ระหว่างที่ทหารสหรัฐอเมริกายังไม่ทันถอนทหารออกจากอัฟนิสถานทั้งหมด มีข่าวรายงานทุกวันว่าทหารกลุ่มตาลีบันกำลังโจมตีอย่างหนักตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ทางตอนเหนือของประเทศ มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่นาน มีความเป็นได้สูงที่กลุ่มตาลีบันจะเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศนี้ได้ โดยในขณะนี้สามารถคุมได้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์

กองทัพสหรัฐอเมริกาและองค์การนาโต (NATO) เชื่อว่าตอนนี้กลุ่มตาลีบันยังไม่มีขีดความสามารถที่จะเข้าโจมตีและยึดครองกรุงคาบูลได้ เนื่องจากกองทัพรัฐบาลอัฟกานิสถานยังเข้มแข็งพอ เพราะได้รับการฝึกมาอย่างดีจากทั้งจากอเมริกาและยุโรป สหรัฐอเมริกาสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือการโจมตีทางอากาศหลังถอนทหารออกเสร็จสิ้น

นอกจากนั้น สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ กลุ่มตาลีบันยังมีศัตรูมากมายในประเทศที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ พยายามคอยหาโอกาสช่วงชิงพื้นที่และอำนาจในท้องถิ่นที่กองกำลังของรัฐบาลกลุ่มตาลีบันและกลุ่มตาลีบันเข้าไม่ถึง

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันให้รัฐบาลอัฟกานิสถานกับกลุ่มตาลีบันกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง เพราะเข้าใจดีว่า ในช่วง 20 ปีที่เข้าแทรกแซงการเมืองอัฟกานิสถานนั้น สหรัฐมีแต่เสีย เสียทั้งเงินและเสียทั้งชีวิตของทหารอเมริกันเกือบสามพันกว่าคน อันที่จริงสหรัฐอเมริกาต้องการถอนทหารออกมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา แล้ว

อัฟกานิสถานเป็นสมรภูมิของมหาอำนาจมาเป็นวลาช้านาน ทั้ง อังกฤษ โซเวียต และสหรัฐอเมริกาได้รับบทเรียนอันเจ็บแสบกับความพยายามที่จะเข้ามายึดครองอัฟกานิสถาน ที่ตั้งประเทศนี้มีคุณค่าทางภูมิรัฐศาสตร์มาก ๆ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียกลางกับเอเซียตะวันตกรวมทั้งตะวันออกทั้งหมด

โอกาสการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มตาลีบันจะสัมฤทธ์ผลนั้นอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคิดว่าการสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจานั้นมาจากสนามรบ จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มตาลีบันได้พยายามเข้ายึดพื้นที่ในประเทศให้มากที่สุด เพื่อปิดล้อมหัวเมืองใหญ่ ทั้ง ๆ ที่มีการประกาศยุติการสู้รบ

ฉะนั้นในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่มหาอำนาจอื่น ๆ จะเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานถึง 76 กิโลเมตร จีนต้องการเชื่อมภาคตะวันตกของจีนกับอัฟกานิสถานเพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงและทางออกมหาสมุทรอินเดียผ่านปากีสถาน ขณะนี้โครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของจีนในปากีสถานมีมากถึง 750 กว่าโครงการ

อินเดียยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานในปัจจุบันและกล่าวหาอยู่เสมอว่าปากีสถานคู่ปรับพยายามทำลายเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน เพื่อเปิดทางให้กลุ่มตาลีบันกลับเข้ามีอำนาจอีกครั้ง เพราะหน่วยข่าวกรองของปากีสถานมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับกลุ่มตาลีบันมาเป็นเวลานาน นอกจากนั้น ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันตามชายแดนทั้งสองประเทศมีถึง 3 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่ก็เป็นชาติพันธุ์ปัชตุน (Pashtune) เดียวกับในปากีสถาน

สามสี่เดือนข้างหน้าต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า สถานการณ์ล่าสุดในสนามรบกับสนามเจรจาจะออกมาในรูปแบบไหน มันจะชี้แนวทางให้เห็นว่าอนาคตของการเมืองอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร และมหาอำนาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องในลักษณะไหน

อ่านต่อ: ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย: เมื่อกลุ่มตาลีบัน ‘ยึดอัฟกานิสถาน’ ได้อีกครั้ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส