มนุษยชาติอาจต้องพึ่งพาจุลินทรีย์ตัวน้อย ๆ มาช่วยโลกของเรา ล่าสุดนักวิจัยสมาพันธรัฐสวิส หรือสวิตเซอร์แลนด์ค้นพบจุลินทรีย์ย่อยสลายพลาสติกใต้เทือกเขาแอลป์ และอาร์กติกสามารถย่อยพลาสติกได้ในอุณหภูมิต่ำ 59 องศาฟาเรนไฮต์ (15 องศาเซลเซียส)

โจเอล รูธี (Joel Rüthi) นักจุลชีววิทยาแห่งสถาบันวิจัยป่าไม้ หิมะ และภูมิทัศน์แห่งสหพันธรัฐสวิส และทีมวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างแบคทีเรีย และเชื้อราที่เติบโตบนพลาสติกในกรีนแลนด์ หมู่เกาะสวาลบาร์ด ประเทศนอร์เวย์ และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายพลาสติกได้ในอุณหภูมิต่ำที่ 59 องศาฟาเรนไฮต์ (15 องศาเซลเซียส)

ซึ่งงานวิจัยจุลินทรีย์ย่อยสลายพลาสติกเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่จุลินทรีย์ในงานวิจัยเหล่านี้ล้วนต้องใช้อุณหภูมิมากกว่า 80 องศาฟาเรนไฮต์ (26.6667 องศาเซลเซียส) แต่งานวิจัยล่าสุดของรูธีพบว่าจุลินทรีย์ชนิดดังกล่าวสามารถย่อยสลายพลาสติกได้ในสภาวะที่เย็นจัดเพราะจุลินทรีย์เหล่านี้เกิดในสภาพแวดล้อมที่มีความเย็นอยู่แล้ว และรูธีก็มีความเห็นว่าเราสามารถใช้ประโยชน์มากมายจากจุลินทรีย์ชนิดพิเศษเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกของโลกได้

หลักการทำงานของจุลินทรีย์ เชื้อรา แบคทีเรียในการย่อยสลายพลาสติกคือ ในตัวมันเองมีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายโพลิเมอร์พลาสติกแยกโมโนเมอร์ที่เป็นส่วนประกอบออกมา และนำกลับไปเป็นสารตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ อีกทั้งจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, น้ำ และสารอาหารออกมาที่คล้ายกับปุ๋ยหมักในธรรมชาติ

แต่ข้อจำกัดของจุลินทรีย์ย่อยสลายพลาสติกในปัจจุบันคือ เอนไซม์จุลินทรีย์ใช้เวลาย่อยพลาสติกมากกว่าสารเคมีในอุตสาหกรรม และใช้อุณหภูมิที่สูง

จากผลทดสอบงานวิจัยรูธีแบคทีเรีย 19 สายพันธุ์ และเชื้อรา 15 สายพันธุ์พบว่ายังไม่สามารถย่อยพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) และสามารถย่อยพลาสติกโพลิยูรีเทน (PUR), พอลิบิวทิลีนอะดิเพท-โค-เทเรฟทาเลท (PBAT) และพอลีแลคติคแอซิด (PLA) ได้

ในตอนนี้ทีมวิจัยของรูธีอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพิ่มเติมจุลินทรีย์ย่อยสลายพลาสติก และพยายามสกัดเอนไซม์โดยตรงจากดินที่ไม่ต้องไปแยกสารจากแบคทีเรีย และเชื้อราในห้องแล็บ พร้อมกับยังให้ความหวังว่างานวิจัยของทีมสามารถนำไปต่อยอดในกระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อย่อยสลายพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : Inverse

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส