วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ได้ปล่อยภารกิจ SSLV Demo 1 ในการทดสอบเที่ยวบินของจรวด SSLV ซึ่งเป็นจรวดขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กเป็นครั้งแรกของอินเดียกับการปล่อย 2 ดาวเทียมขนาดเล็ก จากเมืองศรีหริโกตา ประเทศอินเดียไปสู่วงโคจรต่ำของโลก ซึ่งเริ่มต้นจรวดได้ถูกปล่อยออกจากแท่นตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และสามารถขนส่งดาวเทียมทั้ง 2 ดวงไปถึงอวกาศ แต่ได้วางดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรวงรี 356 x 76 กิโลเมตร แทนที่จะเป็นวงโคจรวงกลม 356 กิโลเมตร ทำให้ดาวเทียมไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

ภารกิจ SSLV Demo 1 เป็นการใช้จรวด SSLV ที่พัฒนาโดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย ซึ่งออกแบบมาสำหรับปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก ในภารกิจนี้ได้ขนส่งดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียม EOS-02 และ AzaadiSAT ไปสู่วงโคจรต่ำของโลกที่ความสูง 356 กิโลเมตร ถึงเส้นศูนย์สูตรที่มุมเอียงประมาณ 37 องศา

องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียเผยว่าความล้มเหลวของลอจิกหรือกระบวนการทำงานระบุถึงความผิดพลาดของเซนเซอร์และการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือได้เป็นเหตุให้เบี่ยงเบนไม่อยู่ในเส้นทางที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ดร. ศรีธรา ปานิเกอร์ โสมนาถ (Dr. S. Somanath) ประธานขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียเผยว่าทุกขั้นตอนได้ดำเนินการตามปกติ ดาวเทียมทั้งสองถูกวางเข้าสู่วงโคจร แต่น้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะทำให้ไม่เสถียร

ดาวเทียมทั้งสองถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือจุดต่ำสุดที่ 76 กิโลเมตร ซึ่งค่าในการโคจรของดาวเทียมที่ระดับนี้จะทำให้ดาวเทียมถูกดึงกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกและเกิดการเผาไหม้ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลความผิดพลาดในเที่ยวบินนี้ไปปรับใช้กับเที่ยวบินทดสอบครั้งต่อไป

ที่มา : hindustantimes และ spaceflightnow

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส