บทความนี้เหมาะสำหรับคนในวัย 40 50 ขึ้นไปจะอินเป็นพิเศษครับ ย้อนนึกถึงสมัยเด็กที่ยังเรียนอยู่โดยเฉพาะในวัยประถมศึกษา เราก็เฝ้ารอกันว่าอยากให้ถึงปิดเทอมใหญ่ จะได้ไม่ต้องตื่นแต่เช้ามาโรงเรียน แต่ว่าผ่านไปแต่ละเทอมนี่ช่างยาวนานเสียจริง ตัดภาพมาในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โลกโซเชียลเข้าถึงคนทุกรุ่นทุกวัย ได้เห็นโพสต์ฉลองหนังเรื่องนั้นครบ 25 ปีแล้ว อัลบั้มเพลงชุดนี้ออกมา 20 ปีแล้วนะ หรืออย่างล่าสุดนี่ เพลง Gangnam Style เพิ่งมีอายุครบ 10 ปี ไปหมาด ๆ ได้เห็นแล้วก็ต้องร้อง ห๊ะ! ทำไมช่วงเวลา 10 ปีนี่มันช่างผ่านไปไวเหลือเกิน เหมือนว่าฉันเพิ่งฟัง Gangnam Style มาเมื่อไม่กี่ปีนี้เองนะ แล้วก็ต้องน้บนิ้ว แล้วตัวฉันจะเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้อีกกี่ปีกันเนี่ย สงสัยไหมล่ะครับ ทำไมพอเราเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังในชีวิตนี่ เวลามันช่างผ่านไปรวดเร็วนัก

ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ปุถุชนทั่วโลก ต่างรู้สึกเหมือน ๆ กัน จึงเป็นเหตุให้นักวิทยาศาสตร์นำเรื่องนี้ไปค้นคว้ากันอย่างจริงจัง ขั้นแรกก็มีคำอธิบายแบบพื้นฐานมาบอกกล่าวกันแบบนี้ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำ ในช่วงเวลา 10 ปีแรกที่เราถือกำเนิดมานั้น เวลาที่ผ่านไปแต่ละปีก็ถือเป็นสัดส่วนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตเราในขณะนั้น แล้วก็เป็นส้ดส่วน 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เราสามารถจำความได้ แต่เมื่อเราพ้นวัย 50 ปีมาแล้ว เวลาแต่ละปีก็ถือเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของช่วงเวลาชีวิตทั้งหมดที่เราทรงจำได้ ย้อนไปนึกถึงช่วงเวลาที่เคยสนุกสนานในโรงเรียน ช่วงเวลาปิดเทอมหน้าร้อน แล้วช่างรู้สึกว่าเป็นอดีตที่ยาวไกลนัก แต่ในอีกทางหนึ่ง ในทุกวันนี้ แต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน ช่างผ่านไปรวดเร็วนัก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นประสบการณ์ในวัยผู้ใหญ่ล้วน ๆ

ความทรงจำในวัยเด็ก มักเป็นภาพที่ชัดเจน

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจของเด็กนั้นจะเร็วกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงระบบคลื่นไฟฟ้าในสมองก็ทำงานเร็วตามไปด้วย พอเราสูงวัยขึ้นการทำงานของสมองก็จะช้าลงไปตามวัย สมองของเราทุกคนต่างก็ทำหน้าที่เสมือน “เครื่องนับจังหวะ” (metronome) ตามธรรมชาติอยู่ภายในซึ่งทำหน้าที่รับรู้ถึงกาลเวลาที่ผ่านเลยไป ลองทำการทดลองให้เห็นภาพว่าเด็กกับผู้ใหญ่รับรู้ถึงเวลาที่ผ่านไปช้าเร็วต่างกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ได้ลองเอาเด็กน้อยคนหนึ่งมาลองให้นั่งนิ่ง ๆ หลับตาแล้วให้ลองกะเวลาว่าถ้าคิดว่าถึง 1 นาทีแล้วหรือยัง เด็กจะลืมตามาบอกว่าถึง 1 นาทีแล้ว ทั้งทีผ่านไปแค่เพียง 40 วินาทีเท่านั้นเอง เรามาลองทำแบบเดียวกันกับผู้ใหญ่ ให้หลับตากะเวลา 1 นาที ผู้ใหญ่หลายคนจะบอกว่าถึง 1 นาทีแล้ว เมื่อเวลาจริงผ่านไปที่ 60 – 70 วินาที การทดลองนี้ยืนยันให้เห็นว่า สมองของเด็กนั้นทำงานเร็วกว่าผู้ใหญ่ นั่นทำให้บรรดาเด็กมีสติจดจ่ออยู่กับแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไปมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการทำให้พวกเขารู้สึกว่าเวลาผ่านไปค่อนข้างช้า

ศาสตราจารย์เอเดรียน เบจาน (Adrian Bejan)

ศาสตราจารย์เอเดรียน เบจาน (Adrian Bejan) เป็นผู้เชี่ยวชาญอีกคนที่ศึกษาในเรื่องนี้ เขาอธิบายทฤษฎีเรื่องนี้โดยอิงหลักการทางฟิสิกส์ ทฤษฎีของเบจานนั้นมุ่งเน้นไปที่ “การมองเห็น” เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ จำนวนภาพในฟิล์มภาพยนตร์ ถ้าใน 1 วินาทีมีจำนวนภาพมากขึ้นเท่าไหร่ ภาพก็จะเคลื่อนไหวช้าลง แต่ทางตรงกันข้ามถ้าจำนวนภาพต่อ 1 วินาทีน้อยลง ภาพก็จะเคลื่อนไหวเร็วขึ้น เหมือนหนังขาวดำสมัยแรกที่จำนวนภาพต่อวินาทีน้อย พอนำมาฉายบนจอภาพก็จะเคลื่อนไหวกันเร็วกว่าความเป็นจริง ตรงจุดนี้ที่เบจานนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของระบบประสาทในสมองที่ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำ เมื่อเราอายุมากขึ้นระบบก็ทำงานช้าลง ถ้าเปรียบเทียบเป็นภาพก็คือ บันทึความทรงจำใหม่ ๆ ลงสมองเป็นจำนวนภาพต่อวินาทีได้น้อยลง พอย้อนนึกก็เหมือนย้อนไปเพลย์ภาพแล้วรู้สึกได้ว่าวันเวลาผ่านไปรวดเร็ว ในขณะที่เด็ก ๆ มีประสาทการรับรู้ที่ดี บันทึกความทรงจำที่ผ่านไปแต่ละวินาทีเป็นภาพจำนวนมาก เหมือนกับกล้องสโลว์โมชันที่บันทึกได้หลายภาพต่อวินาที พอเอาภาพที่บันทึกไว้กลับมากด “Play” ก็จะปรากฎเป็นภาพสโลว์โมชัน หรือภาพที่เคลื่อนไหวช้ากว่าความเป็นจริง พอย้อนนึกถึงแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะเห็นเป็นภาพที่ชัดเจนละเอียดกว่าและเป็นเหตุผลให้แต่ละคนในวัยเด็กรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างช้า ๆ

เบจานยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเราอายุมากขึ้นเครือข่ายเส้นใยระบบประสาทในสมองก็ขยายขนาดขึ้นตามวัย นั่นแปลว่าการส่งต่อประสาทการรับรู้ในสมองเราต้องเดินทางไกลขึ้นและมีเส้นทางที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้กระบวนการรับรู้ต้องช้าลงไปตามวัย

“คนเราต่างรู้สึกประหลาดใจกับตัวเองว่าทำไมถึงยังจำเหตุการณ์ในวัยเด็กได้แม่นยำ มันไม่ใช่เพราะเหตุการณ์นั้นมันมีความหมายหรือถูกจดจำฝังลึกแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะสมองเราในวัยนั้นมันทำงานบันทึกความทรงจำได้อย่างรวดเร็ว”

การที่รู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปเร็วขึ้นตามวัยที่มากขึ้นนั้น ยังเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ที่เกิดจากการทำงานของสมอง ที่ยังคงลึกลับและอาจจะไม่สามารถหยั่งรู้ได้โดยแท้ การศึกษาในเรื่องนี้ยังคงมีต่อไป โดยเฉพาะทฤษฎีในเรื่อง “ภาวะจิต” ที่จำเป็นอย่างมากในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้

ที่มา