Mars Society เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครจากทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการสำรวจและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคาร ซึ่งได้จัดการประชุมประจำปี MARS SOCIETY ครั้งที่ 23 ขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 18 ตุลาคม และวันศุกร์ที่ 16 เวลา 15.OO น. PT. (5.00 น. วันเสาร์ในประเทศไทย) จะมีคิวของ Elon Musk ซีอีโอของ SpaceX ผู้ผลิตจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่และพัฒนายานอวกาศ Starship สำหรับบินไปดวงจันทร์และดาวอังคารมาแสดงวิสัยทัศน์ถึงแผนที่จะไปนำมนุษย์ไปตะลุยดาวอังคารให้ได้ชมกันผ่านออนไลน์

Elon Musk ซีอีโอของ SpaceX บริษัทผลิตระบบขนส่งอวกาศที่มีเป้าหมายสร้างระบบขนส่งอวกาศต้นทุนต่ำเพื่อไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร เมื่อปี 2016 เขาได้เผยแผนการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารว่าวันหนึ่งหากโลกแตกเราอาจจะได้ไปอยู่ที่นั่น โดยเขาจะสร้างระบบขนส่งอวกาศและสถานีเติมเชื้อเพลิงอวกาศขึ้นมา โดยปี 2022 จะส่งหุ่นยนต์ขึ้นไปบุกเบิกก่อนแล้วปี 2024 จะส่งมนุษย์ตามขึ้นไป

Musk มีแผนชัดเจนที่จะสร้างรายได้มาสนับสนุนโดยการรับจ้างขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศไปยัง ISS ให้กับ NASA การรับจ้างขนส่งดาวเทียมไปสู่วงโคจร และการปล่อยดาวเทียมบรอดแบนด์ พร้อมให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วสหรัฐฯ และขยายไปทั่วโลก

ในการประชุมประจำปี MARS SOCIETY ครั้งที่ 23 ผ่านออนไลน์ Musk นำเสนอว่ายาน Starship รุ่นต่อไปจะพร้อมใช้งานในปี 2023 จากนั้นเมื่อโลกและดาวอังคารโคจรมาใกล้กันในปี 2024 ก็จะปล่อยยาน Starship ออกไปพิชิตดาวอังคาร

Musk เล่าว่าการออกแบบยาน Starship สำหรับขนส่งคนหลายสิบคนไปดาวอังคารนั้นต้องคิดสร้างนวัตกรรมและกว่าจะส่งคนไปดาวอังคารได้อาจต้องสูญเสียยานไปหลายลำ

ขณะนี้ต้นแบบยาน Starship ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่บินในระยะสั้น (150 ม.) ต่อจากนี้ในปีหน้าจะสามารถบินไปสู่วงโคจรได้ แล้วปี 2022 จะสามารถเติมเชื้อเพลิงที่วงโคจรและเริ่มออกเดินทางไปสู่ดวงจันทร์

การไปอยู่บนดาวอังคารจะเริ่มต้นจากการส่งหุ่นยนต์ที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ในระยะไกลจากโลกขึ้นไปบุกเบิกก่อน โดยการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิง (สำหรับใช้กับยานและจรวด) และมนุษย์ที่จะตามขึ้นไปอยู่บนดาวอังคารกลุ่มแรกก็ต้องเป็นคนรวยที่มีเงินจ่ายค่าตั๋วเพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนในการสร้างเมืองนั่นเอง

Musk ยังออกแบบการเดินทางไปสู่อวกาศที่มากไปกว่าดาวอังคาร โดยจะใช้ Starship และยานอื่น ๆ ไปท่องเที่ยวดาวศุกร์ ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสฯ แถบไคเปอร์ที่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปและส่วนที่อยู่ไกลสุดของระบบสุริยะ

หากใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ SpaceX ก็จะเชื่อว่าภารกิจไปดาวอังคารนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง เพราะตลอดในปีนี้ SpaceX มีความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั้งภารกิจ Crew Dragon Demo-2 ส่ง 2 มนุษย์อวกาศไปกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ การปล่อยดาวเทียม Starlink และมีการทดสอบต้นแบบ Starship รุดหน้าอย่างต่อเนื่อง ขยันอย่างนี้ความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกล

ที่มา : cnet

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส