นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาปลาม้าลาย (Zebrafish) และเซลล์ของมนุษย์ โดยล่าสุดมีการค้นพบว่า ‘ออกซิโตซิน (Oxytocin)’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก (Love hormone)’ อาจช่วยเยียวยาหัวใจที่เสียหายจากอาการหัวใจวายหรืออาการล้มเหลวได้

ทีมนักวิจัยระบุว่า ฮอร์โมนออกซิโตซินที่สมองของเราเป็นคนสร้างอาจช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อหัวใจหลังได้รับการบาดเจ็บ และในทางทฤษฎีแล้วในอนาคตพวกเขาอาจคิดค้นวิธีการเพื่อใช้ในการรักษาหัวใจของผู้ป่วยโรคหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวได้

ออกซิโตซินมีหน้าที่ในการทำให้เราเกิดความผูกพัน ความอยากอยู่ร่วมกับคนรัก และความเชื่อมั่นระหว่างบุคคล ซึ่งระดับฮอร์โมนออกซิโตซินก็มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้คนกอดกัน มีเซ็กส์ หรือถึงจุดสุดยอดนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้นออกซิโตซินยังมีหน้าอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น กระตุ้นการหดตัวระหว่างการคลอดบุตร ส่งเสริมการหลั่งน้ำนม หรือช่วยปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือดจากการบาดเจ็บเมื่อความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น

การศึกษาที่เผยแพร่ในวันที่ 30 กันยายนของนิตยสาร Frontier in Cell and Developmental Biology ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับประโยชน์อีกข้อหนึ่งของออกซิโตซิน คือการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูกล้ามเนื้อหัวใจของปลาม้าลาย (Zebrafish) รวมถึงอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อหัวใจมนุษย์หากได้รับฮอร์โมนดังกล่าวในเวลาและปริมาณที่ถูกต้อง

ในรายงานระบุว่า หัวใจของมนุษย์มีความสามารถในการฟื้นฟูหรือเปลี่ยนถ่ายเซลล์ที่ตายแล้วอย่างจำกัด

ทั้งนี้งานวิจัยหลายแห่งก็ระบุว่า หลังจากที่หัวใจได้รับบาดเจ็บ (เช่น อาการหัวใจวาย) เซลล์ที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจชั้นนอก (epicardium) จะเคลื่อนที่ไปสู่หัวใจชั้นอื่น ๆ และเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์หัวใจประเภทอื่น ๆ ได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษากระบวนการดังกล่าวในสัตว์หลายประเภท รวมถึงมีหลักฐานที่แนะนำว่ากระบวนนี้ก็เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ด้วย เพียงแต่อาจไม่เกิดขึ้นมากพอที่จะทำให้เกิดการฟื้นฟูเนื้อเยื่อหัวใจใหม่

อย่างไรก็ตามการศึกษาล่าสุดอาจมีประโยชน์ในการกระตุ้นการเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว เพราะนักวิจัยค้นพบว่า การให้ออกซิโตซินกับเซลล์มนุษย์ที่ทดลองในจานทดลอง (lab dish) ทำให้เกิดการกระตุ้นการฟื้นฟูเซลล์ขึ้น ในขณะที่ฮอร์โมนอื่น ๆ อีก 14 ชนิดที่สมองสร้างขึ้นกลับไม่สามารถกระตุ้นกระบวนการฟื้นฟูเซลล์ได้

การค้นพบครั้งนี้อาจนำไปสู่บทบาทสำคัญของการซ่อมแซมหัวใจหลังได้รับบาดเจ็บ และการเพิ่มประสิทธิภาพให้วิธีการนี้ก็อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นวิธีรักษาผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายหรือลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจล้มเหลวได้

ที่มา: LiveScience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส