แม้ปัจจุบันดาวเสาร์จะครองแชมป์มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ ด้วยจำนวน 82 ดวง แต่อดีตแชมป์อย่างดาวพฤหัสบดีที่มีดวงจันทร์บริวาร 79 ดวง ก็ใช่ว่าจะหมดเรื่องตื่นเต้น เพราะถึงจะรู้ว่ามีอยู่ แต่ก็มีบางดวงที่หายไปหาไม่เจอ และล่าสุดก็เพิ่งพบดาวจันทร์บริวารที่หายไปเพิ่ม ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเพียง ‘ดวงเดียว’ จาก 79 ดวงเท่านั้นที่ยังหาไม่เจอ!!
และที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคนที่หาเจอล่าสุดนี้เป็นเพียงนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าแค่มีความสนใจตามล่า คุณเองก็ตามหาดวงจันทร์ที่หายไปได้!
นักดาราศาสตร์สมัครเล่นผู้นี้ขอใช้ชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า เคนเนต (Kenneth) โดยก่อนหน้านี้มีดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่ยังหายไปอยู่ 5 ดวง และเขาเป็นผู้ค้นพบไปถึง 4 ดวงด้วยกัน โดยข้อมูลที่เขาใช้ก็ไม่ใช่สิ่งที่หายากเลย เพราะเป็นข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ที่ใคร ๆ ก็โหลดมาตามหาดวงจันทร์ได้เช่นกัน
แต่เพราะอะไรมันถึงหายไป ทำไมเรารู้ว่ามีอยู่แต่หาไม่เจอ เรามาทำความรู้จักดวงจันทร์เจ้าปัญหากันสักหน่อย
เหตุที่ทำให้ดวงจันทร์หายไป
แรกเริ่มเดิมที ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีที่หายไปนี้ คือเหล่าดวงจันทร์ที่อยู่ในกรุ๊ปดวงจันทร์ดวงเล็ก 23 ดวง โดยขนาดที่เรียกว่าเล็กนี้คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 – 4 กิโลเมตร ตามที่ สกอตต์ เชปพาร์ด (Scott Sheppard) และทีมงาน จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institution for Science) รายงานไว้เมื่อปี 2003
ดวงจันทร์หลายดวงที่หายไปนี้ ต่อมาก็ถูกค้นพบขึ้นเรื่อย ๆ จนเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เหลือดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีที่ยังคงหายไปอยู่เพียง 5 ดวงเท่านั้น สาเหตุที่มันหายไปก็เพราะขนาดที่เล็กมาก มองเห็นได้เพียงเลือนรางจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ แถมที่ว่าเห็นเพียงเลือนราง ยังเห็นได้แค่ปีละเดือน เมื่อดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้โลกเท่านั้นด้วย และเพราะการสังเกตการณ์ก่อนหน้าเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้วงโคจรของมันไม่เป็นที่แน่ชัด ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ตำแหน่งขึ้นไปอีก
การตามล่าดวงจันทร์ที่หายไป
เพราะได้แรงบันดาลใจจากเส้นทางการเคลื่อนของดาวบริวารสองดวงที่ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์มืออาชีพในเดือนพฤศจิกายน คือ S/2003 J 16 in MPEC 2020 V10 และ S/2003 J 9 in MPEC 2020 V19 เคนเนตจึงคิดลองตามหาดวงจันทร์ที่หายไปดูบ้าง


ในภาพดาวพฤหัสบดีอยู่ทางด้านซ้ายบน ซึ่งภาพนี้เห็นดวงจันทร์ Valetudo ได้ชัดเด่นออกมาจากภาพดวงดาวในฉากหลัง
Credit: carnegiescience.edu
เพราะนักดาราศาสตร์พบดวงจันทร์จากภาพที่บันทึกไว้ในช่วงปี 2010 จนถึง 2018 เคนเนตจึงเริ่มต้นด้วยภาพเช่นกัน เขาลองค้นข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลทางดาราศาสตร์ของแคนาดาที่ชื่อว่า คลังภาพวัตถุในระบบสุริยะ (Solar System Object Image Search: SSOIS) และพบว่าภาพของดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีที่ดีที่สุดมาจากกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร


แค่เพียงค้นหาชื่อวัตถุ ระบบก็ค้นหาภาพไฟล์ RAW ที่น่าจะมีวัตถุนั้นอยู่ขึ้นมา จากนั้น ก็ค้นหาในภาพที่ครอบคลุมพื้นที่ที่ดวงจันทร์ควรจะอยู่ โดยอิงกับข้อมูลคาบการโคจร และขยายฐานการหาในพื้นที่นั้น ด้วยการเลือกดูช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น ทำให้เขาได้ภาพของเจ้าดวงจันทร์เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยแต่ละภาพมีขนาดประมาณ 300 เมกะไบต์ และนั่นทำให้เขาเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการดาวน์โหลด แต่ไม่ใช่ว่าได้ภาพมาแล้วหา และจะจบแค่นั้น
เคนเนตยังนำภาพที่พบมาเรียงต่อกันในโปรแกรม World Coordinate System ที่ทำให้เขาจับคู่กับดวงดาวที่อ้างอิงหรือคาดว่าหายไปได้ ใช้ Aladin Sky Atlas ช่วยวัดตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุ และใช้ Find_Orb software เพื่อคำนวณวงโคจรของมันรอบดาวพฤหัสบดี


แผนภาพแสดงเส้นทางการโคจรของดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีทั้ง 79 ดวง
แบ่งตามประเภทหรือกลุ่มของดวงจันทร์ตามลักษณะการโคจรใกล้-ไกล ส่วนสีเขียวนั่นคือวงโคจรของดวงจันทร์ Valetudo ที่พบในปี 2018
Credit : Carnegie Inst. for Science / Roberto Molar Candanosa
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)