสำคัญ คือการทำความเข้าใจต่างหากว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร?”

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture)

ข้ามมาดูเรื่องกฎระเบียบอย่างทรงผมกันบ้าง ดร.ณภัทร มองว่า เป็นเรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่เป็นปัญหามากในยุคนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน แต่ก็ไม่ควรออกกฎเกณฑ์ว่าต้องตัดทรงอะไร เน้นออกระเบียบเพื่อให้มีความสุภาพมากกว่าบังคับใช้ ซึ่งกฎสามารถเปลี่ยนได้ และไทยเราควรเปลี่ยนได้แล้ว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส