หากจะกล่าวถึงต้นเหตุปัญหาของหน้าร้าน ร้านค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าที่มียอดขายลดลงเรื่อย ๆ เชื่อว่าทุกคนคงพูดถึง “ร้านค้าออนไลน์” หรือ e-commerce ที่เข้ามามีบทบาท ทำให้ยอดขายของร้านค้าเหล่านี้ลดลงเรื่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า “ร้านค้าออนไลน์” เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ยอดขายลดลง แต่ยังมีปัจจัยที่สำคัญมากกว่านี้ด้วย

New York Times รายงานว่า ร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาปิดตัวลงไปกว่า 9,000 แห่งในปี 2019 สูงยิ่งกว่าปี 2018 และแค่เริ่มต้นปีนี้ ก็มีห้างปิดตัวลงกว่า 1,200 แห่ง รวมถึงห้างเก่าแก่อย่าง 125 Macy ทำให้มีพนักงานต้องตกงานราว 2,000 คนเลยทีเดียว โดยการเข้ามาของ e-commerce ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชอปปิ้งของผู้บริโภคไปอย่างถาวร โดยผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Walmart หรือ Target ได้เปลี่ยนมาเน้นขายสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ห้าง 125 Macy ก่อตั้งมาเกือบ 200 ปี

ห้าง 125 Macy ก่อตั้งมาเกือบ 200 ปี

แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของ e-commerce ทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยผ่านหน้าร้านค้าน้อยลงก็จริง แต่ไม่ได้มากเท่าที่เราทุกคนคิด จากข้อมูลเผยว่ายอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส เป็น 155,000 ล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก แต่การชอปปิ้งออนไลน์นั้นคิดเป็นตัวเลขเพียง 11% ของการค้าปลีกทั้งหมดเท่านั้นเอง!

แล้ว อะไรทำให้คนซื้อของน้อยลงล่ะ?

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า จริง ๆ แล้วมีสองปัจจัยน่าสนใจที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายใช้สอยน้อยลงกว่าเดิม ประกอบไปด้วย

1. รายได้น้อยลง

ความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่มากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนคนชั้นกลางซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีเงินในมือน้อยลง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัย The Pew Research Center รายงานว่า ตั้งแต่ปี 1970, รายได้ของชนชั้นกลางลดลงไปถึง 40% โดยกลุ่มประชากรที่รวยอยู่แล้ว ก็รวยมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งพฤติกรรมของคนรวยคือ “อดออม ไม่ใช้เงิน” ยิ่งทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ชนชั้นกลางรายได้ลดลง คนรวยรายได้เพิ่มขึ้น

ชนชั้นกลางรายได้ลดลง คนรวยรายได้เพิ่มขึ้น

2. ผู้บริโภคเลือกเสียเงินกับส่วนอื่นมากขึ้น

ในช่วงทุกทศวรรษที่ผ่านมา ชาวอเมริกาใช้จ่ายไปกับการบริการต่าง ๆ ที่มากขึ้น เช่น โรงพยาบาล การศึกษา ความบันเทิง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในร้านค้าปลีกทั่วไป ซึ่งรัฐบาลรายงานว่า ในปี 1960 มีการใช้จ่ายไปกับบริการต่าง ๆ ราว 5% แต่ปัจจุบันนั้นเพิ่มขึ้นถึง 18%

เมื่อดูจากแนวโน้มแล้ว ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้รัฐบาลยังเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพิ่มเติม พบว่า ในปี 1920 ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในหมวดอาหาร (นอกบ้าน) 38% และค่าเสื้อผ้า 17% รวมทั้งสองคิดเป็น 55% ซึ่งค้าใช้จ่ายกว่า 55% นี้ตกไปอยู่ในร้านค้าปลีก ในขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคใช้จ่ายค่าอาหารนอกบ้านอยู่ที่ 10% ในขณะที่ค่าเสื้อผ้าต่าง ๆ เหลือเพียง 2.4% รวมทั้งหมดอยู่ที่ 12.4% น้อยลงกว่าเดิมถึง 42.6% เลยทีเดียว

จากข้อมูลข้างต้นก็พอจะเห็นภาพกันชัดเจนแล้วว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ก็จะยิ่งรับมือกับปัญหานี้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ยังอยู่ได้

อ้างอิง The New York Times

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส