วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน ร็อกเก็ตแล็บ (Rocket Lab) ผู้ผลิตระบบการบินอวกาศและให้บริการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กได้ทำภารกิจ “Catch Me If You Can” ในการปล่อยจรวดอิเล็กตรอนครั้งที่ 32 และเป็นการกู้คืนบูสเตอร์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งที่ 2 ของปี 2022 แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถกู้คืนบูสเตอร์เอาไว้ได้และบูสเตอร์ก็ได้ตกลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิก

ภารกิจ “Catch Me If You Can” เป็นการปล่อยดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ MATS ของบริษัท OHB ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบอวกาศให้กับสำนักงานอวกาศแห่งชาติสวีเดน (SNSA) ซึ่งเดิมมีกำหนดใช้บริการโดยสารเที่ยวของรัสเซีย แต่สุดท้ายได้เปลี่ยนมาใช้จรวดอิเล็กตรอนของร็อกเก็ตแล็บ

ภารกิจเริ่มต้นขึ้นด้วยการปล่อยจรวดอิเล็กตรอนขนส่งดาวเทียม MATS ออกจาก Pad B ที่ศูนย์ Launch Complex 1 บนคาบสมุทรมาเฮีย ประเทศนิวซีแลนด์ ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า จากนั้นผ่านไป 2 นาทีครึ่ง ที่ความสูงประมาณ 80 กิโลเมตร จรวดท่อนที่ 2 ได้แยกตัวออกจากบูสเตอร์ ซึ่งจรวดท่อนที่ 2 จะเดินทางนำดาวเทียมไปสู่วงโคจร

หลังจากบูสเตอร์ถูกแยกออกมาก็ได้ตกลงมาสู่โลกและกางร่มชูชีพสำหรับชะลอความเร็ว ในขณะนั้นเฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-92 ที่ได้รับการดัดแปลงก็รออยู่ใกล้ ๆ และต่อมาร็อกเก็ตแล็บประกาศว่าบูสเตอร์ได้ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกแทนที่จะถูกเฮลิคอปเตอร์บินเข้าไปใกล้แล้วใช้ตะขอเกี่ยวเข้ากับสายร่มชูชีพเหมือนกับครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสรุปว่าภารกิจกู้คืนบูสเตอร์กลางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ครั้งที่ 2 นั้นไม่สำเร็จ

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร็อกเก็ตแล็บได้ทำภารกิจ “There And Back Again” ในการส่งดาวเทียม 34 ดวงไปสู่อวกาศพร้อมด้วยการกู้คืนบูสเตอร์กลางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถเข้าไปจับบูสเตอร์ที่กำลังตกลงมาได้สำเร็จ แต่ทั้งนี้นักบินไม่พอใจในวิธีการแขวนบูสเตอร์ไว้ใต้เฮลิคอปเตอร์ จึงตัดสินใจปล่อยให้ตกลงในมหาสมุทร จากนั้นทีมงานก็ได้เข้าไปเก็บกู้นำขึ้นเรือและส่งกลับไปยังสำนักงานใหญ่

ที่มา : cnet และ rocketlabusa

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส