ความเชื่อตามสำนวนที่ว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ เห็นทีต้องสั่นคลอน เมื่อล่าสุด มีงานวิจัยชี้ชัดออกมาแล้วว่า การลงโทษด้วย ‘การตี’ ไม่ใช่เรื่องที่ดีและนำมาสู่พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กได้ 

เป็นเวลาหลายสิบปีที่พ่อแม่ถกเถียงกันถึงวิธีการลงโทษทางวินัยสำหรับเด็กที่ประพฤติตัวไม่ดี ผู้ที่สนับสนุนการตีเชื่อว่า บุตรหลานของตนจะไม่ได้รับผลกระทบในทางลบ ฝ่ายตรงข้ามรวมถึงองค์กรด้านเด็กและจิตวิทยากล่าวว่า การใช้วิธีฝึกวินัยที่ไม่รุนแรงนั้นเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีกว่า ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การตบตีมีแนวโน้มที่จะทำให้ปัญหาพฤติกรรมของเด็กแย่ลง รวมถึงการวิจัยชิ้นล่าสุดด้วยที่บ่งบอกว่า การตี ไม่ได้ให้ผลที่ดี ตามความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมา

งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารกุมารเวชศาสตร์ (Journal of Pediatrics) และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าวิธีลงโทษอย่าง ‘การตี’ และ ‘การมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse childhood experiences: ACE)’ ส่งผลกระทบต่อปัญหาพฤติกรรมการแสดงออกที่ก้าวร้าวขาดการควบคุม (EB) ในเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี

การมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำร้ายทางร่างกายอย่างการตี แต่ยังครอบคลุมถึงจิตใจด้วย การเพิกเฉยละเลย การใช้ความรุนแรงในคู่รัก (IPV) ปัญหาสุขภาพจิตของพ่อแม่ การใช้สารเสพติดของพ่อแม่ กรณีพ่อแม่ต้องโทษจำคุก และกรณีพ่อแม่เสียชีวิต ก็ล้วนส่งผลต่อเด็กด้วยเช่นกัน

จากผลการศึกษาครอบครัวจำนวน 2,380 ครอบครัว ในเรื่องความเปราะบางของครอบครัวและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก (Fragile Families and Child Wellbeing Study) ผ่านการรายงานปัญหาโดยกลุ่มคุณแม่ ในเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าวและพฤติกรรมเก็บกดในเด็กอายุ 5 ปี การมีประสบการณ์เลวร้ายและการถูกตีในเด็กอายุ 3 ปี พบว่าเด็กอายุ 3 ปี ที่มีประสบการณ์เลวร้ายและถูกลงโทษด้วยการตี สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาพฤติกรรมการแสดงออกที่ก้าวร้าวขาดการควบคุมเพิ่มขึ้นเมื่ออายุ 5 ปี ผลการศึกษานี้จึงสนับสนุนว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นหนึ่งในการสร้างประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก

“ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าการตีและการมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมีแนวโน้มส่งผลกระทบเชิงลบที่เป็นอันตรายในลักษณะเดียวกัน” จูเลีย มา ผู้เขียนหลักของงานวิจัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมสงเคราะห์ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว

อ้างอิง

Xinhuathai

News.umich.edu

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส