จุลินทรีย์ที่พบได้ในกระเพาะอาหารของวัวสามารถย่อยสลายพลาสติกบางประเภทได้ รวมถึง Polyethylene terephthalate (PET) ซึ่งใช้ในขวดน้ำโซดา บรรจุภัณฑ์อาหาร และผ้าใยสังเคราะห์

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบจุลินทรีย์ในของเหลวที่มาจากกระเพาะรูเมน ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในกระเพาะอาหารของวัว มีความจุประมาณ 80% ของกระเพาะทั้งหมด มีหน้าที่พักและหมักอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น หญ้า และฟางข้าว เป็นต้น

จุลินทรีย์ประเภทนี้นอกจากจะพบได้ในวัวแล้ว ยังพบได้ในสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ แกะ ซึ่งพึ่งพาจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยพืชที่เป็นอาหารหลักของสัตว์ประเภทนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) เผยว่า พวกเขาสงสัยว่า จุลินทรัย์ในกระเพาะรูเมนมีความสามารถในการย่อยสลายโพลีเอสเตอร์ (Polyester) เพราะวัวสามารถย่อยโพลีเอสเตอร์ที่ชื่อ ‘Cutin’ ซึ่งถูกสร้างตามกระบวนการธรรมชาติโดยพืช

จุลินทรีย์และแบคทีเรียที่พบในกระเพาะอาหารของวัวนั้นสามารถสร้างเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายและแยกพันธะเคมีของ Cutin ได้

การศึกษาของทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวันที่ 2 กรกฎาคมพบว่า จุลินทรีย์ที่ค้นพบในกระเพาะของวัวไม่เพียงสามารถย่อยสลาย PET ได้ แต่ยังสามารถย่อยสลายพลาสติกอีก 2 ชนิด ได้แก่ พอลิบิวทิลีนอะดิเพท-โค-เทเรฟทาเลท (polybutylene adipate terephathalate: PBAT) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพที่ใช้ทำถุงพลาสติก และพอลิเอทิลีนฟูราโนเอต (polyethylene furanoate: PEF) ซึ่งใช้ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากพืช

นักวิจัยพบว่า จุลินทรีย์ที่อยู่ในอาณาจักรแบคทีเรีย จากจีนัสซูโดโมนาส (Pseudomonas) มีความสามารถในการย่อยพลาสติกได้ดีที่สุด ตามมาด้วยจีนัสอะซิเนโตแบคเตอร์ (Acinetobacter) และอีกหลายจีนัสที่ค้นพบก็มีความสามารถในการย่อยสลายโพลิเอสเตอร์ได้เช่นกัน

ไม่เพียงแค่นั้นทีมนักวิจัยยังพยายามระบุเอนไซม์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายพลาสติกประเภท PET, PBAT และ PEF เพื่อนำมาใช้ย่อยสลายพลาสติกจำนวนมากที่ผลิตออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน

จนถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเอนไซม์หลายชนิดที่มีความสามารถในการย่อยสลาย PET, PBAT และ PEF แต่เอนไซม์ที่ใช้ย่อยพลาสติกประเภทอื่น เช่น พอลิเอทิลีน (Polyethylene) และ พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) ซึ่งมีพันธะที่แข็งแรงกว่ายังพบไม่มากนัก การค้นหาเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายพลาสติกประเภทดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายต่อไปของทีมวิจัยนี้

อ้างอิง: LiveScience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส