เมื่อ 20 ปีกว่าก่อน คงมีหลายคนเคยตามลุ้นพระเอกสุดเท่อย่าง ‘นีโอ’ ให้ก่อกบฏเอาชนะตัวร้ายในโลกเสมือน เพื่อช่วยปลดแอกผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง ในภาพยนตร์สุดโด่งดัง ‘The Matrix’ แม้เนื้อหาของภาพยนตร์ค่อนข้างแปลกแหวกแนวในยุคนั้น แต่แนวคิด ‘โลกเสมือน’ หรือเนื้อเรื่องแนว ‘ผจญภัยต่างโลก’ ก็เป็นที่พูดถึงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความนิยม แต่มันจะเป็นอย่างไรล่ะ หากมีนักวิทยาศาสตร์อ้างว่า ‘โลกเสมือน’ ที่ว่านั่น อาจไม่ใช่แค่ความคิดเพ้อฝัน แต่ ‘โลกของเรา’ เป็นเช่นนั้นจริง ๆ  

เป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก เมื่อสำนักข่าว New York Post (16 ต.ค.63) ได้รายงานว่า นักดาราศาสตร์ เดวิด คิปปิง (David Kipping) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ได้นำเสนอข้อสรุปจากผลงานวิจัยของ นิค บอสตรอม (Nick Bostrom) นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ว่ามีความเป็นไปได้สูงถึง 50 เปอร์เซนต์ 

งานวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Are We Living in a Computer Simulation?’ หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘พวกเราอาศัยอยู่ในโลกเสมือน (ในคอมพิวเตอร์) หรือไม่?’ แค่ชื่อก็ชวนให้อยากรู้แล้วว่า บทความนี้มีแนวคิดอย่างไร เพื่อความเข้าใจเราจึงตามเข้าไปอ่านบทคัดย่อ (Abstract) กันสักหน่อย

บอสตรอมได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจไว้ 3 หัวข้อด้วยกัน หนึ่งคือ เผ่าพันธุ์มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์สูงมาก ก่อนที่จะดำเนินไปถึงขั้น ‘Posthuman‘ หรือ ‘ภาวะหลังมนุษย์’ (เป็นแนวคิดที่มีต้นกำเนิดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ อนาคตวิทยา ศิลปะร่วมสมัย และปรัชญา หมายถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่ยังคงมีสถานะอยู่ แต่เป็นสถานะที่นอกเหนือจากการเป็นมนุษย์) 

หัวข้อที่ 2 คือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่อารยธรรมหลังมนุษย์ใด ๆ จะจำลองประวัติศาสตร์วิวัฒนาการที่สำคัญจำนวนมาก (หรือรูปแบบต่างๆของมัน) เอาไว้ได้ และข้อสุดท้าย เราน่าจะอยู่ในการจำลองของคอมพิวเตอร์ (A computer simulation) เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้ความเชื่อที่ว่า มีโอกาสที่วันหนึ่งเราจะกลายเป็น posthuman ที่จำลองบรรพบุรุษเสมือนนั้น เป็นไปได้

ฟังดูแล้วอาจจะงงๆ แต่ใจความของแนวคิดนี้ก็คือบอสตรอมเชื่อว่า โดยปกติแล้วอารยธรรมมนุษย์จะสูญพันธุ์ไปก่อนที่จะพัฒนาไปถึงจุดที่สร้าง ‘สภาวะความเป็นจริงของตน’ หรือ posthuman เช่นนั้นได้ หรืออาจจะยังไม่ทันสนใจที่จะสร้างขึ้นมาเลยเสียด้วยซ้ำก็สูญพันธ์ุกันไปหมดแล้ว แต่การที่เราคิดหรือสนใจจะสร้างมันขึ้นมา หรือถ้าสร้างมันจนสำเร็จขึ้นมา นั่นก็หมายความว่าเราน่าจะอยู่ในโลกเสมือนนั่นเอง 

คิปปิงเรียกแนวคิดทั้งสามนี้ว่า ‘trilemma’ ของบอสตรอม เขาได้พิจารณาแนวคิดนี้อย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำมาทำให้มันกลายเป็น ‘dilemma’ (นำสภาวะที่ยุ่งยาก 3 อย่างมาทำให้เหลือ 2) และจากนั้นก็ยุบรวมให้กลายเป็นหนึ่งเดียว เมื่อได้ผลลัพธ์ เขาก็ตั้งสมมติฐานว่าเราอยู่ในสถานการณ์จำลองหรือไม่ และโอกาสที่ได้ก็คือ 50/50

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คิดว่า ถ้ามนุษย์เคยสร้างเทคโนโลยีการจำลองขั้นสูงมาก่อน โอกาสที่เราจะอยู่ในสถานการณ์จำลองก็จะยิ่งสูงขึ้น

คิปปิงบอกกับ Scientific American ว่า “ตามการคำนวณนี้ ในวันที่เราคิดค้นเทคโนโลยีได้นั้น มันจะเพิ่มโอกาส 50-50 ที่ว่า ‘เราเป็นจริง’ ไปสู่ ‘เราไม่เป็นจริง’ ให้สูงกว่าเดิม”

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ เห็นว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมจะสามารถระบุ ‘ความผิดพลาดในเมทริกซ์’ และยืนยันทฤษฎีได้ภายในทศวรรษนี้

อย่างไรก็ตาม คิปปิงยังคงมีข้อสงสัยและกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้คนพยายามพิสูจน์ว่า เราเป็นเพียงตัวละครในโลกจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ เขากล่าวว่า “ข้อขัดแย้งนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เราอาศัยอยู่ในโลกเสมือนจริงหรือไม่” และทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ถ้ามันไม่อาจพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ คุณจะอ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์จริง ๆ ได้อย่างไร”

แม้จะยังสรุปไม่ได้ชัดเจนนัก แต่ข้อสรุปเช่นนี้ก็แสดงถึงความเป็นไปได้ที่เราจะอยู่ใน ‘โลกเสมือน’ ชวนให้คิดถึงแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ในหลักไตรลักษณ์ว่าด้วยเรื่อง ‘อนัตตา’ (ไม่ใช่ตัวตน) อย่างไรชอบกลอยู่เหมือนกันแหะ

อ้างอิง

NewYorkPost

Are We Living in a Computer Simulation?

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส