นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประสบความสำเร็จในการสร้างวัสดุแบบใหม่ชื่อ 2DPA-1 ด้วยกระบวนการ Polymerization โดยวัสดุดังกล่าวมีความเบาพอ ๆ กับพลาสติก แต่แข็งแรงเหมือนเหล็ก ที่สำคัญคือวัสดุนี้สามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม เหมาะสำหรับการผลิตสินค้าออกสู่ตลาด

2DPA-1 เป็นโพลิเมอร์ชนิดแรกที่ทำทำปฏิกิริยาโพลิเมอร์แบบ 2 มิติ เป็นโครงสร้างแบบระนาบ แตกต่างจากโพลิเมอร์ทั่วไปที่โครงสร้างเป็นแบบเส้น (นึกภาพเส้นสปาเก็ตตี้ที่เป็นเส้น[1 มิติ] เทียบกับลาซานญ่าที่เป็นแผ่น [2 มิติ])

วัสดุชนิดใหม่นี้มีความสามารถในการรองรับแรงที่ทำให้เสียรูปร่างได้มากกว่ากระจกกันกระสุนถึง 6 เท่า และมี Yield Strength หรือแรงที่ทำให้วัสดุเสียรูปร่างแบบไม่สามารถคืนกลับมาเป็นรูปร่างเดิมได้มากกว่าเหล็กถึง 12 เท่าเมื่อมีความหนาแน่นเท่ากัน

แม้การค้นพบยังอยู่ในขั้นต้น แต่ 2DPA-1 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในโลกของเราได้ เนื่องจากวัสดุดังกล่าวมีความแข็งแรง น้ำหนักเบา และสามารถกันน้ำได้จึงอาจถูกนำไปใช้ในการผลิตตัวเครื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แล็บท็อป หรือสมาร์ตโฟน ให้มีความบางเบาแต่แข็งแรงมากขึ้นได้

นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่วัสดุชนิดนี้อาจสามารถนำมาใช้แทนโลหะในการสร้างสะพานและโครงสร้างต่าง ๆ ที่ต้องการ Tensile Strength หรือความทนต่อแรงดึงที่สูง เป็นต้น

อ้างอิง: TechRadar

ภาพหน้าปก: Christine Daniloff, MIT

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส